กระจายอำนาจ – เพิ่มโทษ ทำฐานข้อมูลคนขาย แก้ปัญหาถังแก๊สตกมาตรฐาน

 สภาผู้บริโภค เสนอกระจายอำนาจให้ ‘ท้องถิ่น’ ร่วมแก้ปัญหาถังแก๊สเสื่อมสภาพ – หมดอายุ จี้ปรับโทษให้แรงขึ้น ทำฐานข้อมูล ขึ้นทะเบียนคนขาย พร้อมให้ความรู้ตรวจสอบวันหมดอายุของถังก่อนซื้อ

จากเรื่องร้องเรียนและการเฝ้าระวังของสภาผู้บริโภคที่พบการใช้ถังแก๊สหุงต้มที่หมดอายุและเสื่อมสภาพขายในพื้นที่จังหวัดสงขลา และพื้นที่หลายจังหวัดในภาคใต้จำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลในเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภคนั้น

วันที่ 25 กันยายน 2567 นางสาวจุฑา สังขชาติ หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดสงขลา สภาผู้บริโภค ระบุว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีรายงานข่าวเหตุการณ์ถังแก๊สหุงต้มระเบิดขึ้นหลายครั้ง ทำให้มีผู้บาดเจ็บและสร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนจำนวนมาก และแม้ในเดือนมีนาคม 2567 กรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมาตรการมากำกับดูแลและแก้ไขปัญหาถังแก๊สไม่ได้มาตรฐานแล้ว แต่ยังพบช่องโหว่ของการดำเนินการต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้บริโภคต้องเสี่ยงกับความไม่ปลอดภัยอยู่ เช่น การร้องเรียนเพื่อให้ปัญหาได้รับการแก้ไขเป็นไปได้อย่างยากลำบาก เพราะไม่มีใบเสร็จจากการซื้อหรือเปลี่ยนถังแก๊ส แต่โดยพฤติกรรมในการเปลี่ยนถังแก๊สของผู้บริโภคมักไม่ได้เก็บใบเสร็จไว้ ขณะที่ผู้ประกอบการที่ควรมีหน้าที่ในการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนถังแก๊สที่เสื่อมสภาพกลับปล่อยให้ถังเก่าเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องรับภาระในการเปลี่ยนถังใหม่หรือต้องเสี่ยงกับถังแก๊สไม่ปลอดภัย

“ปัญหานี้ยังลุกลามไปถึงโรงบรรจุแก๊สหุงต้มในหลายพื้นที่ที่ไม่มีการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด บางโรงบรรจุไม่คัดกรองถังแก๊สที่หมดอายุหรือเสื่อมสภาพอย่างจริงจัง หรือในบางปั๊มน้ำมันอนุญาตให้เติมแก๊สได้ทุกยี่ห้อโดยไม่คำนึงถึงมาตรฐานคุณภาพ ขณะที่ร้านค้าชุมชนหรือร้านค้าขนาดเล็กในหมู่บ้านที่ยังไม่มีระบบการจัดการถังแก๊สที่ดีเพียงพอ บางร้านนำถังที่เสื่อมสภาพมาซ่อมแล้วหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ แม้กฎหมายจะระบุว่าต้องมีการควบคุมมาตรฐานถังแก๊ส” นางสาวจุฑา ระบุ

หัวหน้าหน่วยงานประจำจังหวัดสงขลา ระบุอีกว่า ปัญหาเหล่านี้สะท้อนถึงการขาดการจัดการที่มีประสิทธิภาพทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ซึ่งจากผลการสำรวจของเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคภาคใต้พบว่า ถังแก๊สกว่าร้อยละ 20 ในหลายจังหวัดไม่มีการระบุวันหมดอายุที่ชัดเจน ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพของถังแก๊สได้ ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง โดยอาจให้อำนาจกับท้องถิ่นในการจัดการปัญหาและช่วยสอดส่องดูแลควบคุมการขายถังแก๊สที่มีมาตรฐาน นอกจากนี้ยังพบอีกว่ามาตรการลงโทษถือว่ายังเบาบาง ไม่สอดคล้องกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อความปลอดภัยของผู้บริโภคจนอาจทำให้ผู้ประกอบการที่กระทำผิดไม่เกรงกลัว และอาจจัดให้มีการขึ้นทะเบียนผู้ขายถังแก๊สเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อ ขณะเดียวกันควรให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในการตรวจสอบวันหมดอายุของถังแก๊สและมาตรการความปลอดภัยต่าง ๆ เพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้ถังที่ไม่ได้มาตรฐานในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2567 สภาผู้บริโภคได้เรียกร้องให้กรมธุรกิจพลังงาน แก้ไขปัญหาและให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และได้รับการตอบกลับมาว่าขณะนี้ สำนักงานพลังงานจังหวัดสงขลามีการตรวจสอบร้านค้าที่จำหน่ายแก๊สหุงต้มในพื้นที่ กำชับให้ผู้ประกอบการสถานที่เก็บรักษาแก๊สหุงต้มประเภทร้านจำหน่าย ให้ทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด พร้อมจัดตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาแก๊สปิโตรเลียมเหลวภาคครัวเรือนทั้งระบบ บูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วน แต่สภาผู้บริโภคยังพบว่าในหลายส่วนยังไม่มีความชัดเจนของแผนการดำเนินงาน รวมถึงระยะเวลาการดำเนินงาน ดังนั้น จึงจะมีการส่งหนังสือสอบถามถึงประเด็นข้อสงสัยเพิ่มเติมไปยังกรมธุรกิจพลังงานอีกครั้ง ทั้งนี้ ได้การกำหนดแผนแก้ไข 7 มาตรการ แบ่งเป็นมาตรการระยะสั้น 6 ข้อ ได้แก่

1. มาตรฐานและแก๊สหุงต้ม กำหนดเกณฑ์การจำแนกสภาพถังแก๊สหุงต้มให้เข้าใจได้อย่างง่ายดาย เพื่อลดปัญหาถังไม่ได้คุณภาพ และที่สำคัญได้กำชับให้เจ้าของถังหรือผู้ประกอบการต้องทดสอบและตรวจสอบ ทุก ๆ 5 ปี ตามกฎหมาย

2. กฎหมายควบคุมโรงบรรจุและร้านจำหน่าย ตรวจสอบถังแก๊สที่จำหน่ายทั่วไปให้ประชาชนต้องเป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมบังคับ หรือ มอก.บังคับ เลขที่ 27 – 2543 รวมถึงการมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศกำกับดูแลโรงบรรจุและร้านจำหน่ายให้เป็นไปตามกฎหมาย

3. หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กำกับให้เป็นไปตามมาตรฐาน กรมทรัพย์สินทางปัญญา (ทป.) สนับสนุนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าบนถังแก๊สปิโตรเลียม และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สนับสนุนเรื่องหลักฐานการรับเงิน การคืนถังแก๊สหุงต้ม และปริมาณแก๊สที่ไม่ตรงกับที่ฉลากระบุ

4. การกำหนดแนวทางจัดตั้งศูนย์รับ – ส่งเรื่องร้องเรียน โดยร่วมมือกับ สคบ. ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือคุ้มครองผู้บริโภค เพิ่มประสิทธิภาพรับส่งเรื่องร้องเรียน อำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคในการร้องเรียน พร้อมแก้ไขปัญหาผู้ประกอบการจำหน่ายถังแก๊สเสื่อมสภาพ ไม่ผ่านมาตรฐานความปลอดภัย

5. เพิ่มประสิทธิภาพการเรียกเก็บและซ่อมถังแก๊สหุงต้ม โดยการกำหนดมาตรการเครือข่ายโรงซ่อม เปิดโอกาสให้ผู้ค้าน้ำมันสามารถรับซ่อมถังแก๊สหุงต้มจากยี่ห้ออื่นที่สนใจ พร้อมมาตรการทางกฎหมายกำกับดูแลการซ่อมบำรุงถังแก๊ส

และ 6. การแก้ไขปัญหาการลักลอบเติมถังแก๊สในสถานีบริการ มีการกำหนดเปรียบเทียบปรับเต็มอัตรา และแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศและศูนย์ปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปนม.ตร.) เพื่อตรวจสอบ กวดขัน และกำกับดูแลการลักลอบเติมถังแก๊สในสถานีบริการ

ส่วนมาตรการระยะยาว จะมีการศึกษาระบบการค้าเสรีแก๊สหุงต้มภาคครัวเรือน เพื่อปรับปรุงระบบการค้าและมาตรฐานความปลอดภัยด้านแก๊สหุงต้มภาคครัวเรือน ออกแบบธุรกิจการค้าแก๊สหุงต้มที่ทันสมัยให้เหมาะสมประเทศภายใต้ระบบการค้าเสรีที่มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม เพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลระบบการค้าและความปลอดภัย

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค