ตำรวจเตือนภัยแก๊งรับสมัครงาน ระวังตกเป็นเหยื่อมุกใหม่งานทดสอบนอนโรงแรม

แก๊งมิจฉาชีพยังคงมีช่องทางใหม่ๆในการล่อลวงประชาชน ล่าสุดตำรวจแถลงเตือนมุกใหม่เป็นการรับสมัครงาน “ทดสอบนอนโรงแรม” มาดูวิธีการล่อเหยื่อของมิจฉาชีพ และแนวทางป้องกันตนเอง

ตัวอย่างประกาศรับสมัครงานทางสื่อโซเชียลมีเดียของมิจฉาชีพ
กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ฝาก เตือนภัยมิจฉาชีพ หลอกลวงประชาชนรูปแบบใหม่ให้ ทำภารกิจออนไลน์ หรือหลอกให้โอนเงิน เพื่อหารายได้จากการทำกิจกรรม ล่าสุดเป็นงานรีวิว “ทดสอบนอนโรงแรม” พอเหยื่อตายใจก็จะเข้าสู่รูปแบบคลาสสิคคือ หลอกให้โอนเงินเพิ่มเรื่อยๆ แล้วถอนคืนไม่ได้ ก่อนตัดช่องทางติดต่อหลบหนีไป

พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ โฆษกบช.สอท.เปิดเผยวานนี้ (17 เม.ย.) ว่า ได้รับรายงานจากการตรวจสอบในระบบการรับแจ้งความออนไลน์พบว่า มีผู้เสียหายหลายรายที่ถูกมิจฉาชีพชักชวนหลอกลวงให้ทำงาน หรือทำภารกิจออนไลน์เพื่อหารายได้เสริม ผ่านการโฆษณาตามช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ โดยเฉพาะการชักชวนรับสมัครผู้ทดสอบการนอนโรงแรม ผ่านการโฆษณาเป็นคลิปวิดีโอสั้นใน Facebook, TikTok และ Instagram อ้างเป็นงานสบาย ได้ผลตอบแทนสูงกว่า 30,000 บาทต่อเดือน หรืออ้างว่าจะได้ค่าจ้างจากการนอนหลับจริงกว่า 2,000 บาทต่อคืน รวมถึงจะได้รับสวัสดิการ ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายต่างๆ ฟรี

แต่เมื่อผู้เสียหายสนใจ มิจฉาชีพจะให้ทดสอบแสดงความเห็น หรือรีวิวโรงแรมต่างๆ ก่อนที่จะได้รับงานทดสอบการนอนที่โรงแรมจริง เพื่อประเมินว่าผู้เสียหายมีความสามารถเพียงพอหรือไม่ หากผู้เสียหายแสดงความเห็นเสร็จแล้ว จะได้รับเงินจริง 50 บาทต่องาน จากนั้น จะให้เข้ากลุ่มในแอปพลิเคชัน Telegram แจ้งว่ามีงานภารกิจเสริมให้ทำ คราวนี้หลอกลวงให้ลงทุนเทรดหุ้น อ้างว่าจะได้รับกำไรมากกว่านี้ กระทั่งผู้เสียหายหลงเชื่อโอนเงินไปร่วมลงทุน โดยในครั้งแรกจะลงทุนด้วยจำนวนเงินที่ไม่มาก และได้รับกำไรจากการลงทุนกลับคืนมาจริง

แต่หลังจากนั้น มิจฉาชีพก็จะหลอกให้โอนเงินมาลงทุนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ อ้างเหตุผลต่างๆ ผู้เสียหายเชื่อว่าถูกหลอกลวง และได้รับความเสียหาย จึงมาแจ้งความผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ให้ดำเนินคดีกับมิจฉาชีพตามกฎหมายต่อไป

พ.ต.อ.กฤษณะ ระบุว่า ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร., พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. ซึ่งรับผิดชอบงานในด้านการป้องกันปราบปราม ได้ให้ความสำคัญ และมีความห่วงใยต่อภัยการหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงประชาชนให้ทำภารกิจ หรือทำงานออนไลน์เพื่อหารายได้เสริม

ทั้งนี้ ได้มีการกำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งวางมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดในโลกออนไลน์ทุกรูปแบบอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง เพราะถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน

โปรดสังเกตรูปแบบการล่อลวง
โฆษก บช.สอท. กล่าวอีกว่า นอกจากการหลอกลวงในลักษณะดังกล่าวแล้ว ยังพบว่ามีหลอกลวงในลักษณะอื่นๆ ที่คล้ายกันอีก เช่น

