หลังการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ทุกฝ่ายให้ความสนใจกับเรื่องสุขภาพและระบบสาธารณสุขมากขึ้น ในการเลือกตั้ง 2566 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1
4 พ.ค.นี้ แต่ละพรรคการเมืองจึงให้ความสำคัญกับการหยิบนโยบายด้านสาธารณสุขมาใช้หาเสียงไม่น้อย “กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมจากพรรคต่างๆ
- เลือกตั้ง 2566 จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พ.ค.นี้ และและกำหนดวันเลือกตั้งล่วงหน้า วันที่ 7 พ.ค.และเปิดให้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าถึงวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา
- รวมนโยบายด้านสาธารณสุขที่ใช้หาเสียงในการเลือกตั้งนี้ จาก 6 พรรค ทั้งก้าวไกล ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ เพื่อไทย รวมไทยสร้างชาติ และอื่นๆ
- ประเมิน นโยบายหลายเรื่องของหลายพรรค บางเรื่องมีการดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน หรือบางเรื่องก็อยู่ในแผนงานที่ขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นโดยหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว
1.พรรคก้าวไกล อาทิ ของขวัญแรกเกิด 3,000 บาท ตรวจสุขภาพประจำปีและฉีดวัคซีนฟรี คลินิกเยาวชนดูแลสุขภาพจิต พ่อแม่ใช้สิทธิลาคลอด 180 วัน ระบบเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ยกระดับ รพ.สต. แจกผ้าอนามัยในโรงเรียนฟรี ศูนย์ดูแลผู้ป่วยประคับประคอง สิทธิในการตายดี กองทุนผู้ป่วยติดเตียง 9,000 บาทต่อคน กันห้องฉุกเฉินไว้สำหรับกรณีฉูกเฉินรับนัดตรวจผู้ป่วยที่อาการไม่ฉุกเฉินตามช่องทางปกติ ส่งเสริมการบริจาคอวัยวะเชิงรุก เพิ่มและพัฒนาผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ เช่น นักโภชนาการ นักจิตวิทยา เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมุ่งไปที่ตัวบุคคคล หวังซื้อใจบุคลากรทางการแพทย์ เช่น กำหนดให้ทำงานไม่เกิน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และเวลาพักผ่อนเพียงพอ โดยพักผ่อนอย่างน้อย 8 ชั่วโมง หากทำงานติดกัน 24 ชั่วโมง หรือทำงานเวรดึก ค่าตอบแทนเป็นธรรมสำหรับทำงานช่วงนอกเวลา ถือหลัก ทำมากได้มาก ออกกฎหมายคุ้มครองความปลอดภัยและความก้าวหน้าของเจ้าหน้าที่ที่เปิดโปงการทุจริตในหน่วยงาน ปรับปรุงสภาพของที่พักบุคลกร
2.พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคที่ในสมัยรัฐบาลปัจจุบันมีรองหัวหน้าพรรค “สาธิต ปิตุเตชะ”เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมช.สธ.) นโยบายที่เห็น คือ นมโรงเรียน 365 วัน เป็นการพัฒนาเด็ก ใช้บัตรประชาชนใบเดียว ตรวจสุขภาพฟรี รักษาฟรี ส่งเสริมการเป็น Medical Hub ผ่านการท่องเที่ยงเชิงสุขภาพ และกฎหมายอากาศสะอาด กำหนดเขตปลอดมลพิษ 16 เขตชั้นในกทม. ให้มีการกำหนดมาตรฐานการก่อสร้างอาคาร การเก็บภาษีรถบรรทุกขนาดใหญ่ ที่ปล่อยควันดำ เพื่อนำเงินภาษีมาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ และ ลดหย่อนภาษีให้ผู้รักษาพื้นที่สีเขียว
3.พรรคภูมิใจไทย ดีกรีมีหัวหน้าพรรค “อนุทิน ชาญวีรกูล”เป็นรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) นโยบายสาธารณสุขที่ถูกกำหนดขึ้น ผลักดัน ศูนย์ฉายรังสีมะเร็งฟรี เป็นการจัดตั้งศูนย์ ฉายรังสีรักษาโรคมะเร็งฟรี 1 จังหวัด 1 ศูนย์ ให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น และจัดตั้งศูนย์ฟอกไตฟรีทุกอำเภอ ภายใน 4 ปีเพื่อให้ผู้ป่วยโรคไตทุกคน เข้าถึงการรักษาได้เร็ว และ ทั่วถึง เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยและครอบครัว รวมถึง อาการป่วย 16 โรครับยาฟรีที่ร้านยา การคัดกรองผู้สูงอายุเชิงรุกในชุมชนผ่านแอพลิเคชั่น Smart อสม. สิทธิประโยชน์ผู้สูงอายุ และเพิ่มค่าป่วยการอสม.เป็น 2,000 บาท
4.พรรคพลังประชารัฐ มุ่งเน้นแนวทาง “สวัสดิการประชารัฐ จากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน” และ“ดูแลทุกช่วงวัย แม่ บุตร ธิดา ประชารัฐ” ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ด้วยมารดาประชารัฐ ฝากครรภ์ จนคลอด แบ่งตามช่วงอายุ ได้แก่ อายุ 0-6 ปี จะได้รับการดูแลโภชนาการอาหารครบถ้วน ตามพัฒนาการของวัย เพื่อให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง โดยสนับสนุนเงินให้เดือนละ 10,000 บาท 5 เดือน เริ่มตั้งแต่อายุครรภ์ 4 เดือน จนถึง 9 เดือน นอกจากนี้ จะช่วยเหลือเงินค่าเลี้ยงบุตร 3,000 บาท ต่อเดือน เป็นระยะเวลา 6 ปี
อายุ 7-18 สวัสดิการการศึกษาที่มีคุณภาพ จัดสรรโครงการอาหารกลางวันฟรี มีทางเลือกที่หลากหลายในการศึกษาให้เหมาะสมกับศักยภาพและบริบทของสังคม อายุ 18-40 จะมี สวัสดิการคุ้มครองแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ และ สวัสดิการเรียนรู้ทักษะเพิ่มเติมเพื่อประกอบอาชีพ เปิดโอกาสให้เรียนฟรี และอายุ 40-60 มุ่งเน้นสวัสดิการสุขภาพ โดยมีหลักประกันสุขภาพที่คุ้มครองและครอบคลุมประชาชนทุกคน และ อายุ 60 ปีขึ้นไป เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บ้านพัก และสวัสดิการรักษาพยาบาล และจัดตั้งโรงพยาบาลวิสาหกิจเพื่อสังคม
5.พรรคเพื่อไทย นโยบายหลัก คือการ “ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค” บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทั่วไทย นัดคิวออนไลน์ ไม่ต้องรอคิวนาน ตรวจเลือดคลินิกใกล้บ้าน รักษาและจ่ายยาออนไลน์ ลดภาระของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ระดมฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกฟรีให้เด็กหญิงอายุตั้งแต่ 9-11 ปีทุกคน และผู้หญิงที่ยังไม่เคยรับเชื้อ HPV ลดอัตราการเกิดมะเร็งปากมดลูกมากกว่าครึ่งป้องกันมะเร็งท่อน้ำดีและมะเร็งตับ ตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ในตับและไวรัสตับอักเสบซี รับยา รักษาฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
Mental Healthสุขภาพจิตคนไทยจะไม่ถูกละเลย มีการให้คำปรึกษาจากจิตแพทย์และนักจิตวิทยาคลินิก ทั้งที่โรงพยาบาลและผ่านระบบ Telemedicine ส่งเสริมให้มีสถานชีวาภิบาล ไร้กังวลสำหรับผู้ป่วยติดเตียง ร่วมมือทั้งภาครัฐ และ เอกชน สนับสนุนงบประมาณโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) และกรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลประจำเขตครบทั้ง 50 เขต
6.พรรครวมไทยสร้างชาติ นโยบายด้านสาธารณสุขที่ชัดเจน สามารถแยกย่อยออกจากเรื่องสวัสดิการอื่นๆ เช่น สร้างระบบแพทย์ 24 ชั่วโมง ปรึกษาแพทย์ผ่านระบบแพทย์ทางไกล และจัดตั้งโรงพยาบาลวิสาหกิจเพื่อสังคม สร้างศูนย์สันทนาการเพื่อผู้สูงอายุ
พรรคอื่นๆ อย่างเช่น พรรคไทยสร้างไทยมีนโยบายเพิ่มคุณภาพ 30 บาทรักษาทุกโรคเป็น 30 พลัส ปฏิรูประบบสาธารณสุขด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์( AI) พัฒนา Telemedicine และให้ไทยเป็น Medical Hub ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์ทางเลือก การผลิตเวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง สมุนไพร ,พรรคชาติไทยพัฒนา มีนโยบายสุขภาพดีมีเงินคืน 3,000 บาท , พรรคชาติพัฒนากล้า นโยบายอารยสถาปัตย์ปรับปรุงบ้าน 50,000 บาทให้ผู้สูงวัยและผู้พิการ ลดสถิติคนสูงอายุล้มในบ้านปีละ 2 ล้านคน ,พรรคเสรีรวมไทย นโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาฟรี
เท่าที่เห็น นโยบายหลายเรื่องของหลายพรรค ก็เป็นสิ่งที่มีการดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน หรือบางเรื่องก็อยู่ในแผนงานที่ขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นโดยหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องอยู่แล้วเช่นเดียวกัน และส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในเรื่องของการรักษา ซึ่งยังมีช่องว่างเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ตามแนวคิด “สร้างก่อนซ่อม”