“ขออนุญาตสอบถามผู้รู้นะคะ เพราะไม่ค่อยมีความรู้เรื่องนี้เลย มือใหม่มากๆ ค่ะ กรณีที่ซื้อรถด้วยเงินสดแล้วระหว่างนั้นบริษัทรถตรวจพบว่ารถรุ่นที่ซื้อมีปัญหาจะเรียกคืนรถไปตรวจสอบ อยากทราบว่าระหว่างที่รถถูกเรียกคืนไป บริษัทจะชดเชยยังไงบ้างคะ แล้วด้วยความที่เราซื้อสดจ่ายเงินหมดไปแล้วและรถถูกเรียกคืน จะมั่นใจได้ระดับไหนคะว่าจะได้รถกลับคืนมาใช้(อันนี้ถามแบบคนไม่รู้อะไรเลยค่ะ แบบว่ากลัวโดนเทค่ะ 5555)”
นี่เป็นแค่หนึ่งตัวอย่างของผู้ซื้อรถ ที่อาจรู้สึก ว่า “ Recall หรือ การเรียกคืนรถยนต์ “เป็นเรื่องร้ายแรงที่ทำให้เจ้าของรถต้องวิตกกังวลใจ มีจำนวนไม่น้อย อาจเกิดคำถาม? ทำไมผู้ผลิตรถไม่ตรวจสอบให้ดี หรือตอนทดสอบรถก่อนจะเข้าไลน์ผลิต ไม่เจอปัญหามาก่อนหรือไง ! แล้วส่วนอื่น นอกเหนือจากการ Recall จะวางใจได้หรือเปล่า?นี่ ! อาจมองได้ว่า สภาพจิตใจของผู้บริโภค เมื่อได้รับข่าวการ Recall บ่อย ๆ ก็เริ่มโดนบั่นทอน โดยเฉพาะกับ คำว่า “เรียกคืน “ ที่ใช้กันในประเทศไทย แถม ด้วยการประโคมข่าวของสื่อมวลชน ทำให้ เจ้าของรถ ตื่นตระหนกตกใจกันเลยทีเดียว
อันที่จริงการ Recall ไม่น่ากลัว ถ้าคนใช้รถรู้จักขั้นตอนและกระบวนการผลิตรถจะไม่แปลกใจเลยว่า เหตุใดถึงต้องมีการ Recall รถกันด้วย นั่นก็เพราะเมื่อมีอะไรบกพร่องก็จัดการแก้ไขหรือแก้ปัญหานั้นๆ แต่ที่ควรกลัว นั่นคือ การที่บริษัทรถทำเฉยๆซะมากกว่า แบบนี้อันตรายกว่ากันเยอะเลย ที่สำคัญ ควรทำความเข้าใจให้ถูกต้องด้วยว่า “ ไม่ได้หมายถึงการเรียกรถคืน ที่หมายถึง รับซื้อคืน เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ขายแล้วจะมารับคืน ขนาดรับคืนฟรี ๆ ยังมีปัญหาให้ต้องคิดว่าจะเอารถมาเก็บไว้ที่ไหน ค่าพื้นที่ในการจอดการเก็บไม่ใช่เล็ก ๆ น้อย ๆ
RECALL เรียกคืนรถ/ เรียกกลับไปแก้ไข = ความหมายเดียวกัน ถือเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์และเป็นกันทั่วโลก บางทีต้องเรียกรถกลับมาเป็นล้าน ๆ คัน เพราะการผลิตรถยนต์จำนวนมาก เมื่อตรวจสอบพบรุ่นใด รุ่นหนึ่ง มีชิ้นส่วน หรืออะไหล่ เกิดปัญหา ที่อาจให้ก่อให้เกิดอันตราย บริษัทผู้ผลิตจะแสดงความรับผิดชอบ โดยการ Recall ด้วยการส่งจดหมายแจ้งให้ลูกค้านำรถเข้ามาตรวจสอบ แก้ไข ที่ศูนย์บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ ซึ่งถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบของบริษัทผู้ผลิขั้นสูงสุดของผู้ผลิตรถยนต์ ที่ผู้บริโภคไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม
ตามปกติรถยนต์ที่ขายในไทยก็มีการ recall เป็นประจำ เวลาเจอปัญหากับอะไหล่ชิ้นไหนเยอะๆ จนเขามองว่าเป็นปัญหาจากการผลิตอะไหล่ ต้องเปลี่ยนรุ่น / อะไหล่ตัวใหม่ที่แก้ไขปัญหามาแล้ว ก็จะออกหนังสือถึงเจ้าของรถให้มาเข้าศูนย์ หรือ ถ้าขายต่อไปแล้ว เจ้าของใหม่ขาดการติดต่อ เวลาเจ้าของคนใหม่เอารถไปเข้าศูนย์ ระบบมันก็จะโชว์ว่าให้เคลมเปลี่ยนอุปกรณ์เองทันที ( ยกเว้นเป็นเรื่องร้ายแรง แบบการเคลมถุงลม‘ทาคาตะ’ ( Takata ) ระเบิด อันนี้เขาประกาศผ่านสื่อหรือเว็บไซต์ทุกช่องทางเลย )
