หลังควบรวม “คนจน คนชายขอบจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” รายงานระบุ ค้านควบรวมจะเข้มข้นจนถึง 20 ต.ค.

เปิดเผยผลการศึกษาของที่ปรึกษาต่างประเทศชี้ว่า หลังควบรวม ผู้ให้บริการที่เหลือสองค่ายจะเน้นกลุ่มรวยในเมือง และชุมชนหนาแน่น พื้นที่คนจนและคนชายขอบจะถูกมองข้าม กลุ่มผูบริโภค นักการเมือง และอดีต กสทช. จับมือกันไม่รับเงื่อนไข 14 ข้อ ผลักดัน “ล้มการควบรวม” หลังจากที่ กสทช. มีมติเลื่อนการพิจารณาดีลทรู – ดีแทค ไปวันที่ 20 ต.ค. นี้!

จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีวาระในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวมกิจการระว่างทรูและดีแทค ในวันนี้ (12 ตุลาคม 2565) และเมื่อช่วงเที่ยงที่ผ่านมา ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติให้เลื่อนการลงมติออกไป โดยให้เหตุผลว่า ต้องรอข้อมูลใหม่เพิ่มเติม จากบริษัท SCF Associates ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยต่างประเทศที่บอร์ด กสทช. จ้างให้ศึกษาผลกระทบต่อผู้บริโภคจากการควบรวมกิจการบริการโทรศัพท์มือถือ โดยจะมีการนัดประชุมเป็นวาระพิเศษเพื่อตัดสินในเรื่องดังกล่าววันที่ 20 ตุลาคม 2565 นั้น

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เปิดเผยว่า ผลการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศได้ชี้ว่าหลังการควบรวม กลุ่มคนจนและคนชายขอบจะถูกมองข้ามในการบริการที่ไม่ทั่วถึง ทั้งนี้เพราะการบริการจะเน้นไปในกลุ่มคนรวยในเมือง หรือชุมชนหนาแน่นที่จะสร้างกำไรได้มากกว่า จึงแสดงความมุ่งมั่นร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ จะไม่ยอมรับพิจารณาเงื่อนไข 14 ข้อ และค้านการควบรวมที่ กสทช. ได้เลื่อนการพิจารณาลงมติออกไปถึงวันที่ 20 ตุลาคมนี้

การตื่นตัวของผู้บริโภคทั่วประเทศที่จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการควบรวมครั้งนี้ทำให้ กสทช. ต้องพิจารณารายงานการศึกษาของบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศอย่างรอบคอบก่อนมีมติ อีกประการหนึ่ง การมีมติเลื่อนในครั้งนี้ทำให้เห็นว่าคณะกรรมการ กสทช. มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวม ดังนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภคจึงเรียกร้องให้ กสทช. ใช้อำนาจของตัวเองเต็มที่เพื่อรักษาผลประโยชน์ประชาชน

นอกจากนี้ สภาองค์กรของผู้บริโภคเสนอให้ทั้งทรู และ ดีแทค เปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการของทั้งสองค่ายด้วย เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยเห็นผู้ให้บริการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ใช้บริการในประเด็นการควบรวมกิจการโทรคมนาคม รวมถึงการที่ กสทช. กำลังตัดสินใจจะทำให้ผู้บริโภคจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตและค่าโทรศัพท์แพงขึ้นจากการควบรวมกิจการโทรคมนาคม แต่กลับไม่มีการรับฟังความคิดเห็นผู้บริโภคเลย ดังนั้น จึงอยากให้ กสทช. จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเป็นกรณีพิเศษด้วย

“ผู้บริโภคยืนยันว่าเราไม่อนุญาตควบรวมกิจการโทรคมนาคม เพราะกระทบกับทั้งกระเป๋าตังค์ผู้บริโภคและภาพรวม GDP ของประเทศ ประกอบกับที่อนุฯ กสทช. ที่ตั้งขึ้นมาเองเพื่อศึกษาผลกระทบการควบรวมดีลนี้ก็ระบุชัดว่ากระทบประชาชนและเสี่ยงผูกขาดตลาด” สารี กล่าว

สอดคล้องกับ สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค ที่แสดงความเห็นว่า กสทช. ควรมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากการควบรวมกิจการทรูและดีแทค รวมถึงการควบรวมกิจจากเดียวกันในกรณีอื่น ๆ เนื่องจากการควบรวมจะเป็นการลดทางเลือกและกระทบต่อประโยชน์ผู้บริโภคโดยตรง

ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค ย้ำถึงการทำงานของ กสทช. ว่า ควรยึดหลักการให้ความสำคัญกับผลประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง เนื่องจากจะเป็นการป้องกันการคัดค้านจากผู้บริโภคในระยะยาว แต่หากยืนตรงข้ามกับเจตนารมณ์ของธรรมนูญ กลับจะยิ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและความเชื่อมั่นต่อตลาดโทรคมนาคมในอนาคต พร้อมย้ำว่า กสทช. ควรพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งเป็นเจตจำนงของการมี กสทช. ในปัจจุบัน

“อยากเชิญชวนผู้ใช้บริการมือถือทุกคน ให้ออกมาร่วมแสดงพลังและแสดงความเห็นต่อการควบรวมดังกล่าว เพราะจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง ทั้งยังส่งผลต่อสิทธิในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ รายจ่าย และประโยชน์อื่น ๆ ที่ผู้บริโภคจะได้รับอีกด้วย” สุภิญญา กล่าว

ด้าน ศิริกัญญา ตันสกุล คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า การที่ กสทช. แถลงว่าจะเลื่อนมติการพิจารณาดีลควบรวมถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงการใช้เวลาในการพิจารณาและการรวบรวมข้อมูลจากผลการศึกษาของที่ปรึกษาต่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคก่อนตัดสินใจดำเนินการหรือไม่ เนื่องจากมีข้อมูลใหม่ ๆ ว่า จะมีผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม หากมีการควบรวบระหว่างทรู-ดีแทค และเป็นการยืนยันว่ากสทช. มีอำนาจเต็มในการตัดสินใจประเด็นดังกล่าว

“ขณะนี้ กสทช. ยังไม่เคยมีการเปิดเผยเงินงบประมาณในการว่าจ้างที่ปรึกษาต่าง ๆ ซึ่ง กสทช. จำเป็นต้องมีการตอบคำถามของสังคมในตอนนี้ เช่น การถือหุ้นของที่ปรึกษา เพื่อสร้างความโปร่งใส เนื่องจากเป็นองค์กรที่มีการกำกับดูแลโดยสาธารณะ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเปิดเผยกับประชาชนและผู้บริโภค” ศิริกัญญา ระบุ

นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยังได้หาพันธมิตรเพื่อช่วยคัดค้านการควบรวมกิจการดังกล่าว โดยได้แจ้งไปยังสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อประเทศนอร์เวย์ว่าบริษัทเทเลนอร์ (Telenor Group) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค อาจมีการกระทำที่ขัดหลักธรรมาภิบาลของการทำธุรกิจในประเทศนอร์เวย์ เพื่อสร้างแรงกดดันและช่วยกำกับให้มีทิศทางที่ถูกต้องและเพื่อที่ กสทช. จะไม่ตัดสินใจอนุญาตการควบรวมกิจการ

ขณะที่ กชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า เมื่อทราบว่าจะมีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรูและดีแทคที่ส่งผลกระทบกับผู้บริโภค ทำให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรของผู้บริโภคทั่วประเทศติดตามและออกมาเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งหนึ่งที่ทำในฐานะพลเมือง ในฐานะเจ้าของภาษีซึ่ง กสทช. เองได้รับ คือ การร่วมมือกับเว็บไซต์ Change.org ชวนผู้บริโภคลงชื่อค้านการควบรวมดังกล่าว โดยมองว่าผู้บริโภคทุกคนเป็นพลเมืองในประเทศนี้ เป็นเจ้าของภาษีที่ กสทช. ได้รับเงินเดือนผ่านการจ่ายภาษีของประชาชน

กชนุช กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ผ่านมามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ไปยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่าน ให้ กสทช. พิทักษ์ประโยชน์ของผู้บริโภคด้วยการไม่อนุญาตให้ควบรวมกิจการ แต่สุดท้ายพบว่า กสทช. ได้ใช้เล่ห์กลทางกฎหมายต่าง ๆ อาทิเช่น การบอกว่าตัวเองไม่มีอำนาจในการพิจารณา แต่ทั้งศาลปกครองและคณะกรรมการกฤษฎีการะบุออกมาแล้วว่า กสทช. มีอำนาจอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวมกิจการ

“อยากเรียกร้อง กสทช. ในฐานะผู้บริโภคว่า ผู้บริโภคคือเจ้าของคลื่นความถี่ และคลื่นความถี่ยังเป็นสาธารณะสมบัติของประเทศชาติ และเงินทุกบาทที่เราเสียภาษีไปก็ควรถูกใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุดโดยคำนึงถึงประชาชนเจ้าของประเทศ” กชนุช กล่าวและว่า ทั้งนี้ ยังตั้งข้อสังเกตว่า การยื้อเวลาการพิจารณาออกไปเป็นวันที่ 20 ตุลาคม อาจหมายถึงการซื้อเวลาหรือไม่ ซึ่งอาจมีการตัดสินใจพิจารณาควบรวมกิจการช่วงวันหยุด ดังนั้น ในระหว่างนี้ผู้บริโภคจะรวมพลัง ร่วมไม้ร่วมมือจับตา และเคลื่อนไหวเพื่อคัดค้านการควบรวมกิจการครั้งนี้ต่อไป และขอให้ กสทช. ทำหน้าที่ของตัวเองเพื่อประชาชน นอกจากนี้ ยังมีเครือข่ายผู้บริโภคจากทั่วประเทศ เข้ารับฟังการแถลงข่าว และร่วมแสดงจุดยืนที่จะคัดค้านการควบรวมครั้งนี้อย่างถึงที่สุด

ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค