เตือนอย่าแชร์ เอเอฟพี เผย ข่าวนิวยอร์ก ไทมส์ จัดอันดับวัคซีนจีนดีที่สุด เป็นเฟคนิวส์
จากกรณีที่ โลกออนไลน์ ทั้งเฟซบุ๊ก และกรุ๊ปไลน์ ได้มีการเผยแพร่ข้อมูล อ้างว่า สื่อดังอย่าง นิวยอร์กไทม์ จัดอันดับวัคซีนที่ดีที่สุด โดยมีอันดับ 1-4 เป็นวัคซีนของจีน โดย มีการแชร์ข่าวดังกล่าวไปในวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม เอเอฟพี ได้รายงานว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง และเป็นความเข้าใจผิด โดยระบุว่า
คำกล่าวอ้างที่ทำให้เข้าใจผิดถูกแชร์ออนไลน์ว่านิวยอร์กไทมส์จัดอันดับให้วัคซีนของประเทศจีนเป็นวัคซีนโควิด-19 ที่ปลอดภัยที่สุด
คำกล่าวอ้างที่ระบุว่าหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ได้จัดอันดับให้วัคซีนโควิด-19 ของประเทศจีนเป็นวัคซีนที่ปลอดภัยที่สุดได้ถูกแชร์ในหลายโพสต์ทางเฟซบุ๊ก คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด บทความของหนังสือพิมพ์เดอะนิวยอร์กไทมส์ที่ถูกกล่าวอ้าง ไม่ได้มีการจัดอันดับความปลอดภัยของวัคซีนตามที่ปรากฏในโพสต์ที่ทำให้เข้าใจผิด
คำกล่าวอ้างนี้ถูกโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2564
คำบรรยายโพสต์เขียนว่า “ขยี้ตาแพล๊บ !!! รายงานการจัดอันดับความปลอดภัยของวัคซีน โดย “นิวยอร์คไทม์ส” ซึ่งเผยแพร่ไว้เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา อ้าวสรุปนิวยอร์กไทม์ส กลายเป็นสลิ่มไปซะงั้น จะมีใครออกมาดิ้นไหมหนอ ตายละหว่า เพิ่งมีคนแซะวัคซีนเสิ่นเจิ้นอยู่เลย กลับแป๊บ !!!…”
โพสต์ดังกล่าวแชร์ภาพอินโฟกราฟิก โดยข้อความในภาพเขียนว่า “อันดับความปลอดภัยของวัคซีน โดยเดอะนิวยอร์กไทมส์
1. ซิโนฟาร์ม (จีน)
2. ซิโนแวค (จีน)
3. Kexing (จีน)
4. แคนซิโน (จีน)
5. แอสตร้าเซนเนก้า (สหราชอาณาจักร)
6. ไฟเซอร์ (สหรัฐฯ และเยอรมนี)
7. โมเดอร์นา (สหรัฐฯ)
8. จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (สหรัฐฯ)
9. โนวาแวค (สหรัฐฯ)
10. สปุตนิกวี (รัสเซีย)”
คำกล่าวอ้างนี้ถูกแชร์ออนไลน์ ในขณะที่การฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทยตามหลังหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2564 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคโควิด-19 สะสมมากว่า 177,467 คน
อย่างไรก็ตาม คำกล่าวอ้างนี้ทำให้เข้าใจผิด
— ไม่มีการจัดอันดับโดยนิวยอร์กไทมส์ —
เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เดอะนิวยอร์กไทมส์ เผยแพร่บทความที่เขียนพาดหัวซึ่งเแปลเป็นภาษาไทยว่า “ถึงเวลาไว้ใจวัคซีนของจีนและรัสเซีย” อย่างไรก็ตามบทความดังกล่าวไม่ได้มีการจัดอันดับความปลอดภัยของวัคซีนโควิด-19
บทความดังกล่าวเป็นบทความเชิงวิเคราะห์ของ Achal Prabhala นักเคลื่อนไหวด้านสาธารณสุขชาวอินเดีย และ Chee Yoke Ling ทนายความสาธารณประโยชน์ชาวมาเลเซีย
บทความดังกล่าวไม่ได้เป็นการรับรองโดยฝ่ายบรรณาธิการ และไม่ได้เป็นการรายงานโดยผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ของเดอะนิวยอร์กไทมส์
เดอะนิวยอร์กไทมส์ได้ชี้แจงทางทวิตเตอร์เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 ว่ามีการนำบทความดังกล่าวไปเผยแพร่ในช่องทางออนไลน์พร้อมคำกล่าวอ้างที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด
แถลงการณ์ดังกล่าวแปลเป็นภาษาไทยว่า “เดอะนิวยอร์กไทมส์ไม่ได้เผยแพร่การจัดอันดับนี้ การรายงานของเราไม่ได้นำเสนอว่าวัคซีนของประเทศจีนนั้นเหนือกว่าวัคซีนที่ผลิตจากที่อื่น นอกจากนี้เราไม่ได้เผยแพร่คำกล่าวอ้างว่าจีนได้ทำการส่งออกไปแล้วกว่า 500 ล้านโดส”
ที่มา : https://www.matichon.co.th/social/news_2770259