  • การหลอกลวงให้กดไลก์ (Like) กดแชร์ (Share) ดูคลิปวิดีโอจากยูทูบ (YouTube) กดรับออร์เดอร์สินค้า รีวิวสินค้า พับถุงกระดาษ ร้อยลูกปัด หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ตามแต่ที่มิจฉาชีพออกอุบาย โดยการประกาศเชิญชวนโฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Instagram และ Tiktok เป็นต้น หรือการส่งความสั้น (SMS) ไปยังเหยื่อโดยตรง ให้กดลิงก์เพิ่มเพื่อน แล้วเข้ากลุ่มทำงานที่มิจฉาชีพสร้างขึ้นมา
  • ซึ่งรูปแบบที่สังเกตได้ก็คือ ในช่วงแรกจะได้เงินคืนมาเล็กน้อย แต่หลังจากนั้น มิจฉาชีพก็จะให้ทำภารกิจพิเศษ หลอกให้เหยื่อโอนเงินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ตามระดับภารกิจ อาศัยข้อเท็จจริงที่ว่า เหยื่อมักเสียดายเงินที่เคยโอนไปก่อนหน้านี้ อยากได้เงินทั้งหมดคืน ก็จะหลงเชื่อโอนเงินไปเพิ่มอีกหลายครั้ง ซึ่งมิจฉาชีพก็จะมีข้ออ้างต่างๆ เช่น อ้างว่าทำผิดขั้นตอน หรือยอดเงินในระบบไม่เพียงพอ เป็นค่าเอกสาร ค่าปิดบัญชี ค่าภาษี เป็นต้น
  • นอกจากนี้ ยังสร้างความน่าเชื่อถือโดยให้หน้าม้าในกลุ่มไลน์แสดงหลักฐานปลอมว่าตนได้รับเงินจริง กระทั่งเมื่อเหยื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกลวงก็จะปิดการติดต่อหลบหนีไป เพราะฉะนั้นการทำกิจกรรม หรือธุรกรรมใดๆ บนโลกออนไลน์ต้องรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพและมีสติอยู่เสมอ

7 ข้อแนะนำแนวทางป้องกันตนเอง

พร้อมกันนี้ ตำรวจได้ฝากเตือนถึงแนวทางการป้องกันตนเองจากการถูกหลอกลวงหารายได้จากการทำกิจกรรมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ดังนี้

  1. เมื่อพบคำเชิญชวนให้ทำงานออนไลน์ ผ่านทางข้อความสั้น (SMS) หรือประกาศ โฆษณาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook, Instagram หรือ Tiktok อย่าเข้าไปติดต่อสมัครทำงานเป็นอันขาด มักจะมีการแอบอ้างสัญลักษณ์ของหน่วยงาน หรือบริษัทที่เกี่ยวข้องมาเพิ่มความน่าเชื่อถือ
  2. หลีกเลี่ยงข้อเสนอที่ฟังดูดี หรือมีผลตอบแทนสูง ทำง่าย มีขั้นตอนไม่ซับซ้อน
  3. หากต้องการจะทำงานจริงๆ ให้ปรึกษา สายด่วนของตำรวจไซเบอร์ ที่หมายเลข 1441 หรือ 08-1866-3000 เพื่อปรึกษา สอบถามว่างานดังกล่าวเข้าข่ายหลอกลวงเป็นมิจฉาชีพหรือไม่
  4. หากพบว่ามีการให้โอนเงินมัดจำ หรือเงินลงทุน หรือสำรองเงินใดๆ ก่อน สันนิษฐานได้ทันทีว่ากำลังโดนมิจฉาชีพหลอกลวง อย่าโอนเงินไปเด็ดขาด
  5. ไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงินใดๆ มิจฉาชีพมักให้เหยื่อส่งหลักฐาน ข้อมูลส่วนบุคคล อ้างว่าใช้ในการสมัครงาน เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
  6. ระมัดระวังการโอนผ่านบัญชีของบุคคลธรรมดา โดยควรตรวจสอบหมายเลขบัญชีธนาคาร หรือชื่อนามสกุลเจ้าของบัญชี ก่อนโอนเงินทุกครั้งว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่ ผ่าน https://www.blacklistseller.com หรือ https://www.chaladohn.com เป็นต้น
  7. ช่วยกันตรวจสอบ สอดส่องบุตรหลาน บุคคลใกล้ชิด ว่ามีพฤติกรรมทางการเงินผิดปกติหรือไม่ เพื่อจะได้สามารถให้คำปรึกษา ยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ทันท่วงที
ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค