ก๋วยเตี๋ยวแฟรนไชส์ “หมี่หมูน้ำตก” กับ “บะหมี่หมูแดง” พบโซเดียมเกินเกณฑ์รับรองเมนูชูสุขภาพของกรมอนามัย หลังสภาผู้บริโภคร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อทดสอบโภชนาการ

เมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2568 สภาผู้บริโภค ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดแถลงข่าว “ผลการทดสอบสินค้าประเภทก๋วยเตี๋ยวที่จำหน่ายในลักษณะแฟรนไชส์ร้านก๋วยเตี๋ยว ด้านข้อมูลโภชนาการ” ตามโครงการเฝ้าระวังสินค้าด้วยการทดสอบเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าประเภทอาหารจานเดียว ที่อาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภค อาทิ พลังงาน โปรตีน ไขมัน น้ำตาล โซเดียม
การสำรวจครั้งนี้พิจารณาจากความนิยมของผู้บริโภคที่มีต่ออาหารจานเดียว ประเภทก๋วยเตี๋ยวที่ขายในแบบแฟรนไชส์ โดยเลือกเก็บตัวอย่างจากสองประเภท คือ “บะหมี่หมูแดงและเส้นหมี่หมูน้ำตก” จำนวน 19 ตัวอย่าง จาก 10 ร้าน แบ่งเป็นบะหมี่หมูแดง 9 ตัวอย่าง และเส้นหมี่หมูน้ำตก 10 ตัวอย่าง โดยใช้วิธีการซื้อโดยตรงจากหน้าร้าน 14 ตัวอย่าง และซื้อผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ 5 ตัวอย่าง ช่วงเวลาที่เก็บตัวอย่าง ตั้งแต่เวลา 11.25 – 19.14 น. ระหว่างวันที่ 5 – 8 มกราคม 2568 ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล

ได้แก่ 1. ฟลุ๊คบะหมี่เกี๊ยว – พระประแดง 2. ก๋วยเตี๋ยวเรือ โกฮับ แจ้งวัฒนะ 3. ราชา บะหมี่เกี๊ยว แจ้งวัฒนะ 4. ปัญจะรส อ่อนนุช 5. ป.ประทีป ประชาอุทิศ 6. หนานหยวน พระประแดง 7. ฟลุ๊คบะหมี่เกี๊ยว คลองสี่ รังสิต – นครนายก 8. ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว ลำลูกกา ปทุมธานี 9. สหชัย บะหมี่เกี๊ยวปู หมูแดง คลองสาม ปทุมธานี 10. ก๋วยเตี๋ยวแชมป์ นายฮั้งเพ้งคลองสี่ รังสิต – นครนายก 11. ก๋วยเตี๋ยวเรือ โกฮับ ช่องนนทรี 12. ชายสี่ บะหมี่เกี๊ยว รัชดาภิเษก 13. ก๋วยเตี๋ยวแชมป์ นายฮั้งเพ้ง รางน้ำ 14. ปัญจะรส ประดิษฐ์มนูธรรม 15. โกเด้ง โฮเด้ง พัฒนาการ 16. ราชา บะหมี่เกี๊ยว ดินแดง 17. โกเด้ง โฮเด้ง ลำลูกกาคลองสี่ 18. ป.ประทีป สุขุมวิท 50 19. สหชัย บะหมี่เกี๊ยว หมูแดง ประชาอุทิศต
และนำมาทดสอบหาปริมาณสารอาหารจากตัวอย่างก๋วยเตี๋ยวทั้งหมดเพื่อคำนวณออกมาเป็นข้อมูลโภชนาการ ผ่านห้องปฏิบัติการทดสอบที่ได้รับมาตรฐาน iso 17025 การสำรวจครั้งนี้ได้เลือกดูข้อมูลปริมาณพลังงาน น้ำตาลทั้งหมด ไขมันทั้งหมด โซเดียม โปรตีน และคาร์โบไฮเดรตทั้งหมด
ทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สรุปผลทดสอบข้อมูลโภชนาการอาหารจานเดียวประเภทก๋วยเตี๋ยว บะหมี่หมูแดงและเส้นหมี่หมูน้ำตก (แฟรนไชส์) ดังนี้
ปริมาณพลังงาน พบว่า
– จาก 19 ตัวอย่าง หมี่หมูน้ำตก ก๋วยเตี๋ยวเรือโกฮับ (ตย.ที่ 2) มีค่าพลังงานมากที่สุด คือ 500 กิโลแคลอรีต่อถ้วย (500 กรัม) โดยบะหมี่หมูแดงจากร้านราชาบะหมี่เกี๊ยว (ตย.ที่ 3) มีค่าพลังงานน้อยที่สุด คือ 190 กิโลแคลอรีต่อถ้วย (500 กรัม)
– ภาพรวม 19 ตัวอย่าง มีค่าพลังงานเฉลี่ยที่ 348 กิโลแคลอรีต่อถ้วย (500 กรัม) (ต่ำสุด 190 กิโลแคลอรี- สูงสุด 500 กิโลแคลอรี)** มี 8 ตัวอย่างที่มีพลังงานมากกว่าค่าเฉลี่ย และ มี 11 ตัวอย่าง มีพลังงานน้อยกว่าค่าเฉลี่ย
– หากนำมาเทียบกับเกณฑ์รับรองเมนูชูสุขภาพของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกำหนดปริมาณพลังงานและสารอาหารต่อ 1 คนกิน สำหรับประเภทอาหารจานเดียว คือ มีปริมาณพลังงานไม่เกิน 600 กิโลแคลอรี พบว่า ทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์
– เมื่อแยกประเภทก๋วยเตี๋ยว พบว่า บะหมี่หมูแดง (9 ตย.) มีค่าพลังงานเฉลี่ยที่ 336 กิโลแคลอรีต่อถ้วย (500 กรัม) (190-463 กิโลแคลอรี) ส่วนเส้นหมี่หมูน้ำตก (10 ตย.) ที่ค่าเฉลี่ยพลังงานสูงกว่า คือมีค่าเฉลี่ยที่ 360 กิโลแคลอรีต่อถ้วย (500 กรัม) (220-500 กิโลแคลอรี)
ปริมาณน้ำตาลทั้งหมด พบว่า
– จาก 19 ตัวอย่าง หมี่หมูน้ำตก ก๋วยเตี๋ยวเรือโกฮับ (ตย.ที่ 2) มีน้ำตาลมากที่สุดคือ 24 กรัม ต่อถ้วย (500 กรัม) ส่วนหมี่หมูน้ำตกจากร้านโกเด้ง โฮเด้ง (ตย.ที่17) มีน้ำตาลน้อยที่สุดคือ < 1 กรัมต่อถ้วย(500 กรัม)
– ภาพรวม 19 ตัวอย่าง ค่าเฉลี่ยปริมาณน้ำตาลทั้งหมด คือ 8.4 กรัมต่อถ้วย (500 กรัม) (ต่ำสุด 3 กรัม และสูงสุด 24 กรัม) มี 6 ตัวอย่าง มากกว่าค่าเฉลี่ย และ มี 13 ตัวอย่าง มีน้ำตาลน้อยกว่าค่าเฉลี่ย
– หากนำมาเทียบกับเกณฑ์รับรองเมนูชูสุขภาพของกรมอนามัย ปริมาณสารอาหารต่อ 1 คนกิน สำหรับประเภทอาหารจานเดียวซึ่งระบุว่า ควรมีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 2 กรัม พบว่า มี 3 ตัวอย่าง (ร้อยละ 16) ผ่านเกณฑ์ อีก 16 ตัวอย่าง (ร้อยละ 84) ไม่ผ่านเกณฑ์ มีปริมาณน้ำตาลมากกว่า 2 กรัม
– เมื่อแยกประเภทก๋วยเตี๋ยว พบว่า บะหมี่หมูแดง (9 ตย.) มีปริมาณน้ำตาลทั้งหมดเฉลี่ยที่ 5 กรัมต่อหน่วยบริโภค 500 กรัม (2-9 กรัม) ส่วนเส้นหมี่หมูน้ำตกมีค่าเฉลี่ยที่ 11 กรัมต่อหน่วยบริโภค 500 กรัม (0-24 กรัม)
ปริมาณไขมันทั้งหมด พบว่า
– จาก 19 ตัวอย่าง เส้นหมี่หมูน้ำตกจากร้านก๋วยเตี๋ยวเรือโกฮับ(ตย.ที่ 2) มีไขมันทั้งหมดมากที่สุดคือ 20 กรัมต่อถ้วย (500 กรัม) ส่วนบะหมี่หมูแดง จากร้านราชา บะหมี่เกี๊ยว (ตย.ที่ 3) มีไขมันทั้งหมดน้อยที่สุดคือ 4.5 กรัม ต่อถ้วย (500 กรัม)
– ภาพรวม 19 ตัวอย่าง ค่าเฉลี่ยปริมาณไขมันทั้งหมด ที่ 11 กรัมต่อถ้วย (500 กรัม) (ต่ำสุด 11 กรัม และสูงสุด 20 กรัม) โดยมี 1 ตัวอย่างมีปริมาณไขมันทั้งหมดเท่ากับค่าเฉลี่ย มี 7 ตัวอย่างมีปริมาณไขมันทั้งหมดมากกว่าค่าเฉลี่ยและ 8 ตัวอย่างมีปริมาณไขมันน้อยกว่าค่าเฉลี่ย
– หากนำมาเทียบกับเกณฑ์รับรองเมนูชูสุขภาพของกรมอนามัย ปริมาณสารอาหารต่อ 1 คนกิน สำหรับประเภทอาหารจานเดียวซึ่งระบุว่า ควรมีปริมาณไขมันไม่เกิน 10 กรัม พบว่า 11 ตัวอย่างผ่านเกณฑ์ (ร้อยละ 58) และมี 8 ตัวอย่างไม่ผ่านเกณฑ์ (ร้อยละ 42) มีปริมาณไขมันทั้งหมดมากกว่า 10 กรัม
– เมื่อแยกประเภทก๋วยเตี๋ยว พบว่า บะหมี่หมูแดง (9 ตย.) มีปริมาณไขมันทั้งหมดเฉลี่ยที่ 11 กรัมต่อหน่วยบริโภค 500 กรัม (4.5-18 กรัม) ส่วนเส้นหมี่หมูน้ำตกมีค่าเฉลี่ยที่ 12 กรัมต่อหน่วยบริโภค 500 กรัม (5-20 กรัม)
ปริมาณโซเดียม พบว่า
– จาก 19 ตัวอย่าง หมี่หมูน้ำตกจากร้านปัญจะรส (ตย.ที่ 14) มีปริมาณโซเดียมมากที่สุดคือ 3,820 มิลลิกรัม ต่อถ้วย (500 กรัม) ส่วนบะหมี่หมูแดง จากร้านสหชัย บะหมี่เกี๊ยว หมูแดงตัวอย่างที่ 19 มีปริมาณโซเดียมน้อยที่สุดคือ 1,340 มิลลิกรัม ต่อถ้วย (500 กรัม)
– จากภาพรวม 19 ตัวอย่าง ปริมาณโซเดียมเฉลี่ยอยู่ที่ 2,512 มิลลิกรัมต่อถ้วย (500 กรัม) (ต่ำสุด 1,340 กรัม และสูงสุด 3,820 กรัม) มี 10 ตัวอย่างที่มีปริมาณโซเดียมมากกว่าค่าเฉลี่ย และ 9 ตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมน้อยกว่าค่าเฉลี่ย
– หากนำมาเทียบกับเกณฑ์รับรองเมนูชูสุขภาพของกรมอนามัย ปริมาณสารอาหารต่อ 1 คนกิน สำหรับประเภทอาหารจานเดียวซึ่งระบุว่า ควรมีปริมาณโซเดียมไม่เกิน 700 มิลลิกรัม มาพิจารณาพบว่า ไม่ผ่านเกณฑ์ทุกตัวอย่าง (ร้อยละ 100)
– เมื่อแยกประเภทก๋วยเตี๋ยว พบว่า บะหมี่หมูแดง (9 ตย.) มีปริมาณโซเดียมทั้งหมดเฉลี่ยที่ 1,919 มิลลิกรัม ต่อหน่วยบริโภค 500 กรัม (1,340-3,713 มก.) ส่วนเส้นหมี่หมูน้ำตกมีค่าเฉลี่ยที่ 3,046 มิลลิกรัมต่อหน่วยบริโภค 500 กรัม (2,080-3,820 มก.)
ทัศนีย์ยังกล่าวถึงข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า หากรับประทานก๋วยเตี๋ยวจากแบรนด์เดียวกันแต่รู้สึกว่า รสชาติมีความแตกต่างกันก็อาจมาจากศิลปะการปรุงด้วย เช่น ตัวอย่างก๋วยเตี๋ยวจากร้านเดียวกัน ก็พบว่ามีปริมาณโซเดียมแตกต่างกันได้มาก มีสาเหตุได้ทั้งจากการปรุง การคลุกน้ำมัน ปริมาณน้ำซุปที่ใส่ เป็นต้น
“แบรนด์หนึ่งมีหลายสาขา เราทดสอบเพียงเจ้าละ 2 สาขา หากทดสอบแบรนด์หนึ่ง 4 – 5 ตัวอย่าง เราคิดว่าจะสามารถเห็นผลความแตกต่างได้มากกว่านี้” รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุ
ด้าน ธนพลธ์ ดอกแก้ว นายกสมาคมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย แนะผู้บริโภควิธีลดโซเดียมหากรับประทานก๋วยเตี๋ยวให้สั่งเป็นแบบแห้งจะทำให้ได้รับโซเดียมได้น้อยลง หรือใส่น้ำซุปน้อย ๆ แทน เพราะสารปรุงรสต่าง ๆ ละลายอยู่ในน้ำมากกว่าอยู่ในเส้น นอกจากนี้ควรชิมก่อนปรุง ลดปรุงเพิ่ม และไม่ซดน้ำซุปจนหมดถ้วยหรือสั่งผู้ขายว่าไม่ต้องใส่ผงชูรสเพิ่ม เพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับน้ำตาลและโซเดียมจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคไตจะทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมา เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง และโรคไตวายได้

ส่วน โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยฝากท้องไว้กับการรับประทานอาหารนอกบ้าน เพราะสะดวก รวดเร็ว ก๋วยเตี๋ยวในปัจจุบันมีแบบซองกึ่งสำเร็จรูปซึ่งมีฉลากโภชนาการให้ข้อมูลสารอาหารและส่วนประกอบต่าง ๆ กับประชาชน แต่ก๋วยเตี๋ยวแฟรนไชส์กลับไม่มีข้อมูลที่เป็นแนวทางการบริโภคอย่างปลอดภัยให้กับประชาชนได้
สภาผู้บริโภคจึงสนับสนุนการทดสอบก๋วยเตี๋ยวที่ขายในแบบแฟรนไชส์ เพื่อเป็นทางเลือกในการตัดสินใจเลือกรับประทาน มุ่งหวังนำเสนอเชิงบวกไม่ได้โจมตีกล่าวหา โดยข้อมูลทั้งหมดจะมีการส่งถึงผู้ประกอบการเพื่อเป็นข้อเสนอแนะในการปรับสูตรอาหารให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ ตามเกณฑ์มาตรฐานของ อย.
“ปัจจุบันประเทศไทยเรายังไม่มีกฎหมายควบคุมก๋วยเตี๋ยวที่ขายในแบบแฟรนไชส์ ขณะที่ธุรกิจแบบแบบอาหารแฟรนไชส์ของทั้งในและต่างประเทศมีเข้ามาจำนวนมาก หากมีกฎ ระเบียบเข้ามาควบคุมโดยเฉพาะเมื่อเกิดปัญหาผู้บริโภคย่อมสามารถได้รับการคุ้มครองได้“ โสภณ ระบุ

ทั้งนี้ หลังจากนี้ สภาผู้บริโภค และนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เตรียมทำความร่วมมือกับผู้ประกอบการร้านก๋วยเตี๋ยวแฟรนไชส์ เพื่อหารือปรับสูตรให้ลดสัดส่วนการปรุงรสน้ำซุปด้วยน้ำตาล เกลือ และซอสปรุงรสต่าง ๆ และเพิ่มความอร่อยกลมกล่อมด้วยน้ำซุปจากกระดูกหมู หัวไชเท้า และเครื่องเทศต่าง ๆ เพื่อลดปริมาณน้ำตาลและโซเดียม สำหรับเป็นทางเลือกเพื่อสุขภาพผู้บริโภค รวมถึงพัฒนาสูตรก๋วยเตี๋ยวให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานเมนูชูสุขภาพ หรือเมนูทางเลือกลดน้ำตาล ลดไขมัน ลดโซเดียม จากสำนักโภชนาการ กรมอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงจากกลุ่มโรค NCDs
ผู้บริโภคสามารถอ่านเพิ่มเติมเรื่อง “25 เมนูชูสุขภาพ ลดหวานมันเค็ม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข” ต่อได้ที่ https://nutrition2.anamai.moph.go.th/th/book/download/?did=204243&id=71530&reload= และรายละเอียดผลการทดสอบ ด้านโภชนาการ ได้ที่ เพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค