ป้ายแดงผิดสัญญาบอกล้างเป็นโมฆะได้ !

องค์กรผู้บริโภค ชี้ “ปมป้ายแดง” ผู้ประกอบการทำผิดสัญญาไม่เป็นไปตามโฆษณา ผู้บริโภคมีสิทธิ์ทำหนังสือ “บอกล้าง” เพื่อให้ “สัญญาเป็นโมฆะได้”

จากเหตุหลายกรณี ที่ผู้บริโภคซื้อรถใหม่ป้ายแดง แต่โชว์รูมในฐานะผู้ขาย ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นป้ายขาวให้ลูกค้าภายใน 30 วัน ตามที่ กรมการขนส่งทางบก กำหนดไว้ ทำให้ ผู้บริโภค เป็นฝ่ายต้องแบกรับความเสียหาย ไม่สามารถนำรถมาขับขี่ตามท้องถนนได้ตามปกติ เพราะยังเป็นป้ายแดง จึงถูกตำรวจ จับ – ปรับ และยังไม่สามารถทำประกันภัย ทั้งที่ตอนซื้อ บริษัทรถยนต์ให้การยืนยัน สามารถจดทะเบียนป้ายขาวได้ จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จนไม่กล้านำรถออกมาขับ เพราะเกรงหากเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชน ไม่สามารถรับผิดชอบได้ ดังนั้น จึงต้องจอดรถทิ้งไว้ที่บ้าน และหาเช่า หรือ ซื้อรถมือ 2 ป้ายขาวมาใช้แทน

วันนี้ 28 มิถุนายน 2566 นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์กับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ค่าเสียหายส่วนนี้ ผู้บริโภค สามารถเรียกร้องเอากับทางผู้ขายได้ เพราะปัญหาป้ายแดงที่เกิดขึ้นซ้ำซากเวลานี้ เป็นเพราะผู้ขายกล่าวอ้างถ้อยคำโฆษณา ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในสัญญาจึงเป็นเหตุให้ผู้บริโภคตกหลุมพราง เมื่อมองในภาษากฎหมายจะเห็น “กลฉ้อฉล” หลอกให้หลงเชื่อ จึงยอมเซ็นสัญญา แต่ในเมื่อผู้ขายไม่สามารถทำตามสัญญา ผู้บริโภคจึงมีสิทธิ์ทำหนังสือ “บอกล้างแจ้งยกเลิกสัญญาให้เป็นโมฆะ” เท่ากับกลับสู่สถานะเดิม เสมือนผู้ซื้อและผู้ขาย ไม่เคยทำสัญญาใดๆ มาก่อน ซึ่งเป็นไปตามประมวลแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 และ 176 จากนั้น จึงเข้าสู่กระบวนการคืนรถ และผู้ประกอบการต้องรับซื้อคืนด้วยจ่ายเงินเต็มจำนวนให้ลูกค้าตามมูลค่าของรถคันนั้นๆ ซึ่งผู้ขายไม่มีสิทธิ์ใช้ข้ออ้างเรื่องเงื่อนเวลาที่ผู้บริโภคนำรถไปใช้ เพราะผู้ประกอบการเป็นฝ่ายผิดสัญญา แถมยังใช้วิธีการโฆษณาที่ไม่เป็นไปตามกรอบของกฎหมาย ดังนั้น มองถึงเจตนาตั้งต้นที่หวังหลอกลวงผู้บริโภค

ส่วนการทำหนังสือ “บอกล้างแจ้งยกเลิกสัญญาให้เป็นโมฆะ” หรือสัญญาใช้บังคับไม่ได้ หรือ อาจถึงขั้นต้องฟ้องร้องในชั้นศาลแผนกคดีผู้บริโภค โดยผู้เสียหายสามารถดำเนินการเองได้ หรือ รวบรวมหลักฐานทั้งหมดมาขอความช่วยเหลือได้ที่ สภาองค์กรของผู้บริโภค, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, รวมถึง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค( สคบ.) โดยการฟ้องร้องควรรวมตัวผู้เสียหายในลักษณะเดียวกัน มาร่วมฟ้องเป็นแบบกลุ่ม วิธีนี้ถือเป็นการสร้างพลังผู้บริโภคให้เข้มแข็งและสร้างอำนาจต่อรองกับผู้ประกอบการ ระหว่างเจรจาไกล่เกลี่ยในชั้นศาล

อย่างไรก็ตาม มีโจทย์สำคัญ ที่นายโสภณเรียกร้องไปถึงกรมการขนส่งทางบก ในฐานะที่กำกับดูแลเรื่องนี้โดยตรง ต้องตื่นตัวปกป้องสิทธิผู้บริโภค ทั้งการเร่งรัดตรวจสอบ -ควบคุม-ดูแล ปัญหานี้อย่างเข้มงวด และ เอาผิดทางกฎหมายกับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถส่งมอบรถป้ายขาวให้กับลูกค้า รวมถึง ต้องมีมาตรการห้ามจำหน่ายจนกว่าจะแก้ไขปัญหาได้ ที่สำคัญต้องมีระบบคัดกรองโชว์รูมขายรถป้ายแดงต้องมีความสามารถในการออกป้ายขาวได้ทุกคัน พร้อมกันนี้ ควรเปิดช่องทางให้ผู้บริโภค สามารถตรวจสอบ เลขทะเบียนรถของโชว์รูมที่ขายรถยี่ห้อต่างๆ โดยต้องได้คำตอบที่ชัดเจน หากไม่สามารถเปลี่ยนจากป้ายแดง เป็นป้ายขาว ผู้บริโภคจะได้ตัดสินใจ ไม่เซ็นสัญญา หรือ ยุติการซื้อ เหล่านี้ถือเป็นโจทย์สำคัญต่อการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค

ส่วนเรื่องที่ผู้ขายออกประกาศโฆษณา เพื่อจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อสินค้า จนเกิดการทำสัญญา นายโสภณ บอกด้วยว่า ยังใช้ได้ในหลายกรณีของสินค้า และบริการ เพราะ “โฆษณาในมุมการคุ้มครองผู้บริโภค” ถือเป็นส่วนหนึ่งในสัญญา ดังนั้น เมื่อผู้ขายทำไม่ได้ตามสัญญามันคือ “การผิดสัญญา” ฝ่ายผู้บริโภค จึงมีสิทธิ์บอกเลิกสัญญา รวมถึงเรียกค่าเสียหายได้

ด้านนายธนัช ธรรมิสกุล หัวหน้าฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) กล่าวว่า ปัจจุบันการใช้รถป้ายแดงเกิน 30 วัน จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 6 (1) ประกอบมาตรา 59 ฐานใช้รถที่ยังไม่จดทะเบียน หากฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท โดยกรมการขนส่งออกมายืนยันว่าการจดทะเบียนรถใหม่สามารถทำเสร็จได้ภายใน 1 วันเท่านั้น โดยเจ้าของรถหรือศูนย์บริการจำหน่ายรถแต่ละศูนย์บริการหรือบริษัทผู้ให้บริการเช่าซื้อรถ ที่รับดำเนินการจดทะเบียนแทนผู้บริโภคหรือผู้ซื้อรถ (กรณีเป็นฝ่ายดำเนินการจดทะเบียนให้แก่เจ้าของรถ) ควรเร่งรัดดำเนินการจดทะเบียนให้เสร็จภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับหรือออกรถ หลีกเลี่ยงการขับรถข้ามจังหวัด การขับรถป้ายแดงข้ามจังหวัดมีโอกาสสูงที่จะถูกเรียกตรวจโดยเจ้าพนักงาน เนื่องจากตามกฎหมาย ระบุว่า รถป้ายแดงจะสามารถวิ่งได้ภายในเขตที่ระบุอยู่บนป้ายทะเบียนเท่านั้น ใช้ได้เฉพาะระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและก่อนพระอาทิตย์ตกเท่านั้น หากมีความจำเป็นจะต้องใช้เกินกว่าที่กำหนดไว้ ผู้ขับรถป้ายแดงทุกคนจะต้องลงบันทึกในสมุดบันทึกหรือ “สมุดคู่มือประจำรถใช้กับเครื่องหมายพิเศษ” โดยระบุวัน/ เวลา/ สถานที่และเหตุจำเป็นพร้อมได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนก่อน และหากมีความจำเป็นต้องขับข้ามจังหวัดก็ต้องระบุเช่นกันพร้อมได้อนุญาตจากนายทะเบียนด้วย หากขับรถระหว่างพระอาทิตย์ตกถึงพระอาทิตย์ขึ้น เวลากลางคืน โดยไม่มีความจำเป็นและได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท ตามมาตรา 27 มาตรา 28 และมาตรา 60 แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

ที่ผ่านมา กลับพบว่า ศูนย์บริการจำหน่ายรถส่วนใหญ่อ้างการเตรียมเอกสารต่างๆ เพื่อการจดทะเบียนต่อกรมการขนส่งทางบกหรือสำนักงานขนส่งจังหวัด จะได้รับแผ่นป้ายทะเบียนรถและเครื่องหมายการเสียภาษี (ป้ายวงกลม) เพื่อนำไปติดที่รถทันที ในวันที่นำรถมาจดทะเบียน ทำให้มีความล่าช้าเกินกว่า 30 วัน ทำให้ผู้บริโภคหรือผู้ใช้รถหากมีใช้งานหลังพระอาทิตย์ตก และตำรวจพบและเรียกตรวจสอบ เป็นการฝ่าฝืนมีโทษปรับตามกฎหมาย จึงร้องขอให้ศูนย์บริการจำหน่ายรถหรือบริษัทผู้ให้บริการเช่าซื้อ ควรเร่งดำเนินการด้านเอกสารต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ ให้สามารถนำไปจดทะเบียนต่อกรมการขนส่งหรือสำนักงานขนส่งจังหวัด ภายใน 30 วัน หากเลยกำหนดระยะเวลาดังกล่าว เมื่อผู้ใช้รถถูกปรับมีสิทธิที่เรียกร้องและขอให้ศูนย์บริการจำหน่วยรถคืนเงินค่าปรับดังกล่าว ให้กับผู้บริโภคหรือผู้ใช้รถเป็นรายๆ ไป

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค