เยียวยาย้อนหลัง… แพ้วัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่ 5 เมษายน 2564

นพ.จเด็จ ธรรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ (ฉบับที่ 5) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเบื้องต้นได้จัดสรรงบประมาณไว้ 100.32 ล้านบาท สำหรับจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่ วันที่ 5 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป

นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากข้อมูลของ สปสช.ในขณะนี้ พบว่าผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์จากวัคซีนโควิด-19 ส่วนใหญ่เป็นการไข้เล็กน้อย หรือปวดเนื้อเมื่อยตัว ส่วนที่รุนแรงที่สุดคือมีอาการชาบริเวณขา ฉะนั้นคำว่าอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงจึงไม่ได้หมายถึงมีความน่ากลัวแบบเลือดตกยางออก แต่การไข้สูงจนต้องนอนโรงพยาบาลก็ถือว่ารุนแรงแล้ว

นพ.จเด็จ กล่าวว่า หลังจากเริ่มระดมฉีดวัคซีนไปแล้วระยะหนึ่ง ขณะนี้มี 2 เขตที่เสนอข้อมูลการขอรับเงินช่วยเหลือกรณีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน คือ สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ จำนวน 218 ราย และ สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี อีกจำนวน 49 ราย ส่วนเขตอื่นๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ในส่วนของ สปสช.เขต 1 ซึ่งมีผู้ยื่นขอเยียวยา 218 รายนั้น ตัวเลขถือว่าไม่ได้เยอะเลยเมื่อเทียบกับจำนวนที่ฉีดไปแล้วทั้งหมด 91,551 เข็ม คิดเป็น 0.24% ซึ่งถือว่าน้อยมาก และกลุ่มที่มีอาการรุนแรงก็มีแค่ 0.05% เท่านั้น

นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า การที่ สปสช.กำหนดวิธีการเยียวยาขึ้นมาก็เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าหากมีอาการไม่พึงประสงค์ก็จะได้รับการดูแล ดังนั้นก็อยากจะฝากถึงประชาชนว่าให้รีบมาฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด ช่วยมากันเยอะๆ เมื่อมีภูมิคุ้มกันหมู่แล้วก็จะหยุดการระบาดของโรค เราจะได้กลับมาใช้ชีวิตกันตามปกติ เศรษฐกิจก็จะได้ดีขึ้น

ด้าน พญ.สุชาดา เจียมศิริ รองผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า อาการไม่พึงประสงค์รุนแรงหลังฉีดวัคซีนหรือแพ้วัคซีน จะมีเช่น หอบหืด ผื่นขึ้น หน้าบวม เป็นผื่นเฉพาะที่ หมดสติ ช็อค อาการเหล่านี้สามารถรักษาได้และไม่มีผลในระยะยาว และโอกาสที่จะเกิดการแพ้รุนแรงมีน้อยมาก ส่วนกรณีของวัคซีนโควิดขณะนี้ฉีดเข็มแรกไป 1.46 ล้านโดสแล้ว ไม่มีใครที่มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ส่วนคนที่แพ้ก็อาการดีขึ้นหมดแล้ว

ที่มา : https://www.thecoverage.info/news/content/1548

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค