ข้อเสนอ “รวมกองทุนสุขภาพ” อันประกอบด้วย ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ระบบประกันสังคม และระบบสวัสดิการข้าราชการ เพื่อนำไปสู่การสร้าง “ระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว” สำหรับคนไทย เป็นประเด็นที่มีการพูดถึงและมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างเข้มข้นมาไม่ต่ำกว่า 10 ปี
หมุดหมายสำคัญของเรื่องนี้ นอกจากการลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการของผู้ที่อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินไทยแล้ว ยังถือเป็นการ “เพิ่มอำนาจการต่อรอง” ให้กับรัฐบาล-กองทุนสุขภาพ ในการจัดซื้อ-จัดหาเวชภัณฑ์-ยา อีกด้วย
นั่นเพราะปัจจุบัน “กองทุนบัตรทอง” ดูแลประชาชนราว 47.5 ล้านคน ขณะที่กองทุนประกันสังคมดูแลผู้ประกันตนราวๆ 10 ล้านคน และสวัสดิการข้าราชการ ที่ครอบคลุมผู้ใช้สิทธิกว่า 6 ล้านคน
ที่ผ่านมา กองทุนบัตรทองที่บริหารจัดการโดย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการ “จัดซื้อยารวม” มาแล้ว เนื่องจากมีจำนวนผู้ใช้สิทธิมาก จึงต่อรองราคาได้มากกว่าการซื้อทีละน้อยๆ
หากมีการรวมกองทุนสำเร็จจริง ย่อมหมายถึงอำนาจการต่อรองที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่ง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 “มาตรา 10” เขียนเอาไว้ตอนหนึ่งว่า
“… การขยายบริการสาธารณสุขตาม พ.ร.บ. นี้ ไปยังผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการ (บอร์ด สปสช.) และคณะกรรมการประกันสังคม ตกลงกัน
“… เมื่อได้ตกลงกันเกี่ยวกับความพร้อมให้บริการสาธารณสุขกับคณะกรรมการประกันสังคมแล้ว ให้คณะกรรมการเสนอรัฐบาลเพื่อตราพระราชกฤษฎีกากำหนดระยะเวลาการเริ่มให้บริการสาธารณสุขจากหน่วยบริการตาม พ.ร.บ. นี้ แก่ผู้มีสิทธิดังกล่าว
“… ให้สำนักงานประกันสังคมส่งเงินค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนประกันสังคมให้แก่กองทุน (สปสช.) ตามจำนวนที่คณะกรรมการ และคณะกรรมการประกันสังคมตกลงกัน”
อธิบายโดยง่ายก็คือ “พ.ร.บ. บัตรทอง” ซึ่งเขียนขึ้นภายหลัง พ.ร.บ. ประกันสังคม ประมาณ 12 ปี ได้กำหนดเอาไว้ว่า ให้บอร์ดของ สปสช. และ บอร์ดของประกันสังคมคุยกัน เพื่อที่จะรวมกองทุนกันเฉพาะเรื่องการรักษาพยาบาล
ส่วนสวัสดิการสังคมอื่นๆ เช่น สงเคราะห์บุตร บำนาญชราภาพ ฯลฯ ให้เป็นเรื่องของประกันสังคม
อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ความพยายามในการรวมกองทุนยังคงไม่เป็นรูปเป็นร่าง
ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2564 “ราชกิจจานุเบกษา” ได้เผยแพร่ ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องเผยแพร่รายงานเหตุผลที่ไม่อาจดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 9 และมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ลงนามโดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช.
ประกาศดังกล่าว ระบุว่า ด้วยมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดให้มีการเผยแพร่รายงานต่อสาธารณชน กรณีที่ไม่อาจดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 9 และ 10 ได้
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้รายงานเหตุผลที่ไม่อาจตราพระราชกฤษฎีกา ตามมาตรา 9 และมาตรา 10 ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2564 โดยมีเหตุผลเนื่องจาก
(1) หน่วยงานผู้รับผิดชอบในการบริหารจัดการกองทุนซึ่งเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย เพื่อบริการสาธารณสุขทั้งสามหน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม ยังต้องพัฒนาระบบบริการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้มีความเหมาะสม ลดความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 ระบบให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม
(2) การตราพระราชกฤษฎีกาจะกระทบกับขอบเขตของสิทธิรับบริการสาธารณสุขของบุคลากรภาครัฐ รวมถึงผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมซึ่งมีอยู่เดิม จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลด้านต่างๆ ตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้เสียด้วย
(3) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อยู่ระหว่างการดำเนินงานปรับปรุงระบบฐานข้อมูลสิทธิรับบริการสาธารณสุขของประชาชนชาวไทยทุกสิทธิให้เป็นปัจจุบัน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเปลี่ยนสิทธิและการตรวจสอบสิทธิอย่างเป็นปัจจุบัน เพื่อให้สามารถขยายบริการสาธารณสุขไปยังกลุ่มบุคคลตามมาตรา 9 และมาตรา 10
(4) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ อยู่ระหว่างดำเนินการเสนอไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น กรมบัญชีกลาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือคณะกรรมการตามกฎหมายอื่น เพื่อพิจารณาดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกา
อย่างไรก็ดี หากเทียบเคียงกันแบบหมัดต่อหมัดแล้ว ทุกวันนี้ระบบบัตรทองซึ่งเป็นระบบรักษาฟรี (ประชาชนจ่ายค่ารักษาผ่านภาษี) กลับได้รับสิทธิประโยชน์ที่ดีและนำหน้าระบบประกันสังคม ที่ผู้ประกันตนต้องจ่ายสมทบทุกเดือน
ขณะที่ระบบสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งให้สิทธิการรักษาที่กว้างขวางที่สุด ปัจจุบันถูกนักวิชาการและภาคประชาสังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่า “ให้เกินพอดี” ซึ่งข้อมูลจากฐานข้อมูลสวัสดิการข้าราชการ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ปี 2561 ระบุว่า ดูแลคนเพียง 6 ล้านคน แต่ใช้เงินราว 7 หมื่นล้าน
ขณะที่บัตรทอง ดูแลสุขภาพคน 47.5 ล้านคน ใช้เงินแค่ 1 แสนล้านบาท เท่านั้น (ไม่รวมเงินเดือนบุคลากรภาครัฐ)
ที่มา: https://www.thecoverage.info/