ปคบ. ผนึกกำลัง อย. บุกจับกุม ผู้ผลิตและผู้ขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร FLASH SLIM ผสมวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและระบบประสาท (ไซบูทรามีน)
วันนี้ (1 กันยายน 2564) กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) นำทีมโดย พล.ต.ต. ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย (ผบก.ปคบ.) พ.ต.อ. สำเริง อำพรรทอง, พ.ต.อ. ศารุติ แขวงโสภา, พ.ต.อ. ศรีศักดิ์ คัมภีรญาณ, พ.ต.อ. ชนันนัทธ์ สารถวัลย์แพศย์ รอง ผบก.ปคบ. และ พ.ต.อ. เนติ วงษ์กุหลาบ ผกก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นพ. ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ ภญ. สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงผลการปฏิบัติการ กรณีจับกุมผู้กระทำความผิดลักลอบผลิต ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อ FLASH SLIM ผสมไซบูทรามีนซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ตรวจยึดได้ของกลางเป็นจำนวนมาก
ปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นการขยายผลจับกุมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารลักลอบใส่วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและยาแผนปัจจุบัน สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก. ปคบ.) ได้ตรวจสอบพบการโฆษณาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อ FLASH SLIM บรรยายสรรพคุณใช้ลดน้ำหนัก อ้างสูตรหมอเกาหลี เมื่อตรวจสอบฉลากของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพบว่า ฉลากแสดงเป็นภาษาต่างประเทศทั้งหมด ไม่ระบุเลขสารบบอาหาร, สถานที่ผลิตหรือนำเข้า, ส่วนประกอบ, วัน เดือน ปี ที่ผลิตหรือ
ควรบริโภคก่อน เป็นต้น ซึ่งไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และอาจเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้าโดยผิดกฎหมาย ในวันที่ 9 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้นำหมายค้นของศาลจังหวัดสุพรรณบุรี เข้าตรวจค้นสถานที่จัดเก็บและจำหน่ายสินค้า ตั้งอยู่ที่ ม. 13 ต. ทุ่งคอก อ. สองพี่น้อง จ. สุพรรณบุรี โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจยึดแคปซูลเปล่าน้ำหนักรวม 110 กก., ผงสำหรับใส่ในแคปซูลน้ำหนักรวม 45 กก. นำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย
ภายหลังการตรวจยึดดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจยังตรวจพบการโฆษณาขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อ FLASH SLIM ทางสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าเจ้าของผลิตภัณฑ์ไม่ได้หยุดการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับผลการตรวจพิสูจน์ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อ FLASH SLIM ที่ยึดไปในครั้งก่อน ระบุพบไซบูทรามีน (Sibutramine) ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1, ลอร์คาเซริน (Lorcaserin) ซึ่งเป็นวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2,
ฟลูออกซิทิน (Fluoxetine) ซึ่งเป็นยาจำพวกสงบประสาท จัดเป็นยาแผนปัจจุบันประเภทยาอันตราย เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ขออนุมัติออกหมายจับผู้ต้องหาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ อย. ได้ทำการตรวจค้นเป้าหมายในพื้นที่ จ. สุพรรณบุรี และ จ. นนทบุรี รวม 2 จุด ได้ตรวจยึดของกลางที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดและจับกุมตัวผู้ต้องหาตามหมายจับศาลจังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ น.ส. สุภามณี (สงวนนามสกุล) อายุ 34 ปี นางโสภา (สงวนนามสกุล) อายุ 62 ปี และนายอัศรินทร์ (สงวนนามสกุล) อายุ 34 ปี โดยพบเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2559 และ พ.ร.บ. ยา พ.ศ. 2510 ในข้อหา “ร่วมกันผลิตเพื่อขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 (ไซบูทรามีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 (ไซบูทามีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันขายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 (ลอร์คาเซรีน) โดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันขายยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา”
จากการสอบสวนขยายผล พบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ยี่ห้อ FLASH SLIM ที่ผู้ต้องหาร่วมกันนำมาจำหน่ายมีการว่าจ้างบริษัทแห่งหนึ่งใน อ. ลาดหลุมแก้ว จ. ปทุมธานี ให้เป็นผู้บรรจุลงแคปซูล ต่อมาในวันที่ 31 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่ อย. ได้นำหมายค้นของศาลจังหวัดปทุมธานีเข้าตรวจค้นเป้าหมาย จำนวน 3 จุด พบว่า ที่บริษัทดังกล่าว และบ้านอีกหลังซึ่งดัดแปลงเป็นโรงงาน มีการลักลอบผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารโดยผิดกฎหมาย และบางผลิตภัณฑ์เมื่อมีการทดสอบด้วยชุดตรวจสอบเบื้องต้น พบว่า มีส่วนผสมของไซบูทรามีน เจ้าหน้าที่จึงได้ตรวจยึดของกลางทั้งหมดนำส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. เพื่อดำเนินคดีตามกฎมายต่อไป
พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผบก.ปคบ. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชน อย่าซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาสรรพคุณว่าลดความอ้วนมารับประทานเอง เนื่องจากอาจเกิดผลข้างเคียงได้ หากมีความจำเป็นต้องรับประทาน ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และแจ้งเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบกระทำความผิดผสมวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ไม่ว่าจะเป็นโรงงานรับจ้างผลิตหรือเจ้าของผลิตภัณฑ์ ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด และหากพี่น้องประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภค
ภญ. สุภัทรา บุญเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข รักษาราชการแทนรองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวในตอนท้ายว่า อย. ได้เฝ้าระวังผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกลุ่มที่อวดอ้างสรรพคุณลดน้ำหนักเป็นกรณีพิเศษ โดยร่วมกับตำรวจ บก. ปคบ. สืบสวนสอบสวน หาตัวผู้กระทำผิด จนมีการจับกุมดำเนินคดีผู้ผลิต ผู้จำหน่ายที่กระทำผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง และแจ้งข่าวเตือนประชาชนให้ทราบข้อมูลอยู่เสมอเพื่อมิให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง เช่น ทานแล้วลดน้ำหนักเห็นผลไว เห็นผลจริง ปลอดภัย การันตี ไม่มีผลข้างเคียง เป็นต้น ผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างใช้ลดน้ำหนักเหล่านี้มักพบว่า มีส่วนผสมของไซบูทรามีนหรือยาแผนปัจจุบัน ผลที่ได้อาจไม่คุ้มเสีย เพราะนอกจากจะเสียเงินแล้ว ยังเสียสุขภาพจากผลข้างเคียงของยา และอาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นก่อนตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ใด ขอให้ตรวจสอบข้อมูลการได้รับอนุญาตผลิตภัณฑ์โดยละเอียดที่หน้าเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ หรือ Oryor Smart Application และหากพบผลิตภัณฑ์ที่สงสัยว่าจะผิดกฎหมาย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรืออีเมลล์ 1556@fda.moph.go.th
ที่มา : Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