คดีฟ้องกลุ่มเอไอเอส ศาลตัดสินไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีกลุ่ม แจงไม่ระบุวิธีคำนวณค่าเสียหายตามเงื่อนไข

คดีฟ้องกลุ่มเอไอเอส ศาลตัดสินไม่อนุญาตให้ดำเนินคดีกลุ่ม ให้ดำเนินคดีสามัญแทน แจงไม่ระบุวิธีคำนวณค่าเสียหายตามเงื่อนไข แต่คดีสามัญไม่ต้องคำนวณ เพราะอยู่ในความรู้เห็นของผู้ประกอบการ

จากกรณีที่ ตัวแทนผู้บริโภคได้ยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม 3 ค่ายมือถือดัง เรื่องการคิดค่าโทรศัพท์แบบปัดเศษวินาทีเป็นนาที เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 เนื่องจากการคิดค่าบริการแบบดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคจ่ายเกินกว่าที่ใช้จริง และถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน กรณีฟ้องบริษัททรูยอมตกลงเยียวยาผู้บริโภค ส่วนอีกสองค่าย แม้จะมีการเจรจาแต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้ โดยการที่ฟ้องคดีแบบกลุ่ม ทนายความผู้ดูแลคดีให้เหตุผลว่า เป็นวิธีที่สามารถคุ้มครองผู้เสียหายจํานวนมากได้ในการดําเนินคดีเพียงครั้งเดียว และสร้างความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหายที่ไม่สามารถฟ้องคดีด้วยตัวเองได้ หรือได้รับความเสียหายจํานวนเพียงเล็กน้อยจนไม่คุ้มที่จะนำคดีสู่ศาลนั้น

วันที่ 3 สิงหาคม 2564 ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า ในการขอดำเนินคดีแบบกลุ่มคดีฟ้องกลุ่มเอไอเอส เรื่องการคิดค่าโทรศัพท์แบบปัดเศษวินาทีเป็นนาที ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่รับคำร้องอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มของโจทก์ และให้ดำเนินคดีแบบสามัญแทน โดยให้เหตุผลว่า การดำเนินคดีแบบกลุ่มมิได้เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินคดีสามัญ ไม่มีข้อมูลว่าสมาชิกในกลุ่มถูกเรียกเก็บค่าบริการเกินการใช้งานจริงไปเท่าไร อีกทั้งค่าเสียหายในคำขอบังคับไม่ได้ระบุหลักการและวิธีการคำนวณเพื่อชำระเงินให้แก่สมาชิก ส่วนในเรื่องของการคิดค่าบริการปัดเศษของบริษัทเอไอเอสนั้น ผู้ให้บริการมีโปรโมชั่นคิดค่าโทรเป็นวินาที ซึ่งสามารถเปลี่ยนโปรโมชั่นหรือผู้ให้บริการได้ตลอดเวลา

นอกจากนี้ ศาลอุทธรณ์ให้เหตุผลประเด็นค่าเสียหายในคำขอบังคับไม่ได้ระบุหลักการและวิธีการคำนวณเพื่อชำระเงินให้แก่สมาชิกว่า หากดำเนินคดีแบบสามัญในส่วนของเหตุผลของการคำนวณค่าเสียหาย ตัวผู้บริโภคไม่ต้องคำนวณ เพราะอยู่ในความรู้เห็นของผู้ประกอบการอยู่แล้ว แต่หากเป็นการดำเนินคดีแบบกลุ่ม ศาลให้โจทก์ชี้แจงมาให้หมดว่าค่าบริการที่เก็บเกินไปมีเท่าไร ดังนั้นหากดำเนินคดีแบบสามัญจะสะดวกกว่า เพราะผู้ประกอบการรู้ว่าผู้บริโภคแต่ละคนใช้เกินไปเท่าไร ไม่ต้องมีทนายในการดำเนินคดีผู้บริโภค และไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) กล่าวว่า จากการที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับคำร้องอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม และให้ดำเนินคดีแบบสามัญแทน ทางมูลนิธิฯ ต้องปรึกษากันต่อไป ว่าจะยื่นฟ้องแยกเป็นรายคดี หรือฟ้องแบบเป็นโจทก์ร่วมกัน ในกระบวนการแบบสามัญ สมมติมีสมาชิก 30-40 คน ก็อาจจะฟ้องแยก หรือถ้าเป็นโจทก์ร่วมกัน สมาชิกที่เหลืออาจจะเอาขึ้นมาเป็นโจทก์ทั้งหมด นอกจากโจทก์ 2 คนที่ฟ้องไปก็ต้องเปลี่ยนเป็นโจทก์ที่ 1 พร้อมกับพวกอีก 30 คน

“การดำเนินคดีแบบกลุ่มถ้าศาลอนุญาตแล้ว จะต้องประกาศเพื่อให้คนที่อยู่ในหลักเกณฑ์เหมือนกัน เช่น คนที่ใช้ไอเอเอสเหมือนกัน แต่ว่าไม่ได้มีรายชื่อในสมาชิก ก็จะมีสิทธิ์เป็นสมาชิกกลุ่มด้วย และถ้าศาลพิพากษาให้บริษัทเอไอเอสแพ้คดี และชำระเงินส่วนนี้ คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มสามารถขอบังคับคดีได้ แค่แสดงตนว่าใช้เบอร์เอไอเอส ตั้งแต่ช่วงไหนถึงช่วงไหน โดยที่ไม่ต้องฟ้องคดี ถ้าเข้าตามหลักเกณฑ์ก็ได้ค่าเสียหายด้วย” ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ กล่าว

ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าเป็นคดีสามัญคนที่ได้ประโยชน์คือคนที่ฟ้องเท่านั้น ถ้ากลุ่มนี้ชนะคดี คนที่อยากได้บ้างต้องไปฟ้องใหม่ ซึ่งยุ่งยากสำหรับคนที่ฟ้องคดีไม่เป็น อีกทั้งค่าเสียหายที่จะได้รับตามที่คำนวณแค่หลักร้อย ไม่คุ้มค่ากับที่ต้องไปศาลหลายครั้ง จึงต้องฟ้องคดีแบบกลุ่ม เพื่อให้สมาชิกมีตัวแทนไปดำเนินการแทน

ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ กล่าวในประเด็นผู้ให้บริการมีโปรโมชั่นแบบคิดค่าโทรเป็นวินาที ซึ่งสามารถเปลี่ยนโปรโมชั่นได้ตลอดเวลาว่า ผู้บริโภคไม่ได้ต้องการโปรโมชั่นวินาที แต่ต้องการให้ทุกโปรโมชั่นควรคิดเป็นวินาที ซึ่งโปรโมชั่นวินาทีมีอยู่นั้น มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทราบมาน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน และให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินคดีแบบกลุ่ม พ.ศ. 2559 ข้อ 26 และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 19/1 วรรคสอง ให้คืนค่าส่งหมายนัดสำเนาคำร้อง และสำเนาคำฟ้อง จำนวน 800 บาท โจทก์ทั้งสองได้รับยกเว้นตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ให้แก่โจทย์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นในชั้นนี้นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค