สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดประชุมออนไลน์เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2564 โดยเชิญผู้ประกอบการบริการจัดส่งอาหารร่วมให้ข้อมูลและหารือถึงความเป็นไปได้ในการวางระบบจัดส่งอาหารแก่ผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) โดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้นจนอาจเกิดปัญหาเตียงไม่พอ ทำให้กรมการแพทย์และ สปสช.จัดระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้านหรือ Home Isolation
ทั้งนี้ ประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งคือการส่งอาหารให้คนไข้กักตัวที่บ้าน โดย สปสช.สนับสนุนค่าอาหารและค่าบริการจัดการวันละ 1,000 บาท โดยให้โรงพยาบาลเป็นผู้บริหารค่าใช้จ่าย ด้วยเหตุนี้จึงได้จึงเชิญองค์กรธุรกิจที่ทำอาหารหรือจัดส่งอาหารมาร่วมหารือถึงความเป็นไปได้ในการจัดระบบส่งอาหารแก่โรงพยาบาล ไม่ว่าจะจากโรงครัวของโรงพยาบาลแล้วจัดส่งไปให้ที่บ้าน หรือให้ผู้ป่วยสั่งออเดอร์ผ่านแอปพลิเคชัน
ตัวแทนฝ่ายครัวการบิน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในส่วนของครัวการบินไทย สามารถผลิต Set box ซึ่งประกอบด้วย อาหาร ผลไม้ เครื่องดื่ม และอุปกรณ์ในการรับประทาน มีเมนูหลากหลายไม่ซ้ำ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกจำเจ โดยในส่วนของแพ็คเก็จจิ้งจะเป็นแบบใช้แล้วทิ้ง อย่างไรก็ดี ในส่วนของส่วนลดค่าอาหารอาจต้องหารือแบบ case by case ขึ้นอยู่กับปริมาณที่แต่ละโรงพยาบาลสั่ง
ด้านตัวแทน บริษัท ลาล่ามูฟ ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทให้บริการแอปพลิเคชันขนส่งสินค้าทุกประเภทรวมทั้งอาหาร โดยมีรถให้บริการ 7 ประเภท ในกรณีของอาหารปรุงสุก เสนอว่าการขนส่งด้วยรถที่ควบคุมอุณหภูมิได้น่าจะสำหรับการรักษาคุณภาพอาหาร จึงเสนอใช้รถ CRV 5 ประตู ที่บรรจุอาหาร 200-500 กล่องในการขนส่ง
“ลาล่ามูฟ สามารถรวบรวมจุดขนส่งสินค้าที่ไม่ใช่ทีละบ้าน เพราะรถที่สนับสนุนได้จะเป็นรถใหญ่ ขณะนี้ก็มีคลัสเตอร์ในชุมชนต่างๆ หรือแคมป์ก่อสร้าง แต่ละจุดอาจมีผู้ป่วยหลายร้อยคน ลาล่ามูฟสามารถช่วยสนับสนุนการขนส่งอาหารไปยังชุมชนที่มีการระบาดจำนวนมากได้ แต่การกระจายไปตามบ้านอาจต้องมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือผู้นำชุมชน เป็นตัวกลางแจกจ่ายอาหาร”ตัวแทน บริษัท ลาล่ามูฟ ประเทศไทย กล่าว
ขณะที่ตัวแทนจากแอปพลิเคชันไลน์แมน กล่าวว่า ระบบของไลน์แมนจะส่งจุดต่อจุด โดยผู้ใช้กดสั่งอาหารจากร้านที่กำหนด อย่างไรก็ตาม ในกรณีของผู้ป่วยโควิด-19 ผู้ใช้จะมีการสั่งซ้ำๆกันและมีร้านที่ค่อนข้างแน่นอน จึงเสนอว่าอาจใช้ไลน์แท็กซี่ที่ขนอาหารได้มากกว่ามอเตอร์ไซค์ โดยจุดที่มีผู้ป่วยหลายคนก็กำหนดจุดรับส่งที่แน่นอนแล้วนัดเวลาแล้วไปส่งทีเดียวโดยบริษัทประสานไรเดอร์ให้
อย่างไรก็ดี ในแอปพลิเคชันไลน์แมน สามารถสร้างคอลเล็คชั่นเมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยได้แล้วให้ผู้ป่วยเป็นคนสั่งเอง หากเป็นลักษณะนี้ สปสช.หรือโรงพยาบาลสามารถแจกคูปองแก่ผู้ป่วยสำหรับใช้ชำระค่าอาหารและค่าส่งได้เช่นกัน
ขณะที่ตัวแทนบริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด ผู้ให้บริการแอปฯโรบินฮู้ด กล่าวว่า บริษัทสามารถจัดบริการได้ทั้ง 2 Mode คือส่งอาหารจากโรงประกอบอาหารไปยังจุดรับหรือบ้านผู้ป่วยได้ หรือ ให้คนไข้มี playlist รายการอาหารแล้วเลือกสั่งด้วยตัวเองก็ได้
ด้านตัวแทนแอปฯฟู้ดแพนด้า กล่าวว่า ฟู๊ดแพนด้ามีบริการทั้งลูกค้าทั่วไปและลูกค้าองค์กร ดังนั้นจึงมีแพล็ทฟอร์มสำหรับลูกค้าองค์กรอย่างโรงพยาบาล ให้บริหารจัดการส่งอาหารจาก Catering หรือร้านอาหารไปให้คนไข้ที่บ้านได้เลย โดยพร้อมส่งทีมงานไปเทรนนิ่งการใช้งานให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล
ตัวแทนฟู้ดแพนด้า กล่าวอีกว่า ระบบของฟู้ดแพนด้า ยังสามารถทำ pre order สั่งอาหารล่วงหน้าได้สูงสุด 7 วัน ทำให้โรงพยาบาลไม่ต้องมานั่งสั่งอาหารทุกๆวัน รวมทั้งมีระบบหลักบ้านที่ช่วยควบคุมงบประมาณได้ โดยดูได้ว่าแต่ละวันใช้เงินไปเท่าไหร่ เหลือเท่าไหร่ รวมทั้งตรวจสอบได้ว่าส่งไปที่ไหนบ้าง
นอกจากนี้ ฟู้ดแพนด้า ยังมีครัวของตัวเอง มีรายการอาหารที่หลากหลาย มีพาร์ทเนอร์ร้านอาหารประมาณ 1 แสนร้าน มีจำนวนไรเดอร์มากเป็นอันดับต้นๆของประเทศ สามารถกระจายอาหารไปยังบ้านผู้ป่วยได้เลย ซึ่งในกรณีผู้ป่วยโควิด-19 บริษัทจะไม่คิดเงินค่าจัดส่งอาหาร และยังมีส่วนลดเพิ่มเติมแก่โรงพยาบาลอีกด้วย
ส่วนผู้แทนบริษัท ไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น จำกัด ระบุว่าบริษัทไม่ได้มีแพล็ทฟอร์มร้านอาหารโดยตรงแต่ก็มีรถขนส่งกระจายทั่วประเทศ ดังนั้นขอนำข้อมูลการประชุมในครั้งนี้ไปหารือกับทีมงานเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะและจะหารือมายัง สปสช. ต่อไป
นพ.จเด็จ กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากนี้กรมการแพทย์น่าจะมีข้อมูลจำนวนผู้ป่วยและพื้นที่อยู่มากขึ้น สปสช.จะเชิญบริษัทต่างๆมาร่วมวางแผนอีกครั้ง รวมทั้งจะเป็นตัวกลางสื่อสารประชาสัมพันธ์ระหว่างบริษัทผู้จัดส่งอาหารให้โรงพยาบาลต่างๆได้รับทราบต่อไป