สภาผู้บริโภคเปิดศึกเลือกตั้งกรรมการชุดที่ 2 สภาผู้บริโภค ดัน “บุญยืน ศิริธรรม” เป็นประธานชุดที่ 2 นำทัพการคุ้มครองผู้บริโภคโดยประชาชน เดินหน้าผลักดันนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคยุคดิจิทัล เผยผลงาน 4 ปีแรก ช่วยผู้บริโภคกว่า 48,000 ราย มูลค่าเยียวยากว่า 675 ล้านบาท
วันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 สภาผู้บริโภคดำเนินจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการนโยบายสภาองค์กรของผู้บริโภค ชุดที่ 2 โดยมีวาระ 4 ปี ระหว่างพ.ศ. 2568 -2572 จำนวน 17 ตำแหน่ง ประกอบด้วย ประธานสภาผู้บริโภค รองประธานสภาผู้บริโภค กรรมการสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ ใน 8 ด้าน (การเงินและการธนาคาร การขนส่งและยานพาหนะ อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ บริการสุขภาพ สินค้าและบริการทั่วไป การสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ และบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม) และกรรมการสัดส่วนองค์กรของผู้บริโภค เขตพื้นที่ 7 เขต (ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร )
การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปตามข้อบังคับสภาผู้บริโภค พ.ศ. 2565 โดยมีผู้ได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรสมาชิกทั้งสิ้น 37 คน ซึ่งจะมาสืบทอดภารกิจสำคัญเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จากคณะกรรมการชุดแรกที่กำลังจะหมดวาระในวันที่ 5 มกราคม 2568
ทั้งนี้ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คณะกรรมการชุดแรกได้สร้างผลงานที่โดดเด่น โดยสามารถช่วยเหลือผู้บริโภคที่เสียหายจากการโดนละเมิดสิทธิได้มากถึง 48,101 ราย ซึ่งได้รับการเยียวยาคิดเป็นมูลค่ามากกว่า 675 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันนโยบายสำคัญเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคกว่า 64 เรื่อง
ตัวอย่างนโยบายสำคัญที่ผ่านการผลักดัน ได้แก่ การสนับสนุนค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ขับเคลื่อนเรื่องการควบรวมค่ายมือถือ เน็ตบ้าน มาตรการหน่วงเงินโอน (ช้าสู้ภัยโจร) สิทธิเปิดก่อนจ่ายของซื้อของออนไลน์แบบจ่ายเงินปลายทาง ฯลฯ
ผลจากการเลือกตั้ง องค์กรสมาชิกจำนวน 340 องค์กร ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้ง 286 องค์กร ได้ข้อสรุปผลการนับคะแนนเสียง มีผู้ชนะการเลือกตั้ง 17 ตำแหน่ง ดังนี้
ตำแหน่งหลัก
- ประธานสภาผู้บริโภค – บุญยืน ศิริธรรม
- รองประธานสภาผู้บริโภค – นิมิตร์ เทียนอุดม
กรรมการสัดส่วนผู้เชี่ยวชาญ 8 ด้าน
- การเงินและการธนาคาร – นวลน้อย ตรีรัตน์
- การขนส่งและยานพาหนะ – อนุชา เศรษฐเสถียร
- อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย – จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ
- อาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ – ภาณุโชติ ทองยัง
- บริการสุขภาพ – สุรีรัตน์ ตรีมรรคา
- สินค้าและบริการทั่วไป – สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ
- การสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ – สุภิญญา กลางณรงค์
- บริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม – รสนา โตสิตระกูล
กรรมการสัดส่วนองค์กรผู้บริโภค 7 เขตพื้นที่
- ภาคเหนือ – พลากร วงค์กองแก้ว
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ – ปฏิวัติ เฉลิมชาติ
- ภาคกลาง – ชลดา บุญเกษม
- ภาคตะวันออก – กานต์ฑิตา สุดาเทพ
- ภาคตะวันตก – มณฑา ขนเม่น
- ภาคใต้ – สิรินนา เพชรรัตน์
- กรุงเทพมหานคร – สมชาย กระจ่างแสง
หลังจากนี้ มาร่วมกันติดตามการขับเคลื่อนของคณะกรรมการฯ ชุดที่สอง ที่จะเป็นหัวใจสำคัญในการกำหนดทิศทางการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นการสร้างกลไกการคุ้มครองที่ครอบคลุมและทันสมัย และการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนานโยบายที่สามารถแก้ไขปัญหาและสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภคอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในประเด็นสำคัญ อาทิ การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ลดความเสียหายจากภัยมิจฉาชีพออนไลน์ เมืองที่เป็นธรรม (Just City) การเข้าผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัย และเป็นธรรม บริการสุขภาพเท่าเทียม มีมาตรฐาน และเรียนฟรี 15 ปี มีคุณภาพอย่างมีส่วนร่วม
ด้าน บุญยืน ศิริธรรม ผู้ดำรงประธานสภาผู้บริโภค สมัยที่ 2 กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาเกือบสี่ปีนับแต่สภาผู้บริโภคถูกจัดตั้งขึ้น มีผลงานที่ประสบผลสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ เข้าถึงปัญหาของผู้บริโภคในระดับพื้นที่ผ่านองค์กรของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการรับเรื่องร้องเรียน ไกล่เกลี่ย และผลักดันปัญหาจนนำไปสู่ข้อเสนอนโยบาย รวมถึงการพัฒนากลไกในการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับหน่วยงานรัฐ และต่อจากนี้มีความมุ่งหวังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์และเท่าทันความเปลี่ยนแปลงสังคมยุคดิจิทัล เพื่อยกระดับงานคุ้มครองผู้บริโภค ลดความเลื่อมล้ำทางสังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืนในอนาคต
“สภาผู้บริโภคเราเป็นกลไกหนึ่งในการทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค ที่ทำงานร่วมกับองค์กรผู้บริโภคในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ และเปิดรับสมาชิกองค์กรผู้บริโภคเข้ามาร่วมเป็นสมาชิกและทำงานร่วมกัน เพื่อให้การช่วยเหลือและเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ได้อย่างแท้จริงและทั่วถึง ต่อจากนี้เราคาดหวังว่าเราจะมีองค์การสมาชิกครอบในทุกจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคได้ครอบคลุม ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพมากขึ้น” ประธานสภาผู้บริโภคกล่าว
นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายยังมีการประชุมสภาองค์กรของผู้บริโภค สมัยสามัญ ครั้งที่ 2/2567 โดยมีองค์กรสมาชิกเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 286 องค์กร จากสมาชิกทั้งหมด 340 องค์กร รวมถึงมีกรรมการนโยบายและที่ปรึกษาสภาผู้บริโภคเข้าร่วมประชุมด้วย
การประชุมครั้งนี้ได้มีการพิจารณาเรื่องสำคัญ ได้แก่ แผนงานและแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 และประกาศนโยบายมุ่งเป้า 5 นโยบาย ซึ่งได้รับมติจากองค์กรสมาชิกอย่างเป็นเอกฉันท์ อีกทั้ง มีการรายงานผลการดำเนินงานของสภาผู้บริโภค ปี 2567 และรับฟังความเห็นสมาชิกสภาผู้บริโภค ที่ เพื่อปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานของสภาผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น