ขนมขบเคี้ยวประเภท “ถั่ว” โดยส่วนมากเป็นที่นิยมของคนไทย เนื่องจากเป็นของกินเล่นที่อร่อยเคี้ยวเพลินและในถั่วแต่ละชนิดนั้น ยังคงมีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย แต่รู้หรือไม่ว่า แม้จะเป็นถั่วที่อุดมไปด้วยประโยชน์อย่างมากมาย แต่ก็ต้องควรบริโภคอย่างระมัดระวังในเรื่องของปริมาณ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ขายอยู่ในตลาดมักเป็น “ถั่วอบเกลือ” ดังนั้น จึงควรระวังในเรื่องของปริมาณโซเดียมที่สูง ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อสุขภาพได้
.
นิตยสารฉลาดซื้อ ในโครงการสร้างเสริมความเข็มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. จึงได้สุ่มเลือกผลิตภัณฑ์ “ถั่วอบเกลือ” ได้แก่ ถั่วลิสง ถั่วลันเตา ถัวปากอ้า(ถั่วฟาบา) และถั่วเขียวเลาะเปลือก ที่มีขายตามท้องตลาด จำนวน 13 ตัวอย่าง 6 ยี่ห้อ เมื่อเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 มาสำรวจฉลากเพื่อเปรียบเทียบปริมาณโซเดียมว่ายี่ห้อไหนมีมากน้อยกว่ากัน รวมถึงปริมาณโปรตีน พลังงานและราคานำเสนอเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคไว้ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อต่อไป
.
จากการสำรวจนั้น พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณโซเดียมต่อ 1 หน่วยบริโภคมากที่สุด คือ ยี่ห้อ โก๋แก่ ถั่วลิสงเยื่อแดงโรยเกลือ และพี่รี่ ถั่วลันเตาอบกรอบ รสดั้งเดิม มีปริมาณอยู่ที่ 250 มิลลิกรัม ส่วนยี่ห้อที่มีปริมาณน้อยที่สุด ได้แก่ ทองการ์เด้น ถั่วลิสงอบเกลือ คือ 20 มิลลิกรัม (แต่มีโพแทสเซียม 320 มิลลิกรัม/หน่วยบริโภค)
.
ในส่วนของปริมาณโปรตีนต่อ 1 หน่วยบริโภค มากที่สุดคือ ยี่ห้อมารูโจ้ ถั่วลิสงอบเกลือ ผสมเกลือหิมาลายันปริมาณ 18 กรัม ส่วนยี่ห้อทองการ์เด้น ถั่วปากอ้าอบเกลือ และถั่วฟาบาโรยเกลือ มีน้อยที่สุดคือ 6 กรัม
.
ทั้งนี้ ในเรื่องของปริมาณของยี่ห้อทองการ์เด้น ถั่วลันเตาเขียวอบเกลือ มีการระบุปริมาณต่อ 1 หน่วยบริโภคไว้มากที่สุดคือ 45 กรัม ส่วนยี่ห้อทองการ์เด้น ถั่วฟาบาโรยเกลือ ระบุไว้น้อยที่สุดคือ 25 กรัม
.
นอกจากนี้ฉลาดซื้อยังพบว่ามีข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือ การแสดงฉลากโภชนาการของ ยี่ห้อ มารูโจ้ที่พบว่า การแสดงปริมาณค่าพลังงานในฉลากอาจจะให้ข้อมูลที่ผิดพลาด เนื่องจากทางด้านหลังของซอง ได้ระบุค่าพลังงาน ต่อหน่วยบริโภค 30 กรัม คือ 520 กิโลแคลอรี แต่ในสัญลักษณ์ด้านหน้า(รูปกระบอก) ระบุว่า ทั้งซอง (ปริมาณบรรจุ 160 กรัม) ซึ่งแบ่งบริโภค 5 ครั้งนั้น มีพลังงานรวม 1040 กิโลแคลอรี หมายความว่า เมื่อหารด้วย 5 ค่าพลังงานต่อหน่วยบริโภคจะเท่ากับ 280 กิโลแคลอรีเท่านั้น และเมื่อเทียบกับยี่ห้ออื่นก็พบว่ามีความสอดคล้องกันว่าน่าจะเป็นการแสดงฉลากผิดพลาด ทำให้ข้อสังเกตส่งผลถึงเรื่องปริมาณของโซเดียมด้วย เพราะด้านหน้าของซองระบุปริมาณโซเดียม 130 มิลลิกรัมหากนำมาหารด้วยหน่วยบริโภคคือ 5 ครั้ง ควรมีค่าโซเดียมในฉลากโภชนาการเพียงแค่ 26 มิลลิกรัมแต่ในฉลากโภชนาการด้านหลังกลับระบุว่า 65 มิลลิกรัม
.
ข้อแนะนำจากฉลาดซื้อในการบริโภค
1.ผู้บริโภคควรพิจารณาข้อมูลบนฉลากโภชนาการก่อนซื้อทุกครั้ง โดยเฉพาะหากซื้อให้เด็กและผู้สูงอายุ
2.ในแต่ละวัน ผู้ใหญ่ไม่ควรกินขนมขบเคี้ยวที่มีโซเดียมเกิน 200 มิลลิกรัม เด็กอายุ 6-8 ปี ไม่ควรเกิน 32.5-95 มิลลิกรัม อายุ 9-12 ปี ไม่ควรเกิน 40-117.5 มิลลิกรัม อายุ 13-15 ปี ไม่ควรเกิน 50-150 มิลลิกรัม หรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของปริมาณโซเดียมที่ควรได้รับต่อวัน และไม่ควรกินขนมขบเคี้ยวเกินวันละ 2 มื้อ
3.หากซื้อถุงใหญ่ แนะนำให้แบ่งใส่ภาชนะแต่พอดี แล้วปิดถุง เก็บไว้ไกลมือ จะได้ไม่เผลอหยิบเข้าปากเคี้ยวเพลินจนหมดถุง เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินความจำเป็น
4.ถั่วลิสงมีโปรตีนสูงสุด รองลงมาคือ ถั่วปากอ้า ถั่วเขียวเลาะเปลือก และถั่วลันเตา ตามลำดับ
5.ถั่วปากอ้ามีเส้นใยอาหารสูงสุด รองลงมาคือ ถั่วลันเตา ถั่วลิสง และถั่วเขียวเลาะเปลือก ตามลำดับ
.
อ่านข้อมูลอื่นๆจากบทความต่อได้ที่ : ฉบับที่ 261 โซเดียมในถั่วอบเกลือ (1) https://chaladsue.com/article/4191