สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอหน่วยงานกำกับดูแลมาตรฐานตามประเภท ‘หน้ากากอนามัย ชนิดใช้ครั้งเดียว’ หลังผลทดสอบ พบ เกินครึ่งตกเกณฑ์ มอก.


   
วันนี้ (30 พฤศจิกายน 2564) สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค (ANCA) ร่วมกันเรียกร้องให้มีการกำหนดให้ผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัยที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เป็นสินค้าควบคุมมาตรฐานอุตสาหกรรม (มอก.) ให้มีการติดตามตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ มีการควบคุมฉลาก และมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืน ทั้งนี้ เนื่องจากผลการทดสอบหน้ากากอนามัยในห้องปฏิบัติการ ที่นำมาจากการสุ่มตัวอย่างสินค้าที่วางขายตามร้านค้าทั่วไปจำนวน 60 ยี่ห้อ พบว่า 2 ใน 3 ของหน้ากากอนามัยที่สุ่มทดสอบหลายยี่ห้อไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มอก. ขณะที่มีหน้ากากที่ผ่านเกณฑ์แต่ไม่เป็นไปตามโฆษณามี 7 ยี่ห้อ
ทพ. อนุศักดิ์ คงมาลัย สมาชิกวุฒิสภาและรองประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ระบุว่า มีผู้บริโภคร้องเรียนไปยัง คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ในประเด็นข้อสงสัยด้านประสิทธิภาพหน้ากากอนามัยที่ประชาชนใช้เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด – 19 เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาจำนวนผู้ติดเชื้อเชื้อโควิด – 19 ในระลอกที่สามมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ประชาชนทั่วไปจะปฏิบัติตามมาตรการของรัฐอย่างครบถ้วน เช่น สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ด้านนอก ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ การเว้นระยะห่าง ทำงานที่บ้าน จึงมีข้อสังเกตว่า หน้ากากอนามัยที่ใช้กันทั่วไป อาจไม่มีประสิทธิที่ดีเพียงพอในการป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด – 19 จึงเสนอมายัง สอบ. เพื่อให้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานหน้ากากอนามัยที่วางจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด
ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านสินค้าและบริการ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวในการแถลงข่าวว่า การทดสอบครั้งนี้เริ่มจากการสุ่มซื้อตัวอย่างผลิตภัณฑ์หน้ากากอนามัย ชนิดใช้ครั้งเดียว ที่หาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไปในท้องตลาด โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ถึง 3 ตุลาคม 2564 อีกทั้งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่นำมาทดสอบทดสอบในครั้งนี้เป็นการเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 ถึง 30 กรกฎาคม 2564 รวมทั้งสิ้นจำนวน 60 ยี่ห้อ
แบ่งเป็น หน้ากากอนามัยระดับใช้งานทั่วไป จำนวน 14 ยี่ห้อ หน้ากากอนามัยระดับใช้งานด้านการแพทย์ทั่วไป (Medical Grade) และหน้ากากอนามัยระดับใช้งานด้านการแพทย์ด้านศัลยกรรม (Surgical Grade) จำนวน 27 ยี่ห้อ และ หน้ากากกลุ่มอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ มาตรฐาน N95 หรือ KN95 จำนวน 19 ยี่ห้อ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพการกรองอนุภาคขนาดเล็ก (Filter Efficiency) ขนาด 0.1 ไมครอน และอนุภาคขนาด 0.3 ไมครอน รวมถึงการทดสอบความสามารถในการซึมผ่านของอากาศ (Air Permeability) หรือการทดสอบด้านการหายใจ (Pressure Difference)
หลังจากนั้น ได้นำผลิตภัณฑ์เหล่านี้ส่งตรวจวิเคราะห์ว่าเป็นไปตามมาตรฐาน มอก. ที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มที่ 1 หน้ากากอนามัย ชนิดใช้ครั้งเดียวที่กำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน มอก. 2424 – 2562 ในความเป็นจริงนั้นสามารถแบ่งประเภทตามระดับการป้องกันได้ 3 ระดับ แต่หน้ากากอนามัยที่นำมาทดสอบในครั้งนี้นั้นสามารถแบ่งได้เพียง 2 ระดับเท่านั้น ได้แก่ ระดับใช้งานทั่วไป และ ระดับใช้งานด้านการแพทย์ทั่วไป (Medical Grade) รวมกับระดับใช้งานด้านการแพทย์ด้านศัลยกรรม (Surgical Grade) ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ หน้ากากที่ระบุว่าเป็นกลุ่มอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ ชนิดกรองอนุภาค ที่ระบุมาตรฐาน N95 หรือ KN95 ตาม มอก. 2480 – 2562
จากผลการทดสอบหน้ากากอนามัย ชนิดใช้ครั้งเดียว แบ่งประเภทตามมาตรฐาน มอก. 2424 – 2562 กลุ่มที่ 1 พบว่า ระดับใช้งานทั่วไป กำหนดให้หน้ากากอนามัย มีประสิทธิภาพการกรองอนุภาค ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ค่าผลต่างความดัน ไม่เกิน 4.0 mm H2O/cm2 พบว่า มี 3 ยี่ห้อที่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าว ส่วนอีก 11 ยี่ห้อ ไม่ผ่านเกณฑ์ (ดูรายละเอียดยี่ห้อและผลทดสอบได้ที่อินโฟกราฟิกที่ 1 ในโพสต์นี้)
ส่วนหน้ากากอนามัยระดับใช้งานด้านการแพทย์ทั่วไป (Medical Grade) และ ระดับใช้งานด้านการแพทย์ด้านศัลยกรรม (Surgical Grade) กำหนดให้หน้ากากอนามัยมีประสิทธิภาพการกรองอนุภาค ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 98 ค่าผลต่างความดันไม่เกิน 5.0 mm H2O/cm2 พบว่า มียี่ห้อที่ผ่านเกณฑ์จำนวน 3 ยี่ห้อ และยี่ห้อที่ไม่ผ่านเกณฑ์สำหรับหน้ากากอนามัยระดับใช้งานด้านการแพทย์ด้านศัลยกรรม มีจำนวน 24 ยี่ห้อ (ดูรายละเอียดยี่ห้อและผลทดสอบได้ที่อินโฟกราฟิกที่ 2 ในโพสต์นี้)
