จับตาประชุม กสทช. วันที่ 10 พ.ย.นี้ ชี้ชะตาคำขอควบรวมเน็ตบ้าน AIS + 3BB ‘ก้าวไกล’ จี้ กสทช. ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ ปชช. อย่าปล่อยให้เกิดการผูกขาดในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม
9 พ.ย. 2566 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานวันนี้ (9 พ.ย.) ภคมน หนุนอนันต์ รองโฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาคำขอควบรวมกิจการอินเทอร์เน็ตบ้าน ระหว่าง AIS และ 3BB ในวันพรุ่งนี้ (10 พ.ย.) ว่า การประชุมนัดนี้มีความสำคัญมากในการพิจารณาชี้ชะตาว่า คำขอควบรวมกิจการอินเทอร์เน็ตบ้านระหว่าง AIS และ 3BB จะทำได้หรือไม่
ภคมน ระบุต่อว่าจะเกิดอะไรขึ้นหาก กสทช. ปล่อยให้มีการควบรวมอินเทอร์เน็ตบ้าน ระหว่าง AIS และ 3BB ข้อแรก ตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านที่ปัจจุบันมีผู้เล่น 4 ราย ได้แก่ True, 3BB, NT (TOT เดิม) และ AIS จะเหลือผู้เล่นเพียง 3 ราย โดย AIS + 3BB จะกลายเป็นรายใหญ่สุด ข้อสอง รวมส่วนแบ่งตลาด AIS (หลังควบรวม) และ True จะคิดเป็นประมาณ 80% หรือพูดง่ายๆ ตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านจะกลายเป็นถูกกินรวบโดย 2 เจ้าใหญ่ เหมือนกับตลาดค่ายมือถือ และข้อสาม บทเรียนจากการอนุมัติให้มีการควบรวมค่ายมือถือระหว่าง True-DTAC แสดงให้เราเห็นแล้วว่ายิ่งปล่อยให้เศรษฐกิจมีการผูกขาดอย่างเสรีเท่าไร ราคาที่ประชาชนต้องใช้บริการยิ่งแพงขึ้น สวนทางกับคุณภาพการให้บริการที่ลดต่ำลง
รองโฆษกพรรคก้าวไกล ระบุว่า ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ขอเรียกร้องให้ กสทช. ทำตามหน้าที่ของตนเองในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน กสทช. มีอำนาจเต็มในการพิจารณา “ไม่เห็นชอบ” ให้มีการควบรวมครั้งนี้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 27 ข้อ 6 ระบุว่า กสทช. ต้องกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับบริการที่ดี รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม และข้อ 11 ระบุว่าจะต้องกำหนดมาตรการเพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด หรือก่อความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน
การประเมินผลกระทบจากการซื้อกิจการเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนสูง เพราะเป็นธุรกิจประเภทโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องการเม็ดเงินลงทุนสูง มีลักษณะการผูกขาดตามธรรมชาติ และยังมีความซับซ้อนจากปัจจัยด้านเทคโนโลยี จึงอาจมีประเด็นหลากหลายให้ กสทช. ต้องพิจารณาถ่วงน้ำหนัก แต่ กสทช. ต้องพึงระลึกว่าการตัดสินใจนั้น ควรคำนึงถึงผู้บริโภคเป็นหลักตามหน้าที่ของตน
“อย่าปล่อยให้ซ้ำรอยกับกรณีการควบรวม True-DTAC เลย ที่สุดท้ายเงื่อนไขที่ว่าจะลดค่าบริการ-เพิ่มคุณภาพให้ประชาชน ยังทำไม่ได้สักเรื่อง” ภคมน กล่าว
ครป.ค้านควบรวม AIS-3BB
ในวันเดียวกัน ทีมสื่อ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย หรือ ครป. รายงานว่า กรณีประชุมคณะกรรมการ กสทช. จะมีการประชุมวาระพิเศษ เพื่อพิจารณาการอนุญาตควบรวมธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ตของ AIS และ 3BB ในวันพรุ่งนี้ (10 พ.ย.) เมธา มาสขาว เลขาธิการ ครป. เปิดเผยว่า ครป.ได้ติดตามเรื่องดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่การที่ กสทช.รับทราบและอนุญาตให้ควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมรายใหญ่ของ True และ DTAC ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว (2565) ท่ามกลางเสียงคัดค้านของประชาชนที่หวั่นว่าจะเกิดการผูกขาดคลื่นความถี่ มาวันนี้ กสทช.กำลังจะพิจารณาเรื่องสำคัญของประเทศชาติอีกครั้ง
เมธา ระบุว่า เขาเห็นว่า กสทช.มีอำนาจที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวว่าจะอนุญาตหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องแค่จะรับทราบตามที่ ประธาน กสทช. ให้ความเห็นและส่งสัญญาณต่อที่ประชุม กสทช. ก่อนหน้านี้ เพราะไม่อย่างนั้นจะเกิดการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 เพราะ กสทช. มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการดูแลและจัดสรรคลื่นความถี่ภายในประเทศโดยตรง ถูกตั้งขึ้นมาโดยกฎหมายเพื่อทำหน้าที่แทนรัฐเพื่อกำกับดูแลจัดการคลื่นความถี่วิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคมโดยตรง ที่ประชุม กสทช. ทั้ง 7 คน จะต้องพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ โดยจะต้องไม่อนุญาตให้มีการควบรวมและกำหนดมาตรการเฉพาะออกมาว่าจะแก้ปัญหาการควบรวมและการผูกขาดเหล่านั้นอย่างไร เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
เลขาธิการ ครป. ระบุต่อว่า ธุรกิจโทรคมนาคม คือการหากินและผูกขาดในคลื่นความถี่ซึ่งเป็นทรัพยากรสาธารณะ ช่องว่างในอากาศซึ่งเป็นของส่วนรวม จึงต้องมีหน่วยงานของรัฐมีอำนาจมากำกับดูแล ซึ่งความจริงแล้ว สิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ ไม่ควรนำเข้าสู่กลไกตลาด เพื่อแสวงหากำไร รัฐหรือสังคมควรเข้ามาจัดการเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมร่วมกัน นั่นก็คือ กสทช. จะอ้างว่าไม่มีอำนาจไม่ได้
เมธา กล่าวว่า อย่าให้ซ้ำรอบครั้งก่อนที่ กสทช.มีมติรับทราบการควบรวมธุรกิจโทรคมนาคมรายใหญ่ของ True และ DTAC ซึ่งน่าจะยังไม่มีการร้องตรวจสอบความผิดของกรรมการ กสทช. ในการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะต่อมาเป็นที่ประจักษ์ว่าทำให้เกิดการผูกขาดคลื่นความถี่สาธารณะอย่างเห็นได้ชัด สภาองค์กรของผู้บริโภคพบว่ามีการฉวยโอกาสเปลี่ยนแปลงแพคเกจให้ผู้บริโภคโดยไม่สมัครใจ ทำให้ราคาแพงขึ้น และสร้างภาระให้ผู้บริโภคต้องร้องเรียนโดยไม่มีความจำเป็น มีการลดคุณภาพระบบอินเตอร์เน็ตลงจนเป็นปัญหาการใช้งาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ส่งไลน์และข้อมูล มีปัญหาการใช้งานด้านโทรศัพท์เกิดอาการติดๆ ดับ ๆ
เมธา กล่าวว่า การควบรวม AIS และ 3BB ก็อาจจะทำให้ประชาชนในฐานะผู้บริโภคเสียประโยชน์ ผู้บริโภคอาจต้องจ่ายแพงขึ้นซ้ำรอยเดิม กสทช.เกิดขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่แทนรัฐในการปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน ในการดูแลกำกับการจัดการคลื่นความถี่ของประเทศ อย่างน้อยที่สุด จะต้องกำกับให้ตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านและโทรศัพท์มือถือแข่งขันแยกกัน โดยมีบริการแยกเดี่ยวที่เป็นทางเลือกได้จริงสำหรับประชาชนผู้บริโภค และส่งเสริมให้มีการแข่งขันในตลาดอินเทอร์เน็ตบ้านในทุกพื้นที่
เมธา กล่าวว่า จริงๆ แล้วคลื่นความถี่และโทรคมนาคม เป็นสมบัติสาธารณะของประเทศชาติและประชาชน รัฐไม่พึงปล่อยให้เอกชนผูกขาด ซึ่งจะทำลายความมั่นคงของชาติและทรัพยากร เพราะเอกชนจะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและจัดการอำนาจผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งระบบ กลายเป็นทุนเหนือรัฐควบคุมประชาชน และที่สำคัญกอบโกยกำไรส่วนเกินมหาศาลจากมูลค่าที่ไม่ควรคิดจากการสื่อสารของประชาชน จากคลื่นความถี่ที่รัฐก็สามารถจัดเป็นบริการสาธารณะฟรีได้ เช่น ระบบอินเตอร์เน็ตหรือไวไฟในที่สาธารณะทุกแห่ง
เลขาธิการ ครป. ระบุต่อว่า การสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจจะทำให้การเมืองมีประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะระบบเศรษฐกิจผูกขาดปัจจุบันได้เข้าไปควบคุมบงการอำนาจทางการเมืองแล้ว ปัจจุบันตลาดธุรกิจโทรคมนาคมมีผู้ให้บริการรายใหญ่เหลืออยู่เพียง 2 รายจากการอนุญาตให้ควบรวมครั้งก่อน ครองตลาดกว่า 97 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติชองรัฐ หรือ NT มีส่วนแบ่งแค่ 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
นี่เป็นปัญหาทางโครงสร้างของกฎหมายและรัฐบาลไทยที่เอื่ออำนวยให้เกิดการผูกขาดในตลาด หรือเศรษฐกิจผูกขาดมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านการค้าปลีก ด้านอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมการเกษตร การผลิตเหล้าเบียร์ จนถึงธุรกิจโทรคมนาคมที่หากินกับคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพย์สมบัติสาธารณะ หรือรัฐบาลเศรษฐาจะไม่แตกต่างจากรัฐบาลประยุทธ์ ในเรื่องการทำธุรกิจการเมืองในระบอบทุนนิยมผูกขาด โดยใช้อำนาจรัฐเป็นเพียงเครื่องมือ