สภาผู้บริโภค หารือร่วมกับคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ สคบ. จัดการปัญหาภัยสินค้าออนไลน์ เสนอรัฐเร่งให้ผู้ขายจดทะเบียนตลาดแบบตรง – เปิดพัสดุก่อนจ่ายเงินปลายทาง ลดปัญหาซื้อขายออนไลน์ พร้อมเสนอผลักดันร่าง พ.ร.บ. ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า แก้ปัญหากรณีผู้บริโภคได้รับสินค้าชำรุด บกพร่อง
เมื่อกลางเดือนธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) นำโดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง ประธานอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) และนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เข้าร่วมประชุมกับนายวราวุธ ยันต์เจริญ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด และคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ นายกฤช เอื้อวงศ์ พลเอกอนุชา รักเรือง พร้อมกับนายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และผู้บริหาร สคบ. ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือแนวทางความร่วมมือการคุ้มครองผู้บริโภคระหว่างสภาผู้บริโภค และ สคบ. ในการจัดการปัญหาภัยการซื้อสินค้าออนไลน์
ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง ประธานอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป สภาผู้บริโภค กล่าวว่าปัจจุบันผู้บริโภคพบปัญหาการสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ แต่กลับได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่สั่งไป หรือไม่ได้รับสินค้าเลยแต่ร้านค้าไม่รับผิดชอบ บล็อกลูกค้า และเชิดเงินหนีไป ขณะที่เรื่องร้องเรียนของสภาผู้บริโภคในปี 2566 ยังพบว่ามีผู้บริโภคร้องเรียนในประเด็นการซื้อขายสินค้าออนไลน์เข้ามากว่า 1,474 เรื่อง ดังนั้น ด้วยสถานการณ์ปัญหาข้างต้นที่ผู้บริโภคพบเป็นส่วนใหญ่ สภาผู้บริโภคจึงเสนอให้ สคบ. ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจดทะเบียนผู้ค้าตลาดแบบตรง คือ ส่งเสริมให้ผู้ค้าที่ขายสินค้าโดยตรงผ่านช่องทางออนไลน์เข้ามาลงทะเบียนแสดงตัวตนให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การสร้างความมั่นใจและปลอดภัยกับผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าออนไลน์ รวมถึงให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูล ตัวตน รายละเอียดของร้านค้าต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ยังได้เสนอให้มีการรับรองสิทธิผู้บริโภคในการเปิดสินค้าเพื่อตรวจสอบสินค้าต่อหน้าผู้ส่งสินค้าได้ก่อนการชำระเงินกรณีชำระเงินปลายทาง เพื่อลดปัญหาการซื้อสินค้าออนไลน์แต่ได้สินค้าไม่ตรงตามที่สั่งซื้อไป
ประธานอนุกรรมการด้านสินค้าฯ กล่าวอีกว่า สภาผู้บริโภคยังได้ติดตามความคืบหน้าในการเรียกคืนถุงลมนิรภัยไม่ปลอดภัย ยี่ห้อทาคาตะ (Takata) ที่ผ่านมาสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ส่งหนังสือถึง สคบ. เพื่อเสนอให้แก้ไขปัญหาถุงลมทาคาตะ และ สคบ.ได้ตอบรับข้อเสนอ โดยผลักดันให้บริษัทรถยนต์ 12 ยี่ห้อ ได้แก่ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เชฟโรเลต เชลส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด, บริษัท ฟอร์ด เชลส์ แอนด์ เชอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท มาสด้า เชลส์ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท มิตชูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด,บริษัท ทีซี ชูบารุ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ไมซ์สเตอร์ เทคนิค จำกัด, บริษัท อินช์เคป (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เรียกคืนรถยนต์ทุกคันที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยยี่ห้อทาคาตะเข้าเปลี่ยนถุงลมใหม่เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค ในประเด็นข้างต้น ผู้แทน สคบ. แจ้งว่าช่วงเดือนตุลาคม 2566 มีรถยนต์ที่เข้ามาเปลี่ยนถุงลมนิรภัยไปแล้วจำนวน 1,122,755 คัน จากทั้งหมด 1,660,341 คัน และยังเหลืออีกกว่า 562,308 คัน ที่ยังไม่ได้รับการเปลี่ยนถุงลมนิรภัย ทั้งนี้ สคบ. ได้เสนอเรื่องไปยังกรมการขนส่งทางบกเพื่อให้เพิ่มการตรวจสอบหลักฐานการเปลี่ยนถุงลมนิรภัยอันตรายให้อยู่ในรายการการตรวจสภาพรถยนต์เพื่อต่อทะเบียนประจำปีด้วย ซึ่งสภาผู้บริโภคจะสนับสนุนการประชาสัมพันธ์ข้อมูลในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังมีการหารือในการผลักดันร่าง พ.ร.บ. ความรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. … เพื่อผู้บริโภคใช้สิทธิซ่อมแซม เปลี่ยนสินค้า หรือขอลดราคาสินค้าได้ กรณีได้รับสินค้าชำรุดบกพร่อง รวมถึงยังได้เสนอแนวทางคุ้มครองผู้บริโภคในการคิดค่าบริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โดยให้สถานีชาร์จต้องประกาศราคา หรือแสดงราคาก่อนให้ชัดเจน โดยไม่ต้องสมัครแอปพลิเคชันก่อนเข้าสู่ระบบ เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลในการเลือกหรือตัดสินใจก่อนเลือกใช้บริการ
ทั้งนี้ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ สคบ. ได้รับเรื่องที่สภาผู้บริโภคเสนอมาทั้งหมดเพื่อนำไปพิจารณาหาแนวทางดำเนินการในการร่วมมือคุ้มครองผู้บริโภคทุกภาคส่วนต่อไป
ที่มา: สภาองค์กรของผู้บริโภค