วันนี้ (24 สิงหาคม 2564) สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ในฐานะที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภค ได้ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้แก่ หน่วยงานประจำจังหวัด 11 จังหวัด และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคใน 7 ภูมิภาค จัดแถลงข่าวเผยผลสำรวจ ‘การเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร’ โดยสุ่มเก็บตัวอย่างจำนวน 527 ตัวอย่าง ตั้งแต่วันที่ 1 – 12 สิงหาคม 2564 จากการเก็บข้อมูลมาจากการสำรวจผู้บริโภคที่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร จำนวน 2,074 คน ครอบคลุม 37 จังหวัด และร้านค้า 879 แห่ง ในพื้นที่ 37 จังหวัด
.
จากการสำรวจและเฝ้าระวังสถานการณ์ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรในช่วงสถานการณ์โรคระบาดของโควิดอย่างรุนแรง พบว่า ผู้บริโภคยังคงเผชิญกับปัญหาราคาผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่แพงเกินควร สินค้าปลอม สินค้าไม่แสดงฉลาก ฉลากไม่ครบถ้วน มีการกักตุนสินค้า ปัญหาโฆษณาเกินจริง และสินค้าขาดตลาด ทำให้ต้องมีการจำกัดปริมาณการซื้อ อีกทั้ง จากการสำรวจราคาเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรแบบแคปซูล 500 มิลลิกรัม (ที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) จำนวน 101 ตัวอย่าง พบว่า มีราคาเฉลี่ย 2.57 บาทต่อแคปซูล ซึ่งมีราคาสูงกว่าราคากลางตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง กำหนดกลางยาแผนไทย พ.ศ. 2558 ที่กำหนดให้ขายเพียงแคปซูลละ 0.94 บาท (ราคาไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
.
ในส่วนของผลสำรวจผู้บริโภคที่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร พบว่า ผู้ขายมีการปรับราคาจำหน่ายเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ เฉลี่ยร้อยละ 48.46 จากราคาเดิมที่ผู้บริโภคเคยซื้อเมื่อหนึ่งเดือนก่อน เช่น เดิมเคยซื้อที่ราคากระปุกละ 120 บาท (60 แคปซูล) แต่ในเดือนสิงหาคม 2564 กลับซื้อได้ในราคา 160 บาท เพิ่มขึ้น 40 บาท เป็นต้น นอกจากนี้ จากผลสำรวจฯ ดังกล่าว พบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ร้อยละ 93.8 มีความเห็นว่าราคาขายของผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรโดยเฉลี่ยที่ประชาชนซื้อได้ไม่ควรเกินแคปซูลละ 1.12 บาท (ราคาที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
– – – – – – – – – – – – – – – – – – –
แต่ละพื้นที่พบปัญหาอะไรบ้าง ?
– – – – – – – – – – – – – – – – – – –
ภาคใต้มีการสำรวจใน 6 จังหวัด จากร้านค้าทั้งหมด 134 ร้าน และเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ทั้งหมด 59 ตัวอย่าง พบ ผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีในสารบบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 5 ตัวอย่าง และพบผลิตภัณฑ์ที่สวมทะเบียนอาหาร ที่ อย. แถลงข่าวก่อนหน้า จำนวน 1 ตัวอย่างในจังหวัดสตูล ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ ตรา อินทารา รวมทั้งพบผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรที่ยังไม่ได้รับทะเบียนยาถูกต้อง จำนวน 1 ตัวอย่าง ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ตรา prajaub heabs และยังพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีเลขทะเบียนยา จำนวน 9 ตัวอย่าง ซึ่งผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่มาจากการผลิตโดยวิสาหกิจชุมชน การผลิตใช้เองในชุมชน การแบ่งบรรจุ และการจำหน่ายในร้านยาแผนโบราณ
.
นอกจากนี้ ยังพบข้อจำกัดในการเข้าถึงข้อมูลทะเบียนยาของ อย. บางผลิตภัณฑ์ คือ ไม่มีการแยกบัญชีว่าเป็นสินค้าประเภทยาหรือสมุนไพร ตัวอย่างเช่น การนำเลขทะเบียนของยาฟ้าทะลายโจรแคปซูล ตราม่ามี้ (G122/44) ไปค้นหาข้อมูลในฐานระบบของ อย. แต่ไม่ปรากฏตราหรือยี่ห้อของผู้ผลิต อาจทำให้เกิดความสับสันและทำให้ผู้บริโภคไม่มั่นใจในสินค้าที่จะบริโภคได้
.
ส่วนในภาคเหนือ พบ ร้านขายยายังคงเป็นแหล่งที่ยังมีการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรมากถึงร้อยละ 82.8 รองลงมา คือ ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้าชุมชน อื่น ๆ (ร้านค้าแผงลอย ร้านถ่ายเอกสาร สถานพยาบาล และผลิตเอง) และร้านค้าทั่วไป อีกทั้งยังพบว่าผู้ขายยังมีการกักตุนสินค้าหลายพื้นที่ ซึ่งเมื่อผู้บริโภคต้องการซื้อและสอบถามหาสินค้า ผู้ขายกลับแจ้งว่าสินค้าหมด ทั้งที่หลังจากผ่านไม่กี่วันก็มีสินค้าแต่ขายในราคาที่สูงขึ้น คือ เดิมขาย 80 บาท เป็นราคา 140 บาท
.
ขณะที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ และร้อยเอ็ด พบว่า มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรในราคาที่สูง เกินราคา และมีการค้ากำไรเกินควรในหลายพื้นที่ เช่น ในจังหวัดสุรินทร์มีการขายฟ้าทะลายโจรแคปซูลราคาสูงสุด ที่จำหน่ายถึงแผงละ 100 บาท (1 แผงมี 10 เม็ด) ซึ่งเฉลี่ยเท่ากับเม็ดละ 10.00 บาท
.
ส่วนภาคตะวันออก มีการสำรวจใน 5 จังหวัด พบ ราคาที่แพงเกินควร คิดเป็นร้อยละ 35.41 ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่ซื้อผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรมาจากร้านขายยาโดยตรง รองลงมา คือ ปัญหาการกักตุนสินค้า คิดเป็นร้อยละ 17.88
.
ขณะที่การสำรวจในภาคกลาง พบ หลายพื้นที่มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่โฆษณารักษาโควิดอีกหลายชนิดนอกเหนือจากฟ้าทะลายโจร โดยการแจกจ่ายผลิตภัณฑ์ไปตามโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย วัด รวมทั้งเสนอขายให้หน่วยงานท้องถิ่นซื้อไปใช้กับผู้ป่วยที่กักตัวอยู่ที่บ้าน และศูนย์พักคอยในชุมชน ซึ่งมีทั้งยาจีน ยาแผนโบราณ และยาแผนปัจจุบัน
.
อย่างไรก็ตาม เขตพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่า ฟ้าทะลายโจรจะมีจำหน่ายในร้านขายของแฟชั่น ย่านสำเพ็ง หรือร้านขายสินค้าในตลาดนัด มากกว่าที่พบในร้านขายยาทั่วไป และมีปัญหาอื่นอีก คือ ฉลากส่วนใหญ่ที่พบมักไม่มีการแสดงข้อมูลสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ต่อเม็ด รวมถึงปัญหาการขาดตลาดในพื้นที่กรุงเทพฯ เนื่องจากความต้องการที่มากขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุให้ผู้ขายใช้วิธีการกักตุนเพื่อปรับราคา ในอนาคตผู้บริโภคในกรุงเทพฯ จะพบกับสินค้าหรือฉลากปลอมเพิ่มมากขึ้น เพราะไม่สามารถจัดหาได้แบบปกติ และอาจจะมีการนำเข้าฟ้าทะลายโจรจากต่างประเทศมาจำหน่ายมากขึ้นในตลาดค้าส่งสินค้าแฟชั่นอีกด้วย
.
ในส่วนของผลสำรวจผู้บริโภคที่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร จำนวน 2,074 คน ที่ครอบคลุมกลุ่มผู้ใช้ใน 37 จังหวัด เกี่ยวกับประสบการณ์ในการใช้ผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีอายุมากกว่า 50 ปี และมีรายได้ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 15,000 บาทต่อเดือน ขณะที่วัตถุประสงค์หลักที่ผู้บริโภคเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร คือ ร้อยละ 48.9 ใช้เพื่อการรักษาโรค (เมื่อมีอาการไข้ ไอ ตัวร้อน ท้องเสีย และเจ็บคอ) ต่อมาร้อยละ 44.1 ใช้เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน และรองลงมา ร้อยละ 6.2 ใช้ทั้งการรักษาและเสริมภูมิคุ้มกัน สุดท้าย ร้อยละ 0.6 ใช้ป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด ทั้งนี้ ผลจากการสำรวจจะเห็นได้ว่าผู้บริโภคบางส่วนมีความเข้าใจผิดว่าผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรสามารถป้องกันหรือเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายในการต้านเชื้อไวรัสโควิดได้
.
ขณะที่ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ในปัจจุบันฟ้าทะลายโจรถูกบรรจุอยู่ในแนวทางในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด – 19 ฉบับปรับปรุง วันที่ 4 สิงหาคม 2564 ของกรมควบคุมโรค รวมทั้งยังมีการศึกษาวิจัยที่มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยให้ใช้ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยเท่านั้น แต่ปัญหาเรื่องคุณภาพของฟ้าทะลายโจรยังมีให้เห็นในปัจจุบัน ทั้งเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกกฎหมาย ผลิตภัณฑ์ที่ด้อยคุณภาพ รวมทั้งการที่ผู้บริโภคพยายามหาซื้อฟ้าทะลายโจรให้ได้ตามแนวทางที่ต้องใช้ในการรักษาก็เป็นไปได้ยาก เพราะเบางผลิตภัณฑ์ไม่มีข้อมูลสารแอนโดรกราโฟไลด์ระบุบนฉลาก หรือบางทีอาจระบุไว้แต่ไม่สามารถคำนวนปริมาณสารสำคัญได้ หรืออาจจะไม่มีปริมาณสารสำคัญหรือปริมาณยาตามที่ระบุในฉลาก อีกทั้งปริมาณสารสำคัญหรือปริมาณยาในแต่ละเม็ดยาก็ไม่ได้มีปริมาณที่เท่ากัน
.
หากกำหนดให้ฟ้าทะลายโจรเป็นคำตอบหนึ่งในแนวทางการรักษาฯ ดังกล่าว ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือกระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องดูแลและจัดการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว
|
ทั้งนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ขอให้รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์และพาณิชย์จังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบร้านค้า รวมถึงสำรวจสินค้าอื่น ๆ เป็นประจำ นอกจากฟ้าทะลายโจรที่มีการค้ากำไรเกินควร และจัดการกับร้านค้าที่ขายฟ้าทะลายโจรเกินราคา และขอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ดำเนินการควบคุมกำกับราคาผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค รวมทั้งขอให้ อย. ดำเนินคดีกับผู้ที่จำหน่ายยาฟ้าทะลายโจรโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือแอบอ้างเลขทะเบียนผลิตภัณฑ์อื่น และเร่งปรับปรุงระบบฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์ให้มีการแสดงข้อมูลบัญชีที่ถูกต้องและแยกประเภทอย่างครบถ้วน เพื่อประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการตรวจสอบข้อมูลก่อนที่จะซื้อผลิตภัณฑ์
.
อย่างไรก็ตาม รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรปรับรูปแบบการสื่อสาร หรือจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้มีประสิทธิภาพในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเป้าหมายการใช้ผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรให้แก่ประชาชน เนื่องจากยังมีประชาชนบางส่วนที่เข้าใจว่าฟ้าทะลายโจรสามารถเสริมภูมิคุ้มกันและป้องกันเชื้อไวรัสโควิด ซึ่งจากบทความบนเว็บไซต์ของคณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยามหิดล กล่าวถึงสรรพคุณของฟ้าทะลายโจรว่ามีสรรพคุณทางการแพทย์แผนไทย เพียงเพื่อใช้บรรเทาอาการไข้หวัด แก้ไอและเจ็บคอเท่านั้น อีกทั้งไม่ควรใช้ฟ้าทะลายโจรติดต่อกันเกิน 3 วัน เนื่องจากอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้