‘หวานน้อยแล้ว แต่น้ำตาลยังไม่น้อย’ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผยผลทดสอบ ชานมระดับหวานน้อยยังทำให้ร่างกายได้น้ำตาลเกินเสี่ยงเจ็บป่วยหลายโรค
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบชานมในระดับหวานน้อยจำนวน 15 ตัวอย่าง พบว่าแม้สั่งในระดับหวานน้อยแล้วแต่ยังทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลเกินระดับที่ปลอดภัย เสี่ยงทำให้เจ็บป่วยหลายโรคเช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ผลการศึกษาล่าสุดยังพบว่าการดื่มชานมไข่มุกเป็นประจำเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วยทางจิตใจ โรควิตกกังวล ซึมเศร้า แนะนำไม่ควรบริโภคจนหมดแก้วและไม่ควรบริโภคทุกวัน
วันนี้ ( 2 กรกฎาคม 2567 ) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดย นิตยสารฉลาดซื้อได้สุ่มตรวจวิเคราะห์ชานมระดับความหวานน้อยเพื่อทดสอบว่าในระดับหวานน้อยได้ให้ปริมาณน้ำตาลที่ปลอดภัยหรือเป็นโภชนาการที่เหมาะสมกับร่างกายหรือไม่ โดยตรวจน้ำตาล 4 ประเภทคือ Fructoes, Glucose, Sucose, Maltose, Lactose จำนวน 15 ตัวอย่างคือ KOI The’, Nobicha, อาริกาโตะ,Monkey Shake, KAMU, Ochaya, Fuku MATCHA, OWL, ชาตรามือ, mixue, อเมซอน, เต่าบิน, อินทนิล,กาแฟพันธุ์ไทย, kudsan,
จากผลการทดสอบปริมาณน้ำตาลในชานมระดับ “หวานน้อย” พบว่า ชานมไข่มุกในระดับหวานน้อยที่มีปริมาณน้ำตาล น้อยที่สุด ได้แก่ ยี่ห้อ KAMU ให้ปริมาณน้ำตาล 1.80 กรัม/ ปริมาณ 100 มิลลิลิตร บริโภคจนหมดแก้วจะได้รับน้ำตาล 10.47 กรัม เทียบได้เป็น 2.6 ช้อนชา โดยประมาณและชานมระดับหวานน้อยที่มีน้ำตาลมากที่สุด คือ ยี่ห้อ อเมซอน ให้ปริมาณน้ำตาล 5.28 กรัม/ ปริมาณ 100 มิลลิลิตร บริโภคจนหมดแก้วจะได้รับน้ำตาล 32.16 กรัม เทียบได้เป็นปริมาณน้ำตาล 8 ช้อนชา จากทั้งหมด 15 ตัวอย่างที่ส่งทดสอบ ค่าเฉลี่ยที่ผู้บริโภคจะได้รับน้ำตาลเมื่อบริโภคชานมระดับหวานน้อยคือ 4.2 ช้อนชา เมื่อมองถึงสถานการณ์จริงที่ประชาชนจะบริโภคอาหารประเภทอื่นๆ อีกหลากหลาย การดื่มชานมไข่มุก ระดับหวานน้อยจึงยังทำให้ร่างกายได้น้ำตาลเกินความต้องการเพราะองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำให้บริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา หรือประมาณ 24 กรัม เท่านั้น ในปี 2567 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเผยว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลลดลง จาก 27 ช้อนชาต่อวัน เหลือ 23 ช้อนชาต่อวันแต่อย่างไรก็ตามการบริโภคน้ำตาลระดับดังกล่าวยังนับเป็นปริมาณที่สูงมาก ปัจจุบันประเทศไทยจึงมีผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ราว 400,000 คน ต่อปี คิดเป็น ร้อยละ 77 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมด
ก่อนหน้านี้ในปี 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคสุ่มเก็บตัวอย่างชานมไข่มุกแบบสูตรหวานระดับปกติ จำนวน 25 ยี่ห้อ ตรวจวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการ เช่น ปริมาณพลังงาน และน้ำตาลต่อแก้ว สารกันบูดและโลหะหนักในเม็ดไข่มุก ส่วนของปริมาณน้ำตาลต่อแก้วพบว่าตัวอย่างที่ให้น้ำตาลน้อยสุดคือ 4 ช้อนชา ขณะที่ตัวอย่างชานมไข่มุกที่มีปริมาณน้ำตาลมากที่สุดมีน้ำตาลมากถึงจำนวน 18.5 ช้อนชา มากกว่าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แนะนำให้บริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา ถึง 3 เท่า ผลการทดสอบในปี 2562 ทำให้สังคมตระหนักถึงอันตรายจากปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มชานมไข่มุกมากขึ้น
ทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การบริโภคชานมไข่มุก ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพในหลายด้าน ทั้งสุขภาพกายและจิตใจที่ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง, โรคเบาหวาน,โรคอ้วน การตรวจในปี 2562 ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคทำให้ประชาชนได้รู้ว่าชานมไข่มุกว่ามีน้ำตาลมาก คนหันมารักสุขภาพกันมากขึ้น เดี๋ยวนี้เราจึงได้ยินอยู่เสมอว่าคนจะสั่งแบบ หวานน้อยๆ แต่การทดสอบครั้งนี้ ทำให้เราเห็นว่า ระดับหวานน้อยก็ยังมีน้ำตาลไม่น้อยเลย เป็นระดับน้ำตาลที่ทำให้บริโภคทุกวันไม่ได้ จนถึงถ้าดื่มจนหมดแก้วก็ยังมากเกินไป การทดสอบครั้งนี้ค่าน้ำตาลที่ได้ยังไม่รวมถึงเม็ดไข่มุกที่เราไม่ได้ทดสอบ ประชาชนที่รักสุขภาพ ต้องการลดการบริโภคน้ำตาลลงจริงๆ จึงอยากให้มองถึงภาพรวมอาหารทั้งหมดที่รับประทานในแต่ละวันด้วย
ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลกต่างรณรงค์ให้ประชาชนลดการบริโภคน้ำตาลลง เพราะน้ำตาลทำให้เสี่ยงเป็นโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหลายโรค สำหรับเครื่องดื่มชานมไข่มุกกลับกำลังขยายตัว โดยคาดการว่า ในปี 2568 มูลค่าทางการตลาดของชานมไข่มุกทั่วโลก จะสูงถึง 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 343,751 ล้านบาท ท่ามกลางงานศึกษาวิจัยใหม่ๆ ที่ได้ค้นพบอันตรายของชานมไข่มุกมากขึ้น ล่าสุดการศึกษาวิจัยในประเทศจีนและได้ตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการ Journal of Affective Disorders พบความเชื่อมโยงมีนัยสำคัญระหว่างการบริโภคชานมเป็นประจำ กับความเสี่ยงที่สูงขึ้นของการเป็นโรควิตกกังวล ภาวะซึมเศร้าของเยาวชน คนรุ่นใหม่
อ่านผลการทดสอบชานมทั้งระดับหวานปกติ และ หวานน้อย ได้ที่เว็บไซต์ฉลาดซื้อ
ฉบับที่ 278 ผลทดสอบปริมาณน้ำตาลใน “ชานม” ที่ระดับหวานน้อย https://chaladsue.com/article/4581
ฉบับที่ 220 ผลทดสอบปริมาณพลังงาน น้ำตาล และข้อมูลโภชนาการอื่นๆ ในเครื่องดื่ม “ ชานมไข่มุก ” https://chaladsue.com/article/3171