อ่านข้อมูลเพิ่มเติม ตรวจสอบรุ่นรถยนต์ มีการเรียกคืน (Recall) ผู้ใช้รถในไทยที่เข้าข่ายต้องเปลี่ยนถุงลมนิรภัย เกือบ 6 แสนคัน ! ( เว็บไซต์ สภาองค์กรของผู้บริโภค ) https://www.tcc.or.th/warning-airbag/
การ Recall รถ นับว่ามีผลต่อความมั่นใจในการซื้อและใช้รถต่อผู้บริโภคมากพอสมควร ถึงแม้ในเมืองไทยอาจไม่ค่อยได้รับความใส่ใจ ทั้งจากบริษัทรถ คนใช้รถ หรือ แม้แต่ส่วนราชการ ที่ดูแลเรื่องนี้ อาจเพราะคิดว่า เป็นเรื่องไกลตัว คนไม่โดนก็ไม่รู้สึกอะไร บ้านเราไม่มีการวิเคราะห์อุบัติเหตุ หรือให้ความสำคัญว่ารถที่เกิดอุบัติเหตุ เป็นเพราะเหตุ ดังนั้นความสนใจหรือใส่ใจจึงมีน้อย ตามไปด้วยแต่ก็อย่างว่า ไม่ใช่ผู้บริโภคคนไทย จะเฉยเมยต่อสิทธิของตัวเอง เพียงแต่รู้กันดีอยู่แล้วว่า ไม่สามารถฟ้องร้องอะไรได้ อย่างมากก็ได้แค่บ่นว่าเป็นความซวยของตัวเอง หรือยามไปเจอเข้ากับรถคันที่มีปัญหาก็แค่บ่นว่าดวงซวยเท่านั้น … ขนาดเจ้าองรถเอารถเข้าซ่อม ช่างศูนย์ยังไม่เชื่อว่ารถเสีย บอกว่าเจ้าของคิดไปเอง ดีไม่ดียังบอกประโยคอมตะให้ช้ำใจอีกว่า… “รถรุ่นนี้ก็เป็นแบบนี้แหละ”
ต่างกับในหลาย ๆ ประเทศที่พัฒนาแล้ว … เรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยและความรับผิดชอบ การคุ้มครองผู้บริโภค มีความเข้มงวดและใส่ใจอย่างมาก ประชาชนพลเมืองก็รู้สิทธิ์ของตัวเองดี หากมีการฟ้องร้องขึ้นมา บริษัทผู้จำหน่ายอาจเจอถึงกับหมดเนื้อหมดตัวกันได้เลยทีเดียว แถม หากโดนคดีอาญา จะถือเป็นหนึ่งในคดีใหญ่ของวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ เพราะถือว่า “บริษัทประดุจดั่งบุคคล หากบุคคลทำให้คนตายต้องโทษคดีอาญา ดังนั้น (ผู้บริหาร) บริษัทรถก็สมควรโดนด้วยเช่นกัน” ดังนั้น อะไรที่ป้องกันก่อนได้เค้าก็จะประพฤติ ไม่ได้เป็นลักษณะวัวหายแล้วล้อมคอก หรือ วัวหายก็ปล่อยให้มันหายไปทั้งคอก ดังนั้น การประกาศเรียกคืนรถยนต์ในต่างประเทศ จึงทำกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ไม่ว่าจะเรียกคืนหลักสิบ , หลักแสน หรือ หลักล้าน ค่ายรถยนต์ที่ค้นพบปัญหาหลังการผลิตและนำออกจำหน่าย ต้องแจ้งให้ผู้ดูแลกฎหมาย รับทราบถึงแผนการแก้ปัญหา ในบางประเทศ เช่น อเมริกา และ ญี่ปุ่น มีระบบ Recallรถยนต์มานานและถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ มีการประกาศผ่านสื่อมวลชนด้วย ซึ่งถือเป็นมาตรการเชิงป้องกัน (Pre-caution) ของค่ายรถ
หันกลับมาดูประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ ชี้ว่า ไม่ค่อยยอมรับการเรียกคืนรถไปปรับปรุงมาตรฐาน แม้ค่ายรถ มีการ Recall แต่ทำในลักษณะที่ ไม่เป็นกิจจะลักษณะ ไม่เป็นทางการ และ ” ไม่มีกฎหมายรองรับ” มักเลือกใช้วิธีที่หลากหลายในการประกาศเรียกคืน เช่น ส่งจดหมายหาลูกค้า หรือ แจ้งผ่านคอลเซ็นเตอร์ แต่ ไม่แจ้งสื่อมวลชน ยกเว้นสื่อไปสอบถาม หรือ ได้รับข้อมูลจากต่างประเทศ ดังนั้น ความจริงของความรุนแรงจึงยังไม่ปรากฏ หลายกรณีที่ไม่เคยมีการตรวจสอบว่า รถนั้นเป็นสาเหตุทำให้คนเสียชีวิต จากความบกพร่องหรือไม่ ผู้บริโภคจึงต้องเสี่ยงดวงกันต่อไป บางค่ายรถ หลีกเลี่ยง ใช้คำว่า เรียกคืนรถ แต่หันไปใช้คำอื่น ๆ เช่น “ข่าวประชาสัมพันธ์ “ มีอยู่บ่อยครั้งที่ค่ายรถ บางแห่งแอบทำเงียบ ๆ ตอนลูกค้าเอารถเข้าไปเช็คระยะที่ศูนย์ ในเมื่อค่ายรถแอบทำกันเอง แบบถ้าเจ้าของรถไม่ตรวจสอบรายละเอียดการซ่อมก็ไม่เห็น เรื่องนี้ขึ้นกับ กฎหมายและหน่วยงานที่ควบคุม มีความแข็งแรงเพียงใด
ทำไมค่ายรถถึงรู้ว่ารถปัญหาจนต้อง Recall โดยหลักการปกติ จะเกิดขึ้นใน 2 กรณี ได้แก่ ผู้บริโภคนำรถไปใช้แล้วเกิดปัญหาเมื่อเจอสาเหตุจึงเรียกคืนรถ หรือ ค่ายรถตรวจสอบรถที่ผลิตจนพบปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น และส่งผลกระทบต่อการใช้งาน จึงต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม**
ทำอย่างไรดี หากรถของคุณอยู่ในกลุ่มถูก Recall ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ แนะว่า เจ้าของรถต้องตรวจสอบรายละเอียด จำพวก “ เลขตัวถัง “ หรือ “ลอตการผลิตต่าง ๆ ให้แน่ใจอีกรอบว่า อยู่ในเครือข่ายการเรียกคืน จากนั้น ก็ทำการติดต่อศูนย์บริการที่ใช้บริการประจำ เพื่อนัดหมายนำรถเข้าไปจัดการให้เรียบร้อยตามที่ตกลงกัน ถึงแม้เป็นการแก้ไขเล็กน้อย แต่ผู้บริโภคควรได้รับการดูแลปัญหาการเรียกคืนรถโดยตัวแทนจำหน่ายเสมอ ประการแรก “ฟรี ทั้งหมด “ และ ประการที่สอง การตรวจสอบรถจะถูกแจ้งความคืบหน้าหากมีสิ่งอื่นผิดปกติ หากถามว่า ถ้าไม่ได้ซื้อรถจากตัวแทนจำหน่าย เช่น ซื้อรถมือสองจากญาติ หรือ คนรู้จัก แต่ในเมื่อรถรุ่นนั้นมีข้อบกพร่องด้านความปลอดภัย ดังนั้น ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบ ในการซ่อมให้คุณโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ในเมื่อการ “ Recall เรียกคืนรถ นำมาแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงที . ทำไม? ถึงมองเป็นเรื่องรุนแรงทั้งที่จริง ๆ ก็เพื่อความปลอดภัยทั้งนั้น แต่กลับไม่ค่อยได้รับการยอมรับเท่าที่ควร จนทำให้เจ้าของรถพลาดที่จะได้รับการให้บริการที่ดี เพื่อให้ได้ใช้รถได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ .. ประเทศไทยมีปัญหาเรื่องคุณภาพของรถที่ลูกค้าไม่พอใจ จนกระทั่งมีการทุบรถ เผารถ หรือ ประจานรถในงานต่างๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงอุตสาหกรรม เคยจัดตั้ง ศูนย์ Recall “ แบบเฉพาะกิจ แต่ถูกยุบ โดยโอนงานทั้งหมดมาอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ซึ่งการร้องเรียนต่างๆ ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการแสดงความรับผิดชอบภายใต้กระบวนการ Recall แต่ส่วนใหญ่เป็นการแก้ไขข้อขัดแย้งทางด้าน ความพึงพอใจในคุณภาพของสินค้า และไม่มีกระบวนการตรวจสอบโดยตรงถึงข้อร้องเรียน ไม่มีศักยภาพพอที่จะสั่งให้ผู้ผลิตพบว่ามีข้อแก้ไขข้อบกพร่องในการผลิต เมื่อตรวจพบ
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงขอตั้งคำถามไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงเวลาหรือยัง ? ที่ประเทศไทยต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับการ Recall ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่เช้มแข็งตามมาตรฐานสากลเพราะการป้องกัน ดีมากกว่า การแก้ไข เพื่อจำกัดวงของความเสียหายไม่ให้ลุกลามไปนั่นเอง ..ถึงเวลาที่เราต้องทำความเข้าใจกับระบบการเรียกคืนรถยนต์กันแล้วล่ะ… Recall !