สงกรานต์นี้! รถโดยสารต้องปลอดภัย ลดเกิดอุบัติเหตุซ้ำรอย

 

สภาองค์กรของผู้บริโภค ขับเคลื่อนเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยด้านการขนส่งและยานพาหนะ พร้อมเสนอภาครัฐที่เกี่ยวข้องปรับระบบการชดเชยเยียวยาให้เหมาะสมและฉับไวยิ่งขึ้น เดินหน้าสร้างความเข้าใจผู้บริโภคถึงสิทธิพึงมี หากต้องตกเป็นเหยื่ออุบัติเหตุบนท้องถนน

เมื่อ 12 เม.ย.65 ดร.สุเมธ องกิตติกุล ประธานคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เร่งเดินหน้าเพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการขนส่งและยานพาหนะอย่างต่อเนื่อง จากการถอดบทเรียนอุบัติเหตุรถโดยสารขนาดใหญ่ในแต่ละครั้ง พบว่า มีข้อบกพร่องใน 2 ด้านหลัก คือ ด้านมาตรการการป้องกัน ทั้งยานพาหนะและพนักงานขับรถ ประเด็นนี้ต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการให้ความสำคัญเพิ่มมากยิ่งขึ้น รวมถึงต้องตรวจสอบและสร้างความตระหนักรู้ให้แก่พนักงานขับรถเพื่อส่งมอบความปลอดภัยสูงสุดแก่ผู้โดยสาร ส่วนข้อบกพร่องอีกด้านหนึ่ง คือ กระบวนการด้านการชดเชยเยียวยาที่ค่อนข้างล่าช้าและยังไม่เหมาะสมต่อการสูญเสียของผู้ประสบเหตุแต่ละราย ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ อยู่ระหว่างสรุปเนื้อหาและแนวทาง เพื่อนำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาในการกำหนดมาตรการปรับปรุงแก้ไขต่อไป

ดร.สุเมธ อธิบายเพิ่มเติมว่า หากพิจารณาถึงกลไกในการดำเนินการเพื่อการป้องกัน พนักงานขับรถเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องได้รับการควบคุมอย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งต้องเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการ โดยปัจจุบันกรมขนส่งทางบกได้กำหนดนโยบายและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการแต่ละรายจัดเตรียมบุคลากรที่ดูแลเรื่องการจัดการความปลอดภัยด้านการขนส่ง เพื่อจัดทำแผนการบำรุงรักษารถและระบบความปลอดภัย ทั้งการตรวจสอบการเดินทางทุกเที่ยวตามกำหนดเวลา การยืนยันการตรวจสอบอุปกรณ์ความปลอดภัย การกำหนดหน้าที่ของพนักงานขับรถ การจัดแผนการทำงาน การฝึกอบรมและการตรวจสุขภาพความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจให้แก่พนักงานในองค์กร รวมถึงการตรวจสอบการใช้สารเสพติด ความชำนาญเส้นทางและจุดพักรถระหว่างทาง รวมถึงการยืนยันการตรวจสอบข้อมูลความเร็วรถด้วยระบบจีพีเอส (GPS) การจัดทำแผนอุบัติเหตุ และการประสานงานกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ตลอดจนการจัดทำรายงานอุบัติเหตุพร้อมวิเคราะห์หาสาเหตุเพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับความปลอดภัยทางด้านการขนส่งในปัจจุบัน

ทั้งนี้ ต้องการให้กรมการขนส่งทางบกช่วยติดตามกำกับผู้ประกอบการอย่างเข้มงวด และให้ผู้ประกอบการกำกับพนักงานขับรถอย่างจริงจัง เพราะอุบัติเหตุที่ผ่านมาหลายครั้งมักเกิดจากผู้ขับรถอยู่ในสภาพที่ไม่พร้อมควบคุมรถ จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินอย่างมาก แต่หากผู้ประกอบการรายใดที่ไม่ให้ความร่วมมือขอให้มีการพิจารณาเรื่องการขอต่อใบอนุญาต เพื่อเห็นประโยชน์ของผู้โดยสารเป็นสำคัญ ปัจจุบันผู้ประกอบการด้านการขนส่งผู้โดยสารทางบกในไทยมีทั้งที่ดำเนินการโดยภาครัฐภายใต้ความรับผิดชอบของ บริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) และผู้ประกอบการเอกชนทั้งรายใหญ่และรายย่อยที่มีโครงสร้างการดำเนินงานที่ซับซ้อนยากต่อการเข้าตรวจสอบ ส่วนนี้ต้องการให้กรมการขนส่งทางบกเข้ามากำกับดูแลให้ทั่วถึงอย่างเท่าทัน

“ที่ผ่านมาภายหลังจากเกิดเหตุ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการ 3 ประการหลัก ๆ คือ การลงพื้นที่สืบสวนอุบัติเหตุเพื่อดูสาเหตุหลัก กำหนดมาตรการป้องกันโดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการ และกำหนดบทลงโทษสำหรับผู้ประกอบการที่กระทำผิดซ้ำซาก ทั้งนี้ มองว่าในไทย เมื่อเกิดเหตุแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรประสานความร่วมมือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะนี้ซ้ำรอย” ดร.สุเมธ กล่าว

ส่วนด้านการชดเชยเยียวยานั้น ดร.สุเมธ วิเคราะห์ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงและยกระดับการชดเชยเยียวยาได้ดียิ่งขึ้น ในอดีตประกันภัยจะเป็นรูปแบบประกันภัยภาคบังคับซึ่งมีวงเงินชดเชยเยียวยาค่อนข้างต่ำ แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบกมีคำสั่งกำหนดให้ผู้ประกอบการขนส่งผู้โดยสารทำประกันภัยภาคสมัครใจเพิ่มเติมให้กับรถทุกคัน ทั้งยังได้มีการยกระดับวงเงินคุ้มครองเพิ่มมากขึ้น ทำให้ปัจจุบันวงเงินคุ้มครองภาคบังคับอยู่ที่ 500,000 บาทต่อผู้เสียชีวิตหนึ่งราย ส่วนวงเงินภาคสมัครใจที่กรมการขนส่งทางบกบังคับให้ผู้ประกอบการได้ทำอีกไม่น้อยกว่า 500,000 บาทต่อผู้เสียชีวิตหนึ่งราย ส่งผลให้เมื่อเกิดเหตุผู้เสียชีวิตจะได้เงินชดเชยเยียวยาประมาณ 1,000,000 บาท จากเดิมที่ชดเชยอยู่เพียง 200,000 บาท ทำให้เห็นว่า ณ ปัจจุบันผู้ประกอบการเริ่มเห็นความสำคัญของระบบประกันภัย ทำให้ถูกนำมาชดเชยเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นผ่านการกำกับดูแลของภาครัฐ

หากนำค่าชดเชยเยียวยามาวิเคราะห์กับความเหมาะสมของภาระหน้าที่ของผู้เสียชีวิตแต่ละรายในความเป็นจริงย่อมไม่เท่ากัน ทำให้ผู้เสียหายแต่ละรายมีสิทธิที่จะฟ้องร้องเพิ่มเติมจากผู้ประกอบการ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวค่อนข้างใช้เวลานาน และอาจจะได้รับค่าชดเชยเยียวยาที่ล่าช้าลงไป เช่น กรณีนักศึกษาตกรถเมล์ที่ใช้เวลาฟ้องร้องนานหลายปี แต่ท้ายที่สุดก็ได้เงินชดเชยกลับมาหลักหลายล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สภาองค์กรของผู้บริโภคมองว่า หากระบบการประกันภัยสามารถชดเชยได้รวดเร็วขึ้น ผ่านระบบเบี้ยประกันภัยที่อาจจะต้องจ่ายเพิ่มมากขึ้นอาจทำให้ผู้เสียหายไม่ต้องผ่านเข้าสู่กระบวนการการฟ้องร้องของศาล ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จำเป็นต้องผลักดันต่อไปในอนาคต

“เราคงต้องทำทั้ง 2 ด้าน ทั้งมาตรการป้องกัน โดยจะเร่งเสนอมาตรการป้องกันไปยังกรมการขนส่งทางบก และมาตรการด้านการเยียวยา ซึ่งได้ร่วมกันถอดบทเรียนและสรุปข้อเสนอเพื่อนำส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไปเช่นเดียวกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ นอกจากนี้การสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้บริโภคถึงสิทธิของตนเองหากประสบอุบัติเหตุก็เป็นเรื่องจำเป็น และเป็นภารกิจที่ต้องเร่งลงมือทำด้วยเช่นกัน เพราะจะทำให้ผู้บริโภคได้รับสิทธิที่ตัวเองควรจะได้รับอย่างเหมาะสม” ดร.สุเมธ สรุป

ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค