คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล จับมือ สปสช.-สปคม.ระดมตรวจ Antigen Test Kit ตั้งเป้าคัดกรองให้ได้วันละ 10,000 ราย คาดตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แท้จริงน่าจะมากกว่าในปัจจุบัน
ศ.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงความร่วมมือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ในการตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกโดยใช้ชุดตรวจ Antigen Test Kit เพื่อให้สามารถตรวจคนหมู่มากได้
ทั้งนี้ จากการเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 2564 ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา แจ้งวัฒนะ มีผู้เข้ารับการตรวจ 709 คน ทั้งจากคนที่ลงทะเบียนเข้ารับการตรวจออนไลน์ และคนที่วอล์คอินเข้ามา พบผลเป็นบวกหรือติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 53 ราย ซึ่งทั้งหมดเป็นกลุ่มไม่มีอาการ โดย สปสช.จะจับคู่กับคลินิกชุมชนอบอุ่นใกล้บ้านเพื่อดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนต่อไป
ในส่วนวันที่ 13 ก.ค. 2564 ได้เพิ่มการตรวจเป็นประมาณ 1,500 ราย และทางคณะเทคนิคการแพทย์ จะพยายามเพิ่มจำนวนการตรวจให้ได้มากขึ้นอีกในวันต่อๆ ไป เพราะขณะนี้มีประชาชนที่สนใจลงทะเบียนเข้ามาแล้วกว่า 10,000 คน โดย สปสช.จะจัดสรรโควต้าในแต่ละวัน แล้วแจ้งผู้ที่เข้ามาตรวจว่าต้องมาวันไหน เวลาไหน
ศ.ฉัตรเฉลิม กล่าวว่า สำหรับแคมเปญนี้จะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ หรือถึงประมาณปลายเดือน ก.ค.นี้ อย่างไรก็ดีทั้ง สปคม. และคณะเทคนิคการแพทย์ ม.มหิดล เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ร่วมปูพรมตรวจเชิงรุกแก่ประชาชน เพราะขณะนี้ยังมีอีกหลายหน่วยงานทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่ตรวจในลักษณะดังกล่าว ซึ่งก็คาดหวังว่าหากสามารถตรวจได้เป็นหลักแสนรายต่อวัน ก็น่าจะค้นพบผู้ติดเชื้อและแยกกักตัวในลักษณะ Home Isolation เพื่อให้ง่ายต่อการดูแล ส่วนผู้ที่อาการปานกลางหรือรุนแรงก็จะมี 1330 ช่วยจัดหาโรงพยาบาลให้ และน่าจะช่วยให้การระบาดมีแนวโน้มที่ลดลง
“จากอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นหลายเท่า บวกกับข้อติดขัดที่ห้องแล็บหรือโรงพยาบาลไม่สามารถตรวจให้ประชาชนทั่วไปได้เพราะเตียงเต็ม ทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ว่าจำนวนการตรวจมีแนวโน้มลดลง สวนทางกับจำนวนการติดเชื้อที่มากขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่าถ้าตรวจกันเต็มศักยภาพจริงๆ น่าจะพบอัตราการติดเชื้อที่สูงกว่านี้” คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ กล่าว