คสช.เห็นชอบไทยร่วมถกองค์การค้าโลก จัดหายา-เวชภัณฑ์-วัคซีน ในวิกฤตโควิด-19
เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) หรือบอร์ด คสช. เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมบอร์ด คสช. ว่าบอร์ด คสช.ได้มีมติเห็นชอบข้อเสนอท่าทีของประเทศไทยต่อการยกเว้น (Waiver) การปฏิบัติตามพันธกรณีบางข้อภายใต้ความตกลงทริปส์ในสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ตามที่คณะกรรมการสนับสนุนการศึกษาและติดตามการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและนโยบายสุขภาพ (NCITHS) เสนอ พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ประสานกับกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เพื่อนำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปประกอบการเจรจาในการประชุมขององค์การการค้าโลก (WTO) ต่อไป
นายสาธิตกล่าวว่า สำหรับข้อเสนอเพื่อการเข้าถึงยาเวชภัณฑ์ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และวัคซีน ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 เป็นข้อเสนอที่ NCITHS ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดหนึ่งที่ คสช.แต่งตั้ง ได้กลั่นกรองมาจากการประชุมหารือและรับฟังความเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ออกมาเป็น 3 แนวทาง ได้แก่
1.ข้อเสนอจากอินเดีย แอฟริกาใต้ และประเทศพันธมิตรต่อ WTO TRIPS Council ขอยกเว้นการบังคับใช้ความตกลงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาบางมาตราออกไปอย่างน้อยเป็นเวลา 3 ปี หรือที่เรียกว่า TRIPS Waiver
2.ข้อเสนอให้มีข้อริเริ่มเรื่องการค้าและสุขภาพ (Trade and Health Initiative) ต่อ WTO General Council ซึ่งเน้นการส่งเสริมการเข้าถึงสินค้าจำเป็นทางการแพทย์และความเข้มแข็งของระบบห่วงโซ่อุปทานโลกของสินค้าเหล่านี้
3.ข้อเสนอ Third Way โดยองค์การการค้าโลกเป็น “ตัวกลาง” ในการสื่อสารกับผู้แทนอุตสาหกรรมยา รวมถึงบริษัทพัฒนาและบริษัทผู้ผลิตวัคซีน เพื่ออำนวยความสะดวกในการหารือและจับคู่ความร่วมมือทางธุรกิจ
นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธาน NCITHS กล่าวว่า จากการระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อ ได้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและระบบเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงระบบสุขภาพที่ไม่อาจรองรับได้ ทำให้หลายประเทศและภาคส่วนมีการเคลื่อนไหวเพื่อหามาตรการในการเพิ่มอุปทาน การเข้าถึงการรักษา เวชภัณฑ์ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งวัคซีนที่มีประสิทธิผลอย่างเท่าเทียม จึงเป็นที่มาให้หลายประเทศสมาชิกขององค์การค้าโลกได้จัดทำข้อเสนอออกมาเป็น 3 แนวทางดังกล่าว ซึ่งจะถูกหารือในการประชุมองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 ในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.นี้
ทั้งนี้ NCITHS ได้มีข้อเสนอแนะหลักการในการเจรจา คือ
1.พิจารณาผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง โดยคำนึงถึงยุทธศาสตร์และนโยบายของประเทศ ทั้งผลกระทบด้านบวกและด้านลบที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
2.ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องเลือกข้อเสนอใดข้อเสนอหนึ่ง แต่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอต่างๆ แบบคู่ขนาน และพิจารณาความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ
3.มีข้อมูลและท่าทีประกอบการเจรจาที่ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ที่จำเป็น เพื่อการเตรียมพร้อมสำหรับการรับมือกับทุกสถานการณ์
4.กำหนดท่าทีของประเทศเป็น 2 ท่าที คือ ท่าทีสำหรับการเจรจาในเวทีพหุภาคีภายใต้ WTO และท่าทีสำหรับการเจรจาในประเทศหรือการเจรจากับผู้ผลิตและเจ้าของเทคโนโลยี
5.การหารือและเจรจาบนพื้นฐานของความเชื่อใจซึ่งกันและกัน และปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยตระหนักถึงการรักษาชีวิตและสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ
นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการ คสช. กล่าวว่า ที่ประชุม คสช.ยังได้เห็นชอบและมอบหมายให้ สช. ดำเนินการในเรื่องการพัฒนานโยบายสาธารณะสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มที่มีความจำเพาะด้านสุขภาพ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 6 พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ที่ได้บัญญัติสิทธิด้านสุขภาพของประชากรที่มีความจำเพาะด้านสุขภาพ ต้องได้รับการสร้างเสริมและคุ้มครองอย่างสอดคล้องเหมาะสม และได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะสิทธิด้านสุขภาพ จำนวน 2 คณะ ได้แก่ 1.คณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะด้านสุขภาพกลุ่มประชากรแรงงานข้ามชาติ โดยมี นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ เป็นประธาน 2.คณะกรรมการพัฒนานโยบายสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ โดยมี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ เป็นประธาน
“นอกจากนี้ ที่ประชุม คสช.ยังได้รับทราบผลการสรรหากรรมการสุขภาพแห่งชาติทดแทนตำแหน่งที่ว่างของผู้แทนนายกเทศมนตรีและนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (นายก อบต.) ได้แก่ 1.นายปภัสร์ ภู่เจริญ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองลำพูน และ 2.นายอุดม กึกก้อง นายก อบต.วังไชย” นพ.ประทีปกล่าว
ที่มา : https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2825663