‘สภาสุขอนามัยโลก’ ส่งสัญญาณ ต้องเร่งยับยั้ง ‘การดื้อยาต้านจุลชีพ’ ไม่เช่นนั้นอาจต้องสังเวยปีละ 10 ล้านศพ

รายงานฉบับใหม่ของสภาสุขอนามัยโลกเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของการรักษาสุขอนามัยเพื่อต่อสู้กับการดื้อยาต้านจุลชีพและโรคระบาดในอนาคต

สภาสุขอนามัยโลก (Global Hygiene Council หรือ GHC) ซึ่งเป็นสภาอิสระของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขอนามัยและการป้องกันการติดเชื้อ ได้เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ซึ่งเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อส่งเสริมความสำคัญของการรักษาสุขอนามัยในครัวเรือนและในชุมชน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับโรคระบาดอื่น ๆ นอกเหนือจากโควิด-19

ในโอกาสนี้ สภาสุขอนามัยโลกได้เรียกร้องให้รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายยกระดับความสำคัญของการรักษาสุขอนามัย เพื่อปกป้องชีวิตประชากรหลายล้านคนทั่วโลก

แม้ว่าการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มส่งสัญญาณการสิ้นสุด แต่ “การแพร่ระบาดเงียบ” ของการดื้อยาต้านจุลชีพยังคงดำเนินต่อไป โดยการดื้อยาต้านจุลชีพนับว่าเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ใหญ่หลวงที่สุดต่อสุขภาพของมนุษย์ และในปี 2562 มีผู้เสียชีวิต 4.95 ล้านคนจากการดื้อยาต้านจุลชีพ

ตอกย้ำว่าการดื้อยาต้านจุลชีพเป็นหนึ่งในภัยคุกคามต่อสุขภาพของมนุษย์ที่ใหญ่หลวงที่สุด และหากไม่ดำเนินการใด ๆ แล้ว ตัวเลขนี้อาจเพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้านคนต่อปีภายในปี 2593

ด้วยเหตุนี้ รายงานของสภาสุขอนามัยโลกในชื่อ “ทำให้สุขอนามัยเป็นเรื่องสำคัญ” (Making Hygiene Matter) จึงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการรักษาสุขอนามัยในครัวเรือนและในชุมชน เพื่อลดอุบัติการณ์ของการติดเชื้อและความชุกของการดื้อยาต้านจุลชีพ

รายงานฉบับนี้ได้ระบุ 4 เสาหลักในการสร้างความเปลี่ยนแปลง ได้แก่ การตระหนักถึงความสำคัญของสุขอนามัยในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง การลดความจำเป็นในการใช้ยาปฏิชีวนะด้วยการรักษาสุขอนามัย การตระหนักถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจของการรักษาสุขอนามัยอย่างมีประสิทธิภาพ และการส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อสร้างลักษณะนิสัยที่ดีในการรักษาสุขอนามัย

ดรเอลิซาเบธ สกอตต์ (Elizabeth Scott) นักจุลชีววิทยาและศาสตราจารย์กิตติคุณจากมหาวิทยาลัยซิมมอนส์ (Simmons University) ในเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา และประธานของสภาสุขอนามัยโลก แสดงความคิดเห็นว่า

รายงานฉบับใหม่จากสภาสุขอนามัยโลกได้รับการเผยแพร่ในเวลาที่เหมาะสม และให้คำแนะนำในการรักษาสุขอนามัยที่ปฏิบัติได้จริงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เราจำเป็นต้องดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้เพื่อปกป้องสุขภาพของประชาชน และการรักษาสุขอนามัยก็เป็นหนึ่งในวิธีที่ง่ายดาย เข้าถึงได้ และคุ้มค่าที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อและรักษาชีวิต

ผลสะท้อนของการรักษาสุขอนามัยมากขึ้นในช่วงโควิดระบาดนั้นเป็นที่ประจักษ์ชัด โดยพบว่าความชุกของโรคอื่นๆ ลดลง ซึ่งรวมถึงไข้หวัดตามฤดูกาลและไวรัสทางเดินหายใจตามฤดูกาลอื่นๆ โดยการเจ็บป่วยที่พบบ่อยในเด็กลดลงอย่างมาก ซึ่งบรรดานักวิทยาศาสตร์มี “ฉันทามติที่ชัดเจน” ว่า สาเหตุที่โรคทางเดินหายใจอื่นๆ ลดลงในช่วงที่โควิดระบาดนั้น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนและการบรรเทาผลกระทบของโรคระบาดด้วยการรักษาสุขอนามัยมากขึ้น

ทั้งนี้ สภาสุขอนามัยโลกเรียกร้องให้รัฐบาล ผู้กำหนดนโยบาย และหน่วยงานด้านสุขภาพ ยอมรับและดำเนินการตามคำแนะนำในรายงานฉบับนี้ เมื่อต้องรับมือกับภัยคุกคามจากโรคติดเชื้อทั้งในปัจจุบันและในอนาคต รวมถึงการดื้อยาต้านจุลชีพ

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค