คลังเผย พบประชาชนเป็นเหยื่อถูกดูดเงินในบัญชีวันละ 800 คดี ร่วมถก“ธปท.-ดีอีเอส” หาแนวทางป้องกัน พร้อมแนะจุดสังเกตมิจฉาชีพอ้างเป็นกรมภาษี กดดันโอนเงินจ่ายค่าปรับ
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พบสถิติจำนวนบัญชีที่ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงอยู่ในคดี เฉลี่ยถึงวันละ 800 คดี กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ก็ได้หารือร่วมกันถึงแนวทางป้องกันมิจฉาชีพดูดเงินในบัญชีธนาคาร
โดยธปท.จะมีความเข้มงวดมากขึ้น ในระบบสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน การเปิดบัญชี และการตรวจสอบข้อมูลระหว่างการโอนเงินจากบัญชีหนึ่งไปอีกบัญชีหนึ่ง ส่วนสถาบันการเงินของรัฐ ได้สั่งการให้เข้มงวด และมีการประชาสัมพันธ์ให้มาก
“เรื่องนี้ไม่สามารถทำอะไรก่อนได้ เนื่องจากผู้เป็นเจ้าของบัญชีจะต้องมีความระวังให้มากที่สุด โดยอย่าหลงเชื่อข้อความใดๆ แม้กระทั่งโทรศัพท์ที่มีเบอร์แปลกโทรเข้ามา พยายามขู่เข็นให้ท่านต้องเร่งทำธุรกรรม “นายอาคมกล่าว
ส่วนผู้ที่โดนมิจฉาชีพหลอกลวง ขั้นตอนแรกจะต้องไปดำเนินการแจ้งความก่อน เพื่อดำเนินการให้มีหลักฐาน และประสานกับทางธนาคารเจ้าของบัญชี
นายอาคมกล่าวว่า กระทรวงการคลังเองก็โดนมิจฉาชีพใช้ชื่อแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐ ทั้งกรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร โดยมีวิธีการแอบอ้างแตกต่างกันออกไป เช่น
- กรมสรรพากร หากมีข้อความ หรือโทรศัพท์เข้ามา ก็มักจะอ้างว่า ได้รับเงินคืนภาษี การถูกเบี้ยปรับ การยื่นแบบชำระภาษี และการชำระเบี้ยปรับ เป็นต้น
- กรมศุลกากร ก็จะมีข้อความ หรือเบอร์โทรศัพท์ที่ถูกแอบอ้างจากมิจฉาชีพ อ้างว่ามีพัสดุจากต่างประเทศ อาจจะต้องไปรับของ หรือเสียเบี้ยปรับ หรือขอเอาของเข้ามาโดยไม่ต้องเสียภาษี จะจัดการให้ แต่ขอให้โอนเงินเข้ามาก่อน เป็นต้น
- กรมสรรพสามิต จะพบปัญหามิจฉาชีพแอบอ้างโดยใช้เว็บไซต์ปลอม แอบอ้างเป็นหน่วยงานของกรมสรรพสามิต
“ยืนยันว่าทุกกรมภาษี ไม่มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่โทรหาประชาชน และผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษี ฉะนั้น ประชาชนอย่าหลงเชื่อ และขอให้ตรวจสอบข้อมูลจากทางเบอร์ติดต่อของหน่วยงาน และขอความร่วมมือประชาชน อย่าหลงเชื่อ ขอให้ตรวจสอบจากทางเบอร์ติดต่อของกรมต่างๆ ก่อน”นายอาคมกล่าว