บอร์ด สปสช.เดินหน้าพัฒนาบริการ ปชช. สอดคล้องสถานการณ์โควิด กระจายอำนาจมากขึ้น
วันที่ 11 ต.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 11/2564 ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้ร่วมกันรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ประจำปี 2564 พร้อมมอบข้อเสนอจากการรับฟังความคิดเห็นฯ ให้คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข และคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการ ทั้งนี้ การรับฟังความคิดเห็นฯ ประจำปี 2564 คณะทำงานได้มีการกลั่นกรองข้อเสนอออกมาเป็นจำนวน 58 ข้อ ครอบคลุมใน 8 ด้าน ได้แก่ 1.ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข 2.มาตรฐานบริการสาธารณสุข 3.ด้านบริหารจัดการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 4.ด้านหลักเกณฑ์และการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 5.การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่และค่าบริการ LTC 6.การมีส่วนร่วม 7.การรับรู้และคุ้มครองสิทธิ 8.ด้านอื่นๆ
นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความเห็นฯ เปิดเผยว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นฯ ปี 2564 ยังคงมีแนวทางการทำงานที่สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 ทั้งการจัดเวทีรับฟังปกติผสมผสานเวทีออนไลน์ ในการประชุมคณะทำงาน รับฟัง focus group กลุ่มเฉพาะ เช่น คนพิการ ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ พระสงฆ์ ทหารเกณฑ์ กลุ่มชาติพันธุ์ รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ เช่น แบบสอบถาม Google Form การใช้ Facebook Live ตลอดจนโปรแกรม Hearing online เป็นต้น
“ในปี 2564 มีผู้แสดงความคิดเห็นจำนวนกว่า 6,113 คน ได้ออกมาเป็นข้อเสนอรวม 2,344 ข้อ ซึ่งภายหลังคณะทำงานได้จัดกลุ่มและตัดความซ้ำซ้อนของข้อเสนอ รวมถึงคัดแยกประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องและประเด็นที่เคยเสนอเข้ามาแล้วออก ทำให้ปีนี้เราได้ข้อเสนอใหม่รวม 58 ข้อ ที่จะมอบให้อนุกรรมการที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป” นพ.เจษฎา กล่าว
ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ด สปสช. วันนี้ยังได้ร่วมเห็นชอบแผนพัฒนาแนวทางการรับฟังความเห็นทั่วไปฯ ตามมาตรา 18 (13) ประจำปี 2565 ที่จะมีการปรับปรุงกระบวนการการรับฟังความคิดเห็นฯ ในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับประเด็นการรับฟังฯ ให้กระชับเข้าใจง่าย เลือกเนื้อหาที่บูรณาการกับงานประจำ รับฟังได้ตลอดปี นอกจากนี้ ยังจะมีการขยายกลุ่มเป้าหมาย และเพิ่มช่องทางใหม่ๆ เช่น ClubHouse การโทรศัพท์กลับเพื่อสัมภาษณ์ เป็นต้น รวมถึงพัฒนาซอฟท์แวร์ในระบบ Hearing Online เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว เช่น Software Transcript สำหรับกลุ่มที่มีปัญหาด้านการพิมพ์ เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารข้อมูล สืบค้นสถานะของข้อเสนอได้ เป็นต้น
สำหรับข้อเสนอใหม่ในปี 2564 เช่น ให้ สปสช.เป็นหน่วยงานหลักในการจัดซื้อจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชน จัดสรรงบสนับสนุนผู้ดูแล หรืองบเฉพาะโรคแก่หน่วยปฐมภูมิในการออกเยี่ยมติดตามดูแลผู้ป่วย เพิ่มงบบริหารจัดการขยะในผู้ป่วยฟอกไตให้หน่วยบริการ พัฒนาระบบริการระดับปฐมภูมิให้ประชาชนเห็นความสำคัญด้านการป้องกันโรค ส่งเสริมเรื่องความรอบรู้ด้านสุขภาพ รักษาสุขภาพดี ไม่ป่วย NCD มีรางวัลหรือขวัญกำลังใจตอบแทน เป็นต้น
ขณะเดียวกัน ยังมีข้อเสนอถึงกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้พัฒนาศักยภาพบุคลากร จัดอบรมเพิ่มความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่อง แก้ปัญหาไม่มีบุคลากรวิชาชีพที่เพียงพอ จัดสวัสดิการป้องกันโรคระบาดให้บุคลากรทางแพทย์และสาธารณสุข หรือผู้ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเกิดโรคระบาด เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ผลักดันให้มีการขยายผลคลัสเตอร์ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้มีหมอเวชปฏิบัติครอบครัวทำงานประจำ 1 คน รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ งบประมาณที่เพียงพอ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้แยกการบริหารจัดการออกจากเขต กระจายอำนาจ ให้แต่ละเขตบริหารจัดการเอง เน้นให้มีภาคประชาชนมีส่วนร่วมที่มากขึ้น ปรับหลักเกณฑ์การใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพในประเด็นเกี่ยวกับการจัดซื้อสิ่งของให้เอื้อต่อการแก้ไขปัญหาภาวะสุขภาพของคนในพื้นที่ ปรับระยะเวลาการพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้เร็วขึ้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดการร้องเรียน รวมถึงทบทวนเพิ่มงบประมาณเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ควรเป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นต้น
ที่มา : มติชนออนไลน์ https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_2985851