“ฟ้องปิดปาก”ปฏิบัติการปิดปากคนด้วยกฎหมาย !

“ฟ้องปิดปาก”ปฏิบัติการปิดปากคนด้วยกฎหมาย !

การซื้อสินค้าและบริการ เป็นสิ่งที่ “ ผู้บริโภค” ต้องการได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ให้คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป แต่เมื่อสิ่งเหล่านั้นได้รับกลับมาด้วยการถูกเอาเปรียบ แถมสร้างความเสียหาย การเรียกร้องค่าชดเชย หรือ ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจ จึงถือเป็นสิทธิอันชอบธรรม แต่ หลายกรณีกลับถูกฟ้องดำเนินคดี ทั้ง ทางแพ่ง และ / หรือ อาญา ในลักษณะ“ เข้าข่ายเป็นการฟ้องปิดปาก “ ทำให้ ผู้บริโภค ประสบความยากลำบากในการใช้สิทธิเรียกร้อง หรือ ดำเนินคดีกับ ผู้ประกอบธุรกิจให้รับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

ดังนั้น “การฟ้องปิดปาก” หรือ “คดีปิดปาก” ความหมาย คือ ปฏิบัติการปิดปากคนด้วยกฎหมาย ภาษาอังกฤษ เรียกว่า “SLAPP LAW

คำว่า SLAPP ( อ่านว่า ซแล็พ ) ย่อมาจากคำเต็มว่า Strategic Lawsuit Against Public Participation เรียกง่าย ๆ ว่า “การฟ้องคดีเพื่อปิดปาก” หรือ “การแกล้งฟ้อง”
คดีประเภทนี้จะแตกต่างจากคดีทั่วไปตรงที่ผู้ฟ้องไม่ได้มุ่งหมายที่จะชนะคดี แต่เป็นการฟ้องคดีเพื่อขู่อีกฝ่ายให้กลัวหรือทำให้เกิดภาระมากมายจนหยุดการกระทำ หรือ แกล้งขัดขวางยับยั้งการใช้สิทธิเสรีภาพของอีกฝ่ายเท่านั้น โดยถ้อยคำข้างต้นพ้องกับคำว่า slap ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีความหมายว่า “ตบ” ทำให้เห็นได้ว่าการฟ้องคดีที่มีลักษณะเป็น SLAPP ก็เหมือนเป็นการ”ตบ”หน้า คนด้วยกฎหมายนั่นเอง

นอกจาก ผู้บริโภค ที่ถูกฟ้องปิดปาก จากผู้ประกอบการ แม้แต่ องค์กรผู้บริโภค ที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการเพื่อเตือนภัยโดยสุจริต ส่วนมากเป็นคดีโพสต์ออนไลน์ กลับถูกผู้ประกอบธุรกิจ ฟ้องกลับ คดีอาญา ข้อหา หมิ่นประมาท

ถึงแม้ผู้ประกอบธุรกิจ ใช้สิทธิตามกฎหมาย แต่จากความไม่เท่าเทียมกัน ทั้งด้านสภาพเศรษฐกิจ และ ความรู้ทางกฎหมาย ส่งผลให้ผู้บริโภค ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิ ต้องประสบปัญหาความยากลำบาก มีภาระในการต่อสู้คดี อีกทั้ง เกิดความหวาดกลัวที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม หรือเข้าต่อสู้เพื่อมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ

จากมูลเหตุที่เกิดขึ้น คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะสถาบันการศึกษากฎหมายที่มีพันธกิจในการทำหน้าที่บริการสังคม เห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงร่วมมือกับ องค์กรของผู้บริโภค ได้แก่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค , สภาองค์กรของผู้บริโภค , ผู้แทนจากสำนักงานศาล , และ อัยการ จึงมาร่วม“เสวนาปัญหาการถูกฟ้องคดีปิดปาก: ถอดบทเรียนจากการใช้สิทธิของผู้บริโภค”

ยกตัวอย่างเช่น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอข่าว และ บทความ ในเว็บไซต์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ว่า “ฉลาดซื้อเผยผลสุ่มตรวจ ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ ร้อยละ 67 ไม่ผ่านมาตรฐานประกาศ สธ. …” โดยระบุว่า ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ ยี่ห้อ เคียวร์ซิส (CUREAYS) ผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน โดยผลการทดสอบ ได้ผล ร้อยละ 69 และ ร้อยละ 64 ตามลำดับ พร้อมระบุข้อสังเกตจากการทดสอบ เรื่องคุณภาพการผลิต พบว่า ยังไม่มีการควบคุมให้ได้มาตรฐาน … บริษัท รีเอ็กซ์ โปรดักส์ จำกัด รับผลิตสินค้าให้กับผู้ประกอบการหลายบริษัท แต่จากผลการทดสอบบางยี่ห้อผ่านเกณฑ์ บางยี่ห้อไม่ผ่านเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปรากฏว่า บริษัทผู้ผลิต กลับยื่นฟ้อง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ด้วยข้อหา “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” ทั้งที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำงานโดยสุจริต เป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่กลับถูกข้อกฎหมายฟ้องปิดปาก มาปิดกั้นการทำงานเพื่อผู้บริโภคส่วนใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบจากสินค้าและบริการของผู้ประกอบการ และยังมีอีกหลายกรณีของการทดสอบ หรือ เผยแพร่ข้อมูลโดยสุจริตเพื่อ เตือนภัย แต่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กลับถูกแทรกแซงจากผู้ประกอบการด้วยวิธีการต่างๆ และจากหลายกรณีที่ผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียน เช่น คดีกระทะโคเรียคิง ครีมเพิร์ลลี่ หรือ คดีสามล้อ ฯลฯ

ดังนั้น การถูกฟ้องคดีกลั่นแกล้ง (SLAPP ) ในประเด็นสิทธิผู้บริโภค จึงถูกจัดขึ้น เพื่อวิเคราะห์ปัญหาการฟ้องคดีปิดปาก , ถอดบทเรียนจากปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาต่อไปในอนาคต

โดยที่ประชุมได้ชี้ให้เห็น ประเด็นใหญ่ของเหตุ “ ฟ้องปิดปาก” ที่ถือเป็นตัวการสำคัญ นั่นคือ “ เทคนิคทางกฏหมาย ที่บรรดาผู้ประกอบการ ซึ่งมีทั้งอำนาจเงิน และ อำนาจทางสังคม ใช้เป็นเครื่องมือคุกคามผู้บริโภค ที่ต้องการแสดงความเห็นโดยสุจริต เพราะได้รับความเสียหายจากการซื้อสินค้าและบริการ

ดังนั้น เมื่อมีเหตุนี้เกิดขึ้นครั้งใด ครั้งนั้น จึงมักเห็น การฟ้อง เป็นคดี “ หมิ่นประมาท “ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาทางอาญา โทษสูงสุด จำคุก 2 ปี ปรับ 2 แสนบาท เพื่อหวังให้ ผู้บริโภค และองค์กรที่คุ้มครองผู้บริโภค เกิดความหวาดกลัว ทั้งที่ กรณี คดีหมิ่นประมาทในต่างประเทศส่วนมาก เช่น สหรัฐอเมริกา , ยุโรป มีเพียงคดีแพ่ง เท่านั้น

อีกประเด็นสำคัญ ยังเห็นบางกรณีผู้ประกอบการฟ้องคดีแพ่งเพื่อหวังกลั่นแกล้งผู้บริโภคที่ไร้อำนาจต่อรอง ด้วยการเรียกค่าเสียหายถึง 3 แสนบาท ทั้งที่สินค้ามีมูลค่า แค่ 200 บาท การฟ้องแบบนี้ เท่ากับว่า เป็นการเพิ่มอำนาจอย่างไม่เป็นธรรมให้คนรวยเพื่อใช้คุกคามประชาชนที่ต้องการแสดงความคิดเห็นอย่างบริสุทธิ์ใจ

ในเมื่อเทคนิคทางกฏหมาย ทั้งคดีแพ่งและอาญา ที่ผู้ประกอบการใช้ฟ้องหมิ่นประมาทผู้บริโภค และ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อหวังปิดปาก ปิดกั้นสิทธิการโต้แย้งที่แสดง ความคิดเห็นอย่างสุจริตใจ เพราะได้รับผลกระทบจากการซื้อสินค้าและบริการ รวมถึง กรณี ที่ มีการฟ้องร้องจนถึงการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย แต่ ฝ่ายผู้ฟ้อง ยังบีบให้ผู้บริโภคเซ็นยอมรับว่ากระทำความผิดอีกด้วย

“ผู้ประกอบธุรกิจใช้สิทธิ์กลไกทางกฎหมายมาปิดปากเพื่อให้คนใช้สิทธิ์ถอดใจ“ ! ไม่เผยแพร่ข้อเท็จจริงอันเป็นประโยชน์สาธารณะ” นี่คือ สิ่งที่ผู้ร่วมเวทีเสวนาชี้ให้เห็นช่องทางการปิดปากในกิจการสาธารณะ

ดังนั้น เวทีนี้จึงต้องการนำสู่แนวทางขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาอันเป็นมาตรการป้องกันไม่ให้ผู้คนกระทำการฟ้องปิดปาก ( SLAPP ) บน “โจทย์” ที่ว่า “ทำอย่างไร จะแก้ปัญหา ในประเทศไทย???”

โดยสิ่งที่เห็นประจักษ์ นั่นคือ “การพิจารณาประโยชน์สาธารณะ “ เมื่อมีเหตุวิพากษ์วิจารณ์ อันเป็นไปโดยสุจริตทั้งจากผู้บริโภค และ องค์กรที่คุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งได้รับ ผลกระทบจากสินค้า และ บริการ แต่ เอกชน กลับยื่นฟ้องคดีอาญา ดังนั้น หากปรากฏ “มูลเหตุแห่งการฟ้องที่ไม่สุจริต” ผู้ถูกฟ้อง สามารถใช้ “ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญามาตรา 161/1 “ ต่อสู้ได้ (Anti-SLAPP Law ของไทย) , แต่หาก “ไม่ปรากฏมูลเหตุแห่งการฟ้องที่ไม่สุจริต” ผู้ถูกฟ้องสามารถยกข้อต่อสู้เรื่อง การติชมด้วยความ เป็นธรรมในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 165/2 , พร้อมกันนี้ ยังขอให้ “ศาล “ที่ทำการไต่สวนมูลฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท
ต้องพิจารณาบนเหตุมูลฐาน หากเป็นเรื่องของการใช้สรีภาพเพื่อติดตาม-ตรวจสอบกิจการสาธารณะ ติ-ชมด้วยความเป็นธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(3)” เป็นมูลคดีที่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งประเด็นนี้ จึงขอให้ อัยการ และ ศาล ไม่ควรประทับฟ้อง

ส่วนข้อเสนอทางคดีแพ่ง เพื่อป้องกันการฟ้องปิดปาก ด้วยวิธีที่ไม่สุจริต ได้ขอให้เพิ่มข้อความที่ระบุว่า …. “ผู้ใดกล่าวข้อความ แสดงความคิดเห็น หรือ ไขข่าว แพร่หลาย โดยสุจริตในกิจการสาธารณะไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน” โดยบรรจุไว้ใน “ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 “

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญของการฟ้องปิดปากคดีแพ่ง นั่นคือ การพิจารณาคดีที่ต้องเป็นไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้น จึงขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อกฎหมาย เบื้องต้น ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 โดยไม่ต้องพิจารณาสืบพยาน

กรณีเอกชนร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินคดี ข้อหาหมิ่นประมาท กับ ผู้บริโภค หรือ องค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งที่เป็นการกระทำเพื่อตรวจสอบกิจการสาธารณะ มีข้อเสนอจากเวทีเสวนา นั่นคือ ควรพิจารณาปล่อยตัวผู้ถูกฟ้องชั่วคราวโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน , ส่วนพนักงานอัยการที่สั่งคดีหมิ่นประมาท หากเห็นว่า ผู้ต้องหา การกระทำเพื่อตรวจสอบกิจการสาธารณะ ควรพิจารณาไม่สั่งฟ้องคดี โดยเหตุแห่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 (3) หรือ หากกรณีแห่งเหตุไม่ชัดเจน น่าจะยกประเด็นเรื่องการฟ้องที่ไม่เป็นประโยชน์ สาธารณะ ตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 21 ส่วนผู้ถูกฟ้อง หากมีหลักฐาน หรือ เบาะแส การฟ้องปิดปากโดยไม่สุจริต สามารถยื่นเรื่องต่อศาล ขอให้ยกฟ้องได้ทันที ไม่ต้องมานั่งสืบพยาน

เป็นที่ทราบกันดีว่า การพิจารณาคดีในชั้นศาล กว่าจะจบสิ้นสุดกระบวนความ ต้องใช้เวลายาวนานหลายปี ทำให้ สิทธิในการโต้แย้ง ของ ผู้บริโภค ที่แสดงความคิดเห็นอย่างสุจริตใจ เต็มไปด้วยขวากหนาม โดยการฟ้องปิดปากมักเป็นคดีที่ไม่มีมูลเหตุ ถูกออกแบบมาให้มีความซับซ้อน กินระยะเวลายาวนาน และเสียค่าใช้จ่ายราคาแพง ดังนั้น หากจำเลยไม่มีฐานะทางการเงินเพียงพอที่จะสู้คดีเพื่อต่อกรกับกลุ่มทุนที่มีอำนาจเงินและอำนาจทางสังคมมากกว่า ทำให้ไม่มีทางเลือก จำต้องยอมรับข้อเรียกร้องของโจทก์ ซึ่งมัก จะมาในรูปของ การชดใช้ค่าเสียหาย การขอโทษ หรือ การลบข้อความที่ถือว่าละเมิด ดังนั้น เวทีนี้ จึงเสนอให้กระบวนการฟ้องปิดปากไม่ควรเกิดขึ้น หรือ ANTI SLAPPED

ดังนั้น เพื่อป้องกันการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งผู้บริโภคและองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ที่ใช้หลักสิทธิสุจริต โดย พนักงานสอบสวน – อัยการ – ศาล ควรต้องพิจารณาประโยชน์สาธารณะ เป็นสำคัญ เพื่อสั่งไม่ฟ้อง โดยหันมาใช้ กระบวนการไกล่เกลี่ย หากผู้ฟ้อง ใช้สิทธิ์ไม่สุจริต เพื่อฟ้อง ผู้สุจริต ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีเสียเวลา และต้องใช้เวลายาวนานสำหรับการต่อสู้คดี ทั้งที่ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เพื่อประโยชน์สาธารณะ และการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่มีคำสั่งไม่ฟ้องทันที ทำให้เกิด DELAYED JUSTICE จนกลายเป็น UN JUSTICE ซึ่งเป็นปมเงื่อนของเวลา กว่าคดีจะเป็นที่ยุติ ล่าช้าเกินไป ทำให้ผู้ปกป้องสิทธิ์สาธารณะหมดกำลังใจ**

ดังเช่น “ภาษิตกฎหมาย” “ความยุติธรรมที่ล่าช้าก็คือความไม่ยุติธรรม” มาจากภาษาอังกฤษว่า“ justice delayed is justice denied หมายความว่า ถ้ากฎหมายจัดให้มีการเยียวยาความเสียหายแก่ผู้เสียหาย แต่การเยียวยานั้นมาไม่ทันกาลหรือล้าสมัย ก็ไม่ต่างอะไรกับว่าไม่ได้เยียวยานั่นเอง หลักการนี้ตั้งอยู่บนสิทธิในอันที่จะเข้าถึงการพิจารณาคดีอย่างรวดเร็วและสิทธิอื่น ๆ ทำนองเดียวกันที่มีความมุ่งประสงค์เพื่อขับเคลื่อนให้กระบวนการยุติธรรมเร็วขึ้น เพราะถือว่า ไม่ยุติธรรมสำหรับผู้เสียหายที่จะต้องทุกข์ทนกับความเสียหายต่อไปพร้อมกับความหวังอันน้อยนิดว่าจะได้รับการเยียวยา นักกฎหมายหัวปฏิรูปได้ใช้ภาษิตนี้เป็นเสียงเรียกร้องเชิงรณรงค์ของพวกตนไปยังศาลและรัฐบาลที่มักทำงานล่าช้า เนื่องจากระบบที่มีอยู่ซับซ้อนเกินไปหรือแบกภาระมากเกินไป หรือเนื่องจากประเด็นหรือคู่ความที่เกี่ยวข้องไม่เป็นที่น่าสนใจมากนัก

เมื่อการฟ้องปิดปากในประเทศไทย ส่วนมาก เป็นคดี “ หมิ่นประมาท “ ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาทางอาญา โทษสูงสุดจำคุกถึง 2 ปี ปรับ 2 แสนบาท เกิดคำถาม สามารถยกเลิกได้ หรือไม่ ?เพราะหลายประเทศส่วนใหญ่ยกเลิก เหลือเพียงแค่การฟ้องปิดปากคดีแพ่งที่ส่วนมากเป็นคดีโพสต์ออนไลน์ด้วยเจตนาโดยสุจริตของผู้บริโภค มีข้อเสนอแนะจากเวทีนี้ ชี้ช่องให้ องค์กรผู้บริโภค รวบรวมรายชื่อผู้บริโภค 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อยื่นต่อ รัฐสภา นำสู่การแก้ไขกฏหมาย แต่หนทาง ยังเป็นไปได้ยาก

ก็ได้แต่หวังว่า มติของสหประชาชาติว่าด้วยการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งไทยให้การรับรองไว้เมื่อเดือนธันวาคม 2560 และยึดถือพันธกรณีตามกฎหมายภายในประเทศและระหว่างประเทศ ที่จะป้องกันไม่ให้บุคคลใดถูกฟ้องร้องด้วยคดีความที่ไม่จริงและมีจุดประสงค์เพื่อปิดกั้นเสรีภาพการพูด ทางสมาคมฯ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกโทษทางอาญาของข้อกล่าวหาหมิ่นประมาท และให้การฟ้องร้องคดีปิดปากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย จะสามารถยกเลิกการฟ้องร้องคดีปิดปาก ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ได้สำเร็จ !!!

ที่มา เวทีเสวนาเรื่อง “เสวนาปัญหาการถูกฟ้องคดีปิดปาก: ถอดบทเรียนจากการใช้สิทธิของผู้บริโภค” วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

วิทยากร รศ.ดร. ปกป้อง ศรีสนิท คณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ผู้แทนจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ดร.ปิติ โพธิวิจิตร ผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ประจำกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุธรณ์ ภาค 1 นางสาวจันทิมา ธนาสว่างกุล อัยการอาวุโส สำนักงานวิชาการ สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ดำเนินรายการ ผศ.ดร.เอมผกา เตชะอภัยคุณ อาจารย์ประจำ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค