สภาผู้บริโภคร่วมกับกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร เรียกร้องสถาบันการเงินร่วมรับผิดชอบเงินฝากลูกค้าธนาคารที่ถูกแก๊งภัยการเงินออนไลน์ดูดเงินหมดบัญชี เตรียมเชิญสมาคมธนาคารไทยหาทางออกคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมเผยสถิติอัตราภัยหลอกลวงของไทยติดอันดับสี่ของโลก มูลค่าความเสียหายเกือบ 50,000 ล้านบาท
วันที่ 16 ธันวาคม 2566 คณะกรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ สภาผู้บริโภค จัดงานรวมพลังขับเคลื่อนการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคหรือเวที Town Hall Meeting เพื่อให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายมารวมพลังเพื่อร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงและปกป้องสิทธิของตัวเอง
อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคร่วมกับกมธ.คุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎรจัดงานสัมมนาครั้งนี้เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้ผู้บริโภคได้แลกเปลี่ยนข้อมูลความเดือดร้อน ความไม่เป็นธรรม ทั้งด้านอสังหาริมทรัพย์และภัยทางการเงิน รวมทั้งรวมพลังขับเคลื่อนนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถาบันการเงินเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค
สำหรับผู้บริโภคที่มารวมพลังแลกเปลี่ยนประสบการณ์ประมาณ 30 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มภัยทางการเงินและการธนาคาร ซึ่งส่วนใหญ่ถูกมิจฉาชีพหลอกเอสเอ็มเอสดูดเงินออนไลน์ โดยกลุ่มนี้อยากให้มีการแก้ไขปัญหาโดยให้ธนาคารออกมาร่วมรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น
ขณะที่อีกกลุ่มเป็นความเสียหายจากอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมีผู้บริโภคที่ซื้อบ้านจัดสรรจากบริษัทอสังหาฯ ชั้นนำหลายแห่งประสบปัญหาพื้นดินที่ก่อสร้างบ้านทรุดจนทำให้บ้านเสียหาย จากการถมดินไม่แน่นพอ หรือมีการก่อสร้างโครงการเฟสใหม่เพิ่ม ทำให้พื้นดินโครงการใกล้เคียงทรุดตัวหนักขึ้น ผู้บริโภคหลายรายไม่สามารถพักอาศัยได้ แม้จะร้องเรียนความเดือดร้อนกับเจ้าของโครงการ แต่ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือ
ด้าน ภัณฑิล น่วมเจริญ โฆษกคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เหตุที่ร่วมกับสภาผู้บริโภคในการจัดงานรวมพลังผู้บริโภคในครั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และหาวิธีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน เมื่อได้เห็นภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริงก็จะช่วยให้เห็นปัญหาและหาทางแก้ไขได้ชัดเจนมากขึ้น
“ปัจจุบันมีผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อภัยทางการเงินออนไลน์จำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความไม่เท่าทันแก๊งมิจฉาขีพที่มาหลอกลวงหลากหลายรูปแบบ อาทิ ส่งข้อความหรือลิงก์มาทางเอสเอ็มเอส ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อกดเข้าไปที่ลิงก์จนถูกดูดเงินในบัญชีธนาคารไปหมด และเมื่อเกิดความเสียหายกลับไม่ได้รับความคุ้มครองหรือได้รับการชดเชยความเสียหาย รวมทั้งกระบวนการติดตามเรื่องยังล่าช้าและมีหลายขั้นตอน รวมทั้งระบบป้องกันการดูดเงินของสถาบันการเงินก็ไม่ได้ปลอดภัยเท่าที่ควร จนทำให้ลูกค้าต้องเดือดร้อนและไม่มีความเชื่อมั่นการดูแลเงินของสถาบันการเงินนั้น ๆ” ภัณฑิลกล่าว
ภัณฑิล ยังกล่าวอีกว่า หลังจากรับฟังปัญหาของผู้บริโภคแล้ว คณะกรรมาธิการฯ จะเชิญสมาคมธนาคารไทย เข้ามาหารือเรื่องความเดือดร้อนของผู้บริโภคจากภัยทางการเงินออนไลน์ ที่เงินฝากในสถาบันการเงินต่าง ๆ ถูกดูดเงินจากบัญชีเพื่อช่วยผู้บริโภคหาทางออกให้ร่วมรับผิดชอบต่อความเสียหายของลูกค้าโดยให้ทางธนาคารออกมาตรการรับผิดชอบเงินฝากของผู้บริโภคด้วย ส่วนปัญหาเรื่องบ้านจัดสรรดินทรุด ถมดินในโครงการแล้วมีปัญหานั้น ทางกรรมาธิการจะเชิญสมาคมบ้านจัดสรรและกรมที่ดินซึ่งเป็นหน่วยงานให้ใบอนุญาตถมดินแก่โครงการบ้านจัดสรรมาร่วมหารือเพื่อแก้ปัญหาเช่นกัน
ด้านโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมามีผู้บริโภคที่เดือดร้อนจากภัยทุจริตทางการเงินจำนวนมาก มูลค่าความเสียหายกว่า 49,000 ล้านบาท ข้อมูลจากการจัดอันดับอัตราการหลอกลวงออนไลน์ของต่างประเทศจากรายงานของ ACI Worldwide พบว่า 1 ใน 5 ของผู้บริโภคที่ถูกสำรวจในปี 2565 เคยตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกงการชำระเงิน ขณะที่ประเทศที่ใช้ระบบธุรกรรมออนไลน์ 24 ชั่วโมง (real-time) ในอัตราสูง จะมีแนวโน้มเรื่องภัยการเงินสูงตามไปด้วย ซึ่ง 5 ประเทศที่มีการทำธุรกรรมแบบ real-time มากที่สุดในปี 2565 ใน 6 อันดับ ได้แก่ อินเดีย 89,500 ล้านรายการ พบอัตราการถูกหลอกลวงสูงเป็นอันดับหนึ่ง บราซิล 29,200 ล้านรายการ จีน 17,600 ล้านรายการ ขณะที่ประเทศไทย 16,500 ล้านรายการ มีอัตราการถูกหลอกลวงเป็นอันดับ 6 ของโลก ขณะที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) รายงานว่าปี 2565 พบความเสียหายจากภัยทุจริตทางการเงินกว่า 70,000 ล้านบาท
“หลังเกิดเหตุผู้เสียหายประสบปัญหาอายัดบัญชีไม่ทัน ธนาคารขอเอกสารแจ้งความก่อนอายัดบัญชี ติดต่อธนาคารยาก มีเบอร์โทรศัพท์หลายเบอร์ ตำรวจท้องที่ไม่รับแจ้งความ ธนาคารปฏิเสธความรับผิดชอบ โอกาสได้รับเงินคืนยาก” โสภณกล่าว
หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ระบุอีกว่า ที่ผ่านมาสภาผู้บริโภคได้เสนอมาตรการป้องกันภัยทางการเงินประกอบด้วย การเปิดเผยบัญชีมิจฉาชีพ และบัญชีแบล็กลิสต์ให้ผู้บริโภคทราบ รวมทั้งมีระบบแจ้งเตือนหมายเลขบัญชีต้องสงสัยว่าอาจนำไปใช้กระทำความผิดเพื่อแจ้งเตือนภัยให้ลูกค้าทราบ นอกจากนี้ยังขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดบัญชีผ่านร้านสะดวกซื้อและบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ให้เข้มงวดขึ้น
นอกจากนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกหลักเกณฑ์ควบคุมและจำกัดการเปิดใช้ซิมโทรศัพท์เคลื่อนที่หนึ่งเลขหมายต่อหนึ่งบัตรประชาชน และเรียกร้องให้ กสทช.มีมาตรการกำหนดให้ค่ายมือถือรายงานรายชื่อหมายเลขต้องสงสัยมายัง กสทช.เพื่อขึ้นบัญชีดำและเฝ้าระวังการเปิดใช้บริการ ขณะนี้ได้ขอความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธปท. สมาคมธนาคารไทย และ สตช. จัดเบอร์โทรสายด่วนแจ้งเหตุภัยทุจริตการเงินหมายเลขเดียวและแจ้งได้ทุกธนาคาร โดยระงับการทำธุรกรรมทางการเงินภายในเวลาไม่เกิน 3 นาที