ดอกเบี้ยไม่จ่าย งบการเงินไม่มี กลุ่มผู้ถือหุ้นกู้ ‘STARK’ รวมตัวร้อง ก.ล.ต. ถึงเวลาลงดาบ

สภาผู้บริโภค เรียกร้อง ก.ล.ต. ตรวจสอบและเยียวยาผู้ถือหุ้นกู้ ‘ STARK’ เรียกความเชื่อมั่นให้นักลงทุน กังวลซ้ำรอยกรณีหุ้น EARTH ที่สร้างความเสียหายหนักให้นักลงทุน พร้อมเสนอหน่วยงานกำกับเข้มธุรกิจตลาดหลักทรัพย์ – บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้าไปลงทุน

จากกรณีบริษัท สตาร์คคอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่รู้จักกันในตลาดหุ้นในชื่อว่า “หุ้น STARK” (สตาร์ค) ซึ่งเป็นบริษัทประกอบธุรกิจด้านสายไฟ ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ขอเลื่อนส่งงบการเงินประจำปี 2565 จนปัจจุบันมีการขอเลื่อนทั้งหมด 3 รอบ รวมทั้งก่อนหน้านี้บริษัทฯ ยังมีพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายไม่โปร่งใสในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งสภาพการซื้อขายที่ผิดปกติ การยกเลิกสัญญาซื้อขายหุ้น การส่งงบการเงินประจำปี 2565 ไม่ทันกำหนด รวมถึงการประกาศลาออกของกรรมการบริหารทั้งหมด และต่อมาบริษัทฯ ได้ออกมายอมรับว่าอาจมีการทุจริตขึ้นภายในองค์กร จนทำให้ ตลท. ขึ้นสถานะห้ามซื้อขายหุ้นดังกล่าวในวันที่ 1 มีนาคม 2566 เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อนักลงทุนในตลาด อย่างไรก็ตาม

ขณะนี้บริษัทสตาร์คยังมีหุ้นกู้ที่ต้องชำระให้กับนักลงทุนถึง 5 รุ่น เป็นจำนวนเงินรวมกว่า 9,200 ล้านบาท การที่บริษัทฯ ไม่สามารถส่งงบการเงินได้ตามกำหนดและไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้จนถึงปัจจุบัน ทำให้นักวิเคราะห์ประเมินว่าบริษัทอาจเข้าข่ายผิดนัดชำระหนี้ (Default Payment) และทำให้นักลงทุนที่เข้าไปซื้อหุ้นกู้เกิดความกังวลว่าจะได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากนั้น (อ้างอิง : https://www.bangkokbiznews.com/finance/stock/1072157)

วันนี้ (10 มิถุนายน 2566) จิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร สภาผู้บริโภค มีความเห็นว่า กรณีที่เกิดขึ้นหากเป็นความเสี่ยงทั่วไปจากการลงทุนนั้น คาดว่านักลงทุนส่วนใหญ่ยังยอมรับกับสภาพที่เกิดขึ้นได้ แต่หากเป็นความเสี่ยงจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่มีเจตนาทุจริตและพยายามนำเงินของนักลงทุนไปดำเนินการในรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่สุจริต ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่ไม่ควรให้นักลงทุนต้องแบกรับความเสี่ยงในส่วนนี้

ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในฐานะหน่วยงานที่มีอำนาจเต็มที่ในการกำกับดูแลตลาดหลักทรัพย์ เร่งออกมาตรวจสอบและเยียวยาความเสียหายจากกรณีดังกล่าว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคที่เข้าไปลงทุน โดยต้องออกมาตรการแก้ไขปัญหาที่เป็นขั้นตอนเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและต้องทำให้สังคมเห็นว่า ก.ล.ต. สามารถกำกับดูแลหรือบังคับใช้กฎหมายกับบริษัทที่เข้าข่ายไม่สุจริตหลอกลวงอย่างเข้มข้นและทันต่อสถานการณ์ รวมถึงดำเนินการตามกฎหมายกับบริษัทหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ทำผิดกฎหมายในตลาดหลักทรัพย์

ที่ผ่านมา ก.ล.ต. มีบทเรียนในลักษณะนี้มาแล้วมาจากหุ้นหลาย ๆ ตัวที่เกิดกรณีทำให้นักลงทุนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก ตัวอย่างเช่น กรณีหุ้นของบริษัท เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ จำกัด (มหาชน) หรือหุ้นที่เรียกว่า EARTH (เอิร์ธ) ที่มีลักษณะไม่สามารถส่งงบการเงินได้ตามกำหนดและผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้กับสถาบันการเงิน กระทั่ง ตลท. ขึ้นเครื่องหมายแสดงการห้ามซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียน เพื่อไม่ให้นักลงทุนซื้อขายหุ้นตัวดังกล่าว

จึงเห็นว่า ก.ล.ต. ต้องให้ความสำคัญและมองถึงผลกระทบในทุกด้าน หากพบช่องโหว่ควรรีบแก้ไขทันทีเพื่อไม่ให้มีผลกระทบในวงกว้าง เพราะหากสุดท้ายนักลงทุนเกิดความกังวลจนไม่กล้าเข้าไปรับความเสี่ยงในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งอาจเป็นผลด้านลบต่อหุ้นกู้ของหลายๆ บริษัทที่ออกมาใหม่อาจขายไม่หมด อาจทำให้ไม่มีเงินไปชำระหนี้ทางการค้าและอาจทำให้เข้าสู่ภาวะล้มละลาย ที่อาจส่งผลถึงขั้นกระทบไปถึงเศรษฐกิจของประเทศพังลงได้ เนื่องจากไม่เกิดการสร้างงาน ภาวะลูกจ้างถูกเลิกจ้าง เพราะบริษัทต่าง ๆ ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไม่ได้

จิณณะ ระบุอีกว่า ที่ผ่านมาบริษัทสตาร์คได้มีการจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุน มีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินต่าง ๆ หรือการออกหุ้นกู้ เป็นจำนวนรวมกว่าหมื่นล้านบาท เมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับหุ้นกู้ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ บริษัทฯ กลับไม่มีคำตอบให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับจำนวนเงินที่มีการดำเนินการไปข้างต้น แต่กลับแจ้งว่ามีการทุจริตภายในองค์กร ดังนั้น จึงเกิดคำถามว่าเกิดการทุจริตขึ้นตั้งแต่เมื่อใดและสาเหตุใดที่ทำให้ให้บริษัทสตาร์คไม่สามารถส่งงบการเงินให้กับ ตลท. เพราะจากข้อมูลที่มีการเผยแพร่ออกมาพบว่าผู้สอบบัญชี (Auditor) รายใหม่คือบริษัท ไพร้ซวอเตอร์ เฮาส์คูเปอร์ส (PWC) ที่เข้ามาดำเนินการตรวจสอบบัญชีงบการเงินในปี 2565 ไม่สามารถรับรองจนทำให้ไม่สามารถส่งการเงินภายในกรอบเวลาของกฎหมาย

และต่อมา ก.ล.ต. สั่งให้บริษัทสตาร์คจัดทำรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) จากเหตุดังกล่าวทำให้เกิดคำถามอีกว่าการตรวจสอบบัญชีงบการเงินก่อนหน้านั้น คือ บริษัท ดีลอยท์ (Deloitte) เหตุใดจึงไม่พบความน่าสงสัยหรือไม่พบสาเหตุเกี่ยวกับความทุจริตเหล่านี้ หรืออาจเป็นไปได้หรือไม่ว่าผู้สอบบัญชีรายเก่าอาจมีส่วนรู้เห็นกับการทุจริตร่วมกับผู้บริหารชุดเก่าของบริษัทสตาร์ค หรือไม่ เช่น การตกแต่งบัญชีงบการเงิน หรือการทำให้เห็นว่าบริษัทฯ มีผลประกอบการที่ดีและน่าลงทุน

ข้อสงสัยดังกล่าวผู้บริโภคเองไม่สามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงเองได้ เป็นหน้าที่โดยตรงของ ก.ล.ต. ที่จะต้องดำเนินการให้เด็ดขาดและรวดเร็วเพื่อค้นหาความจริง หากพบว่ามีการกระทำความผิดใดเกิดขึ้น จะต้องลงโทษอย่างจริงจัง ต่อผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดและเร่งด่วน เนื่องจากคดีที่เป็นความผิดต่อ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ มีอายุความที่สั้น โดยเฉพาะความรับผิดทางแพ่งที่ ก.ล.ต.ไม่สามารถดำเนินการแทนผู้บริโภคได้ แต่การดำเนินการเรียกร้องทางแพ่งผู้บริโภคจำเป็นต้องอาศัยข้อเท็จจริงในส่วนของการตรวจสอบและข้อมูลจาก ก.ล.ต.

ดังนั้น ก.ล.ต. จำต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจนสำหรับการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ รวมถึงต้องทำงานในเชิงรุกมากขึ้นเนื่องจาก ก.ล.ต. มีบทเรียนหลายครั้งแล้วที่ผ่านมาจากหลายบริษัทจดทะเบียนที่มีพฤติการณ์เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคและเป็นอันตราต่อตลาดทุนด้วย ก.ล.ต.ควรมีมาตรการและบังคับใช้กฎหมายในเชิงป้องกันมากกว่าตามแก้ปัญหา

“เราในฐานะผู้บริโภคที่เดินเข้าไปลงทุนในตลาดหลักทรัพย์คงไม่มีทางที่จะรู้ได้ว่าบริษัทใด หรือใครที่จะหลอกลวง ซึ่งหน้าที่ของคนที่ต้องรู้ให้ได้ก่อนเรา คือ ก.ล.ต. และเมื่อรู้แล้วต้องพยายามจัดการกับผู้ที่ทำผิดกฎหมายหรือผู้ที่ทำไม่ถูกตามเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เข้าไปลงทุนโดยสุจริต” จิณณะ ระบุ

ส่วนกรณีการเข้าตลาดหุ้นด้วยกระบวนการที่เรียกว่า Backdoor Listing (การจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แบบทางอ้อม) แม้จะเป็นวิธีการที่กฎหมายรับรองว่าสามารถทำได้ แต่ที่ผ่านหลายบริษัทที่ Backdoor Listing มักมีปัญหาและสร้างความเสียหาย มีการสร้างภาพสร้างเรื่องราวให้ดูมีความน่าเชื่อถือ คล้ายกับกรณีของ EARTH ดังนั้น ก.ล.ต.ไม่ควรมองข้ามบทเรียนเหล่านี้ ควรมีมาตรการ การเฝ้าระวัง และการบังคับใช้กฎหมายในเชิงป้องกันมากขึ้น ส่วนกรณีของบริษัทสตาร์คมีข้อสังเกตที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ งบการเงิน จะพบว่าเจ้าหนี้และลูกหนี้ทางการค้ามีความผิดปกติ ไม่มีความสอดคล้องกับสต็อกสินค้าที่มีอยู่ จึงทำให้เกิดข้อสังสัยได้ว่าสินค้าอาจไม่มีอยู่จริง และความเป็นเจ้าหนี้ – ลูกหนี้ที่นำเสนอออกมาก็อาจไม่มีอยู่จริงหรือเป็นเท็จ หรือในความเป็นจริงคือทุกอย่างถูกสร้างขึ้นมาเพื่อดึงดูดความสนใจให้กับนักลงทุนแต่ไม่มีอยู่จริง เป็นเช่นนั้นใช่หรือไม่

อย่างไรก็ตาม หุ้น STARK ได้ดึงดูดบรรดาบริษัทต่าง ๆ สถาบันการเงินชั้นนำเข้ามาลงทุนในหุ้นตัวนี้ได้เป็นจำนวนมาก โดยที่ถามว่าบรรดากองทุนหรือสถาบันการเงินทั้งหลายนำเงินมาจากที่ใด การนำเงินจากประชาชนที่นำมาลงทุน หรือผ่านตราสารหนี้ หรือผ่านการระดมทุน เป็นเงินที่มาจากประชาชน มีผลกระทบมาก ส่วนใหญ่ผู้ที่เลือกเข้ามาลงทุนในกองทุนหรือตราสารหนี้เหล่านี้เป็นคนวัยเกษียณที่มีความรู้สึกว่าการลงทุนในลักษณะนี้ได้รับดอกเบี้ยสูงกว่าการฝากเงินโดยทั่วไป จึงได้นำเงินมาลงทุนเพื่อยังชีพในยามเกษียณ

“เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ทำให้เงินต้นหายหมด รวมทั้งยังไม่ได้รับดอกเบี้ยอีกด้วย เท่าที่ทราบคือมีผู้เสียหายบางรายถึงขั้นอยากฆ่าตัวตาย เพราะคาดหวังว่าจะนำเงินเกษียณที่นำไปลงทุนเพิ่มเติมมาดูแลตัวเองยามชรา แต่เมื่อเป็นแบบนี้จึงส่งผลกระทบกับทั้งชีวิตของเขาเลย” อนุกรรมการด้านการเงินฯ สภาผู้บริโภค ระบุ

สุดท้าย อนุกรรมการด้านการเงินฯ สภาผู้บริโภค ระบุทิ้งท้ายว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือในการเข้าไปลงทุนต่าง ๆ เป็นอีกสิ่งที่สังคมควรจับตามองและตั้งคำถามด้วยเช่นกัน โดยเห็นว่า ก.ล.ต. ควรออกมาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมบริษัทผู้ประเมินและจัดอันดับความน่าเชื่อถือเครดิตโดยสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ที่ในไทยนั้นมีเพียง 2 บริษัทเท่านั้น เพราะข้อมูลจากบริษัทเหล่านี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนใช้เพื่อตัดสินใจเข้าไปลงทุนในบริษัทต่าง ๆ แต่ถ้าหากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อไม่พยายามประเมินหรือไม่ทำหน้าที่ตามวิชาชีพ รวมถึง ก.ล.ต. ที่อาจไม่มีการกำกับดูแลที่รัดกุมมากพออาจทำให้มีผลเสียกับนักลงทุนที่เชื่อถือการจัดลำดับความน่าเชื่อถือเหล่านี้และนำไปเลือกการลงทุนได้

อย่างไรก็ตามหนึ่งในบริษัทที่จัดอันดับความน่าเชื่อถือ ได้แก่ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (TRIS Rating) ที่เป็นบริษัทในการจัดอันดับหุ้น STARK ที่เกิดปัญหาในขณะนี้ และที่ผ่านมาบริษัททริสเรตติ้งได้เคยจัดอันดับกรณีหุ้น EARTH หรือหุ้นของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยอาจมีการจัดอันดับออกมาเป็นอย่างดี แต่สุดท้ายหุ้นของบริษัททั้งสองเกิดปัญหาและส่งผลให้นักลงทุนหลายรายได้รับผลกระทบ จึงขอให้ ก.ล.ต. ออกมาตรการกำกับดูแลและตรวจสอบบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่มีอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ไทยด้วย

ทั้งนี้ ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมาได้กลุ่มผู้เสียหายจำนวนหนึ่งเข้ามาปรึกษาหารือและขอความช่วยเหลือจากสภาผู้บริโภค และในวันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน 2566 กลุ่มผู้เสียหายกรณีหุ้น STARK จะเข้าเรียกร้องต่อ ก.ล.ต. เพื่อขอให้เร่งตรวจสอบและขอให้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ณ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถนนวิภาวดีรังสิต ตั้งแต่เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป

#สภาองค์กรของผู้บริโภค #สภาผู้บริโภค #ผู้บริโภค

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค