ล้อมวงเสวนา ปัญหาและอุปสรรคในการเข้าไม่ถึงหลักประกันทางสุขภาพของ “คนไทยไร้สิทธิ” ถือเป็นความเลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมไทย ที่แม้แต่เจ็บป่วยก็เข้าสู่ระบบรักษาไม่ได้ โดยเฉพาะการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพฯ สวัสดิการสังคม เช่น สวัสดิการผู้สูงอายุ สวัสดิการคนพิการ ฯลฯ จนเกิดความร่วมมือระหว่าง 9 หน่วยงานเข้ามาผลักดันเรื่องนี้ นับเป็นก้าวแรกของความหวังไปสู่สังคมไทยที่ไม่มีใครต้องไร้สิทธิอีกต่อไป
เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 66 ที่ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จ.นนทบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และภาคีเครือข่าย จัดประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ ครั้งที่ 2 โดยมีการเสวานาเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงหลักประกันทางสุขภาพของประชากรกลุ่มเฉพาะ ในหัวข้อ : ไม่มีใครต้องไร้สิทธิ อย่าให้ใครต้องไร้สิทธิ นำการพูดคุยโดย ผศ.ภก.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คุณวรรณา แก้วชาติ เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) และ นพ.สวัสดิ์ชัย นวกิจรังสรรค์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ (ด้านเวชกรรม) กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข
ในปัจจุบันจะมี “กองทุนคืนสิทธิ” เป็นกลไกหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข ที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของคนหลายกลุ่ม แต่ ‘คนไทยไร้สิทธิ’ เหล่านี้ก็ยังต้องประสบปัญหาในการเข้าถึงสวัสดิการด้านอื่นๆของรัฐ โดยเฉพาะการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สวัสดิการสังคม เช่น สวัสดิการผู้สูงอายุ สวัสดิการคนพิการ บัตรพิการ ฯลฯ
คุณวรรณา แก้วชาติ หรือ พี่หน่อย เจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) กล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. 2560 มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยและเครือข่ายคนไร้บ้าน และเครือข่ายนักวิชาการค้นพบว่า คนไร้บ้านหลายคนไม่มีโอกาสไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลเมื่อป่วยไข้ และบริโภคยาที่ตนหาซื้อเองประคองอาการไปก่อน จนถึงขั้นเสียชีวิต เมื่อเจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุย จึงได้ความว่าคนไร้บ้านนั้นไม่มีตัวตนอยู่ในระบบทะเบียนราษฎร ไม่มีบัตรประชาชนและเลขประจำตัวสิบสามหลัก ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขซึ่งต้องใช้บัตรประชาชนเป็นเอกสารยืนยันสิทธิ นอกจากนี้เอง ยังมีคนไร้บ้านที่พกพาบัตรประชาชนไว้กับตัวแล้ว แต่ไม่สามารถใช้สิทธิสวัสดิการสาธารณสุขได้ เนื่องจากตนขึ้นทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพในพื้นที่ที่ไกลจากละแวกที่พักอาศัย
มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยมีหน้าที่เชื่อมเครือข่ายประสานความร่วมมือหน่วยงาน เพื่ออุดช่องโหว่ของปัญหาของกลุ่มผู้มีปัญหาสถานะบุคคล โดยคณะทำงานคนไทยไร้สิทธิฯ เป็นกลไกสำคัญที่กำกับติดตามการทำงาน ผลักดันข้อเสนอสำคัญต่าง ๆ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงมือปฏิบัติแก้ไขปัญหาร่วมกัน และเปิดช่องทางการทำงานภายใต้กฎหายที่เกี่ยวข้อง โดยมี สสส.ร่วมสนับสนุนการเตรียมความพร้อมเครือข่าย การจัดเตรียมองค์ความรู้ ตลอดจนการถอดชุดความรู้ เพื่อส่งต่อข้อมูลไปยังโรงพยาบาล กลุ่มคนที่มีใจพร้อมทำงานเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการให้ “กลุ่มผู้มีปัญหาสถานะบุคคลเข้าถึงสิทธิการรักษา กล้าที่จะลุกขึ้นยืน เดินไปสำนักทะเบียน และยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อ ขอทำบัตรด้วยตนเอง” โดยมีภาคีเครือข่ายร่วมกันสนับสนุน
“ทั้งนี้ ในระยะเวลา 2-3 ปีมานี้ มีผู้คนแสดงตัวในฐานะคนไทยไร้สิทธิมากขึ้น เนื่องจากว่านโยบายสวัสดิการต่าง ๆ ของรัฐขยายตัว แต่ยังตั้งอยู่บนเงื่อนไขที่ว่าบุคคลนั้น ๆ จะต้องมีบัตรประชาชน บัตรประชาชนคือใบเบิกทางสำหรับการใช้สิทธิสุขภาพ สวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยผู้สูงอายุ บัตรพิการ มาตรการเยียวยา “เราไม่ทิ้งกัน” สวัสดิการคนจน กระทั่งการฌาปนกิจและการจัดพิธีงานศพตามความเชื่อก็ต้องใช้บัตรประชาชน ไม่อย่างนั้นศพของผู้ที่มีปัญหาสิทธิสถานะจะถูกปฏิบัติในฐานะศพไร้ญาติ” คุณวรรณา กล่าว
ผศ.ภก.ดร.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาทาง สปสช. วางยุทธศาสตร์ในการสร้างความครอบคลุมการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และได้จัดตั้ง “คณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการระบบหลักประกันสุขภาพของกลุ่มคนไทยที่มีปัญหาสถานะ” ขึ้นมา เพื่อเป็นกลไกในการประสานความร่วมมือและการขับเคลื่อนในประเด็นดังกล่าว ร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องและเห็นความสำคัญในการสร้างความครอบคลุมของการเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
“เป้าหมายสำคัญคือการบูรณาการความร่วมมือดูแลประชาชนกลุ่มที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนโดยเฉพาะคนไทยตกหล่น หรือ “คนไทยไร้สิทธิ” ให้เข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพมากยิ่งขึ้น”
ด้าน นพ.สวัสดิ์ชัย นวกิจรังสรรค์ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ (ด้านเวชกรรม) กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เรามองว่าทุกคนในประเทศไทยต้องมีสิทธิพื้นฐานเท่าเทียมกันทุกคน ซึ่งกองเศรษฐกิจสุขภาพก็พลักดันเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งตั้งแต่ปี 53 ที่ได้มีมติครม. รับรองสถานะสิทธิเพื่อให้เข้าระบบรักษาสุขภาพ จะเห็นว่าเรามีการพัฒนาเรื่อง “คนไทยไร้สิทธิ” มาโดยตลอด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขเองมี 2 ช่องทาง คือ 1. เราได้มีการขึ้นทะเบียนอนุมัติการรักษารับรองของบุคคลไว้แล้ว เพื่อให้เข้าถึงสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลและเข้าถึงระบบรักษาการบริการสุขภาพได้ และขณะนี้มีเกือบ 700,000 คน ที่เราได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว
สำหรับอีกช่องทางคือ เราออกแบบให้หน่วยบริการสามารถรับเอกสารและส่งเอกสารมาที่กองเศรษฐกิจสุขภาพได้ ซึ่งไม่เกิน 2 วัน เมื่อตรวจสอบแล้ว ถูกต้องตรงตาม มติครม. เราก็จะขึ้นทะเบียนให้สามารถใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลได้ และในอนาคตเรามองว่าอาจจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อทำให้สะดวกและรวดเร็วขึ้น นพ.สวัสดิ์ชัย กล่าว.