กลุ่มที่ 2 หน้ากากที่ระบุว่าเป็นกลุ่มอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ ชนิดกรองอนุภาค ที่ระบุมาตรฐาน N95 หรือ KN 95 ที่มีข้อกำหนดตามมาตรฐาน มอก. 2480 – 2562 กำหนดประสิทธิภาพการกรองอนุภาคไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ผลต่างความดันไม่เกิน 35 mmH2O พบว่า ยี่ห้อที่ผ่านเกณฑ์มีจำนวน 7 ยี่ห้อ และมียี่ห้อที่ผ่านเกณฑ์แต่ไม่เป็นไปตามที่โฆษณา จำนวน 5 ยี่ห้อ ส่วนยี่ห้อที่ไม่ผ่านเกณฑ์สำหรับหน้ากากที่อยู่ในกลุ่มอุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ มีจำนวนทั้งสิ้น 6 ยี่ห้อ (ดูรายละเอียดยี่ห้อและผลทดสอบได้ที่อินโฟกราฟิกที่ 3 ในโพสต์นี้)
ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวเสริมว่า ผลการทดสอบครั้งนี้จะช่วยทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่เพียงพอ และเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหน้ากากอนามัยได้อย่างถูกต้อง เพื่อหลีกเลี่ยงสินค้าที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ และ สอบ. ได้มีการจัดเวทีกับหน่วยงานและส่งต่อข้อมูลผลการทดสอบรายงานต่อหน่วยงานของรัฐเรียบร้อยแล้ว เพื่อทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายในการควบคุมกำกับการผลิตหรือการนำเข้าหน้ากากอนามัยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
สำหรับ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Medical mask หรือ Surgical mask) และหน้ากากอนามัยชนิด N95 หรือสูงกว่า ที่จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ทั่วไป มีมาตรฐานที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนดนั้น ผู้ผลิตและผู้นำเข้าต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งรวมถึงจะต้องมาขออนุญาตกับ อย. ในส่วนของสถานที่ผลิตและนำเข้าก่อนที่จะผลิตหรือจัดจำหน่าย และตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแสดงฉลากและเอกสารกำกับ
เครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2563 ระบุว่า หากเป็นหน้ากากอนามัยที่ผลิตหลังวันที่ 31 ตุลาคม2564 จะต้องระบุเลขที่ใบอนุญาต เลขที่ใบรับแจ้ง รายการละเอียด หรือเลขที่ใบรับจดแจ้ง และหน้ากากอนามัยที่นำเข้ามาในประเทศไทยจะต้องแสดงฉลากบนหน้ากากอนามัยด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลเช่นกันคือ หน้ากากอนามัยชนิดใช้ทั่วไปที่ประชาชนจำนวนมากใช้ มีการกำกับด้านราคาเพียงอย่างเดียวขณะที่มาตรฐานเป็นเพียงความสมัครใจ อีกทั้งจากการตรวจสอบข้อมูลของหน้ากากอนามัยที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด พบว่า ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องหมาย มอก. ระบุอยู่ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานรัฐ เช่น สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม อย. สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) จะต้องรีบเร่งหามาตรการการควบคุมคุณภาพหน้ากากอนามัย ให้เป็นไปตามมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้บริโภค ทั้งนี้ การดำเนินการเหล่านี้ เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของ สอบ. ที่ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนผู้บริโภค มีอำนาจคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน รวมทั้งเสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคต่อคณะรัฐมนตรีหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง
ข้อเสนอแนะที่เป็นมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ สอบ. จัดทำเพื่อเสนอต่อหน่วยงานของรัฐ มี 5 ข้อ ดังนี้
1) ให้สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) กำหนดให้ หน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวเป็นมาตรฐานบังคับ และมีบทกำหนดโทษในกรณีที่ ผู้ประกอบการทำการฝ่าฝืน ละเมิดสิทธิผู้บริโภค 2) ให้ อย. ดำเนินการเชิงรุกในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้า ให้ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ 3) ให้หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ในการจัดหาหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ สำหรับใช้ในโรงพยาบาลของรัฐ กำหนดมาตรฐานตาม มอก. 2424 – 2562 เป็นเงื่อนไขในการกำหนดคุณสมบัติของสินค้าในการจัดซื้อจัดจ้าง เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่ผลิตหรือนำเข้าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์แบบใช้ครั้งเดียว
4) ให้เจ้าของแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ มีมาตรการสนับสนุนการเสนอขายหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียว เฉพาะที่ได้รับเครื่องหมาย มอก. เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค เนื่องจากหน้ากากอนามัยเป็นสินค้าที่มีผลกระทบกับสุขภาพและสวัสดิภาพของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ และ 5) ให้ สคบ. ควบคุมฉลากบรรจุภัณฑ์ หน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียว ให้เป็นไปตามเกณฑ์ ข้อกำหนด เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ถูกต้องตามการแบ่งประเภทของชั้นคุณภาพ ซึ่งมีอยู่ 3 ระดับคุณภาพ
ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค