TOP 5 มะเร็งปี 67 ที่ควรอยู่ในลิสต์การ ‘ตรวจคัดกรอง’ ของคุณ

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจากสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society : ACS) ออกมาระบุถึงการคัดกรองมะเร็งอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้ผลดีในการป้องกันมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเสริมด้วยว่า ในปี 2567 คนทั่วโลกควรต้องหันมาใส่ใจกับการคัดกรองมะเร็ง โดยเฉพาะกับมะเร็ง 5 ชนิดนี้

1. การตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) มะเร็งเต้านม

การตรวจแมมโมแกรมจะถ่ายภาพเอกซเรย์เต้านม เพื่อให้แพทย์สามารถวิเคราะห์เต้านมเพื่อหาสัญญาณเริ่มแรกของมะเร็งเต้านม การได้รับการตรวจแมมโมแกรมเป็นประจำช่วยให้แพทย์สามารถเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของเต้านมเมื่อเวลาผ่านไป และช่วยให้สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่เนิ่นๆ บางครั้งอาจตรวจพบได้ก่อนเป็นมะเร็งถึง 3 ปี

ACS แนะนำว่า ผู้หญิงอายุระหว่าง 40-44 ปี สามารถเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมประจำปีได้ ส่วนผู้หญิงอายุระหว่าง 45-54 ปี ควรได้รับการตรวจทุกปี และผู้หญิงอายุ 55 ปี ควรต้องได้รับการตรวจทุกปี หรือหากมีสุขภาพแข็งแรงจะตรวจปีเว้นปีก็ได้ และคาดว่าจะมีอายุยืนยาวไปอีกอย่างน้อย 10 ปี

สำหรับกลุ่มเสี่ยงมะเร็งเต้านม และควรตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรม คือกลุ่มที่มีประวัติครอบครัวป่วยมะเร็งเต้านม ขณะที่กลุ่มที่ไม่มีประวัติ เมื่อถึงช่วงอายุที่ต้องตรวจ ก็ควรได้รับการตรวจด้วยเช่นกัน

ในส่วนของประเทศไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรองกลายพันธุ์ของยีนมะเร็งเต้านม (BRCA1/BRCA2) ตามสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยมีข้อกำหนดคือต้องเป็นกลุ่มเสี่ยง มีญาติสายตรงเคยมีประวัติป่วยเป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งจะได้รับการตรวจคัดกรองสุขภาพเพื่อประเมินความเสี่ยงค้นหาการกลายพันธุ์ของยีนมะเร็งเต้านม (BRCA1/BRCA2) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ช่วยเพิ่มโอกาสการรักษา ป้องกันและติดตามในระยะแรกเริ่ม

2. การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

ACS แนะนำการตรวจมะเร็งปากมดลูก 2 รูปแบบ คือ 1. การทดสอบ HPV (เอชพีวี) ซึ่งตรวจหาไวรัสที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่ปากมดลูก เพราะหากมีเชื้อ HPV และไม่หายไปเอง อาจทำให้เกิดหูดที่อวัยวะเพศ และกลายเป็นมะเร็งได้ และ 2. การตรวจ Pap Smear (แปปสเมียร์) เป็นการเก็บตัวอย่างเซลล์จากมดลูกเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาความผิดปกติของเซลล์ที่อาจเปลี่ยนแปลงทำให้เป็นมะเร็ง

สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 18 ปี และผู้หญิงสามารถรับการตรวจทั้งสองแบบ เพื่อประเมินความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม แพทย์จะแนะนำและพิจารณาว่าต้องได้รับการคัดกรองบ่อยแค่ไหน โดยส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับช่วงอายุ

สำหรับประเทศไทย ให้สิทธิตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแก่ ‘หญิงไทยทุกคนทุกสิทธิ’ ตามสิทธิสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ที่ดำเนินการโดย สปสช. เช่นกัน โดยใช้ 3 วิธี คือ 1. Pap smear คือ ตรวจคัดกรองหาระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูกโดยแพทย์ เพื่อส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ 2. Visual inspection with acetic acid (VIA) คือ การตรวจด้วยน้ำส้มสายชู เพื่อคัดกรองรอยโรค และ 3. HPV DNA Test คือ การตรวจหาดีเอ็นเอของเชื้อไวรัสเอชพีวีที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูก วิธีนี้มีความไวในการตรวจหาเซลล์ผิดปกติสูง

ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทย จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มอายุ เริ่มจาก อายุ 15-29 ปี ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีคู่นอนหลายคน มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย หรือมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน และอายุ 30-59 ปี โดยให้ได้รับการตรวจทุกสิทธิการรักษา

3. การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

คณะทำงานพิเศษเพื่อการป้องกันโรค (U.S. Preventive Services Task Force : USPSTF) แนะนำให้ผู้ชาย และผู้หญิง อายุ 45-75 ปี ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ขณะที่ผู้ที่อายุ 75 ปีขึ้นไป และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการคัดกรองเพื่อให้แพทย์ช่วยพิจารณา

ทั้งนี้ สำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งชนิดนี้ สามารถใช้วิธีการผ่านเครื่องมือซิกมอยด์โดสโคป (sigmoidoscopy) ที่จะตัดติ่งเนื้อที่ผิดปกติไปตรวจสอบได้ ขณะที่การตรวจอุจจาระ หรือการส่องกล้องในลำไส้ใหญ่ ส่วนใหญ่มักใช้สำหรับการคัดกรองในเชิงป้องกัน

อย่างไรก็ตาม หากไม่พบสิ่งใดที่ผิดปกติ ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้กลับมาตรวจซ้ำด้วยการส่องผ่านกล้องในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี แต่ทั้งนี้ ความถี่ของการขอให้ตรวจซ้ำอาจขึ้นอยู่กับความเสี่ยง รวมถึงประวัติครอบครัวที่อาจมีผู้เคยป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มาก่อน

ขณะที่ประเทศไทย สปสช. บรรจุการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง สำหรับกลุ่มอายุ 50-70 ปี โดยวิธีตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ 1 ครั้งทุก 2 ปี หากผิดปกติจะได้รับการตรวจยืนยันด้วยการส่งกล้อง และตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจ

4. การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก

ACS แนะนำให้ตรวจมะเร็งต่อลูกหมาก ด้วยวิธีการตรวจเลือดเพื่อหาค่าแอนติเจน เพื่อวัดปริมาณ PSA ที่เป็นโปรตีนที่ผลิตขึ้นจากเนื้อเยื่อในต่อมลูกหมาก ซึ่งจะพบได้ทั้งเซลล์ปกติ และเซลล์มะเร็ง โดยหากยิ่งค่า PSA สูง จะมีโอกาสสูงเช่นกันที่จะเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก

สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก คือกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติครอบครัวเคยมีผู้ป่วยมาก่อน โดยเฉพาะญาติสายตรง และเสียชีวิตก่อนอายุ 65 ปี กลุ่มนี้ควรได้รับการตรวจตั้งแต่อายุ 40-45 ปีขึ้นไป

ในส่วนสิทธิประโยชน์การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในประเทศไทย ล่าสุดในปี 2567 สปสช. ก็มีมติเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ (Robotic Surgery) รวมถึงรักษามะเร็งตับ ตับอ่อน และท่อน้ำดี และมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรงอีกด้วย

5. การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด

คำแนะนำการคัดกรองมะเร็งปอดขึ้นอยู่กับปริมาณการสูบบุหรี่ในแต่ละวัน โดย USPSTF แนะนำว่า การคัดกรองมะเร็งชนิดนี้ สำคัญสำหรับผู้ทีมีอายุระหว่าง 50-80 ปี ที่สูบบุหรี่เฉลี่ย 20 ซองขึ้นไปต่อปี หรือวันละ 1 ซอง เป็นเวลาติดต่อกันนานกว่า 20 ปี หรือสูบ 2 ซองต่อวันเป็นเวลา 10 ปี รวมไปถึงผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ภายใน 15 ปีแล้วก็ตาม ก็ยังต้องได้รับการตรวจคัดกรองเช่นกัน

ในส่วนของมะเร็งปอด สปสช. ให้สิทธิประโยชน์การรักษามะเร็งปอด หากพบว่ามีอาการไอเรื้อรังติดต่อกัน ไอมีเลือดหรือเสมหะปนเลือด เจ็บหน้าอก น้ำหนักลด หรือมีภาวะปอดติดเชื้อ และอาจสงสัยว่าเป็นมะเร็งปอด สำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง 30 บาท) สามารถเข้ารักษาได้ที่สถานพยาบาลประจำตามสิทธิ กรณีมีความจำเป็นสามารถเข้ารับบริการที่สถานพยาบาลปฐมภูมิได้ทุกแห่ง หรือหากพบว่าเป็นมะเร็ง สามารถเข้ารับบริการรักษาโรคมะเร็งที่สถานพยาบาลเฉพาะด้านมะเร็ง ในระบบหลักประกันสุขภาพได้ทุกแห่ง โดยไม่ต้องใช้หนังสือส่งตัว ตามนโยบายยกระดับบัตรทอง

ดร.โรเบิร์ต สมิทธ์ รองประธานฝ่ายการคัดกรองมะเร็ง ACS กล่าวว่า การคัดกรองมะเร็งจะได้ผลดีที่สุด เมื่อมีการตรวจตามแนวทางอย่างสม่ำเสมอ เพราะเราจะมีโอกาสเจอมะเร็งที่มีขนาดเล็กและไม่แสดงอาการใดๆ ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากต่อการรักษาผู้ป่วย

“การคัดกรองมะเร็ง เป็นส่วนหนึ่งของการป้องกันโรคของผู้คนเอง ซึ่งก็หมายความว่า ผู้คนก็ต้องมีองค์ความรู้ และรู้ว่าควรต้องตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างไรที่เหมาะสมกับตัวเอง ทั้งเพศ หรืออายุ” สมิทธ์ ย้ำ

อ้างอิง
https://www.healthline.com/health-news/best-cancer-screenings

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค