6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, กรุงเทพฯ ประเทศไทย- เกซอนซิตี ประเทศฟิลิปปินส์: 2 NGO ไทย จับมือ NGO จากฟิลิปปินส์ และเครือข่ายระหว่างประเทศด้านสารพิษ ร่วมกันเข้าพบเพื่อยื่นข้อเรียกร้องและหารือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทย (อย.) ขอให้ดำเนินการกำกับดูแลอย่างเข้มงวด หยุดการผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมายซึ่งเต็มไปด้วยสารปรอทโดยทันที ในจดหมายที่ยื่นถึง นพ. ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และภญ. สุภาวดี ธีระวัฒน์สกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมเครื่องสำอางและวัตถุอันตราย มีการลงนามร่วมกันขององค์กรพัฒนาเอกชน 4 องค์กร ได้แก่ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) จากประเทศไทย EcoWaste Coalition จากประเทศฟิลิปปินส์ และเครือข่ายการกำจัดมลพิษระหว่างประเทศ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (IPEN-SEA) ซึ่งเป็นเครือข่ายที่มีสมาชิกองค์กรภาคประชาสังคมจากกว่า 120 ประเทศทั่วโลกที่ติดตามปัญหามลพิษในระดับนานาชาติ แรกสุดกลุ่มผู้ยื่นหนังสือได้นำเสนอข้อมูลผลการตรวจวัดการปนเปื้อนของสารปรอทในเครื่องสำอางบำรุงผิว 14 ตัวอย่างจากประเทศไทยที่ทาง EcoWaste Coalition ดำเนินการตรวจในช่วงที่ผ่านมา ในจำนวนนี้มี 12 รายการเป็นครีมบำรุงผิวหน้า และอีก 2 รายการเป็นครีมทาใต้วงแขน ซึ่งพบสารปรอทในปริมาณที่สูงมากอย่างน่าตกใจ นั่นคือระหว่าง 2,486 ppm ไปจนถึง 44,540 ppm ในขณะที่ค่ามาตรฐานการปนเปื้อนตามที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติเครื่องสำอางอาเซียน อนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2565 อยู่ที่ 1 ppm เท่านั้น “ผู้หญิงซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของการโฆษณาถึงสรรพคุณของครีมผิวขาว เพื่อหวังให้ดูอ่อนเยาว์ เพื่อรักษาสิว และแก้ปัญหาผิวหน้าต่างๆ กลายเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลกระทบจากสารปรอท โดยเฉพาะผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์” กลุ่มผู้ยื่นหนังสือกล่าวเกริ่น “เพื่อปกป้องผู้หญิง เด็ก และประชาชนกลุ่มเปราะบาง ที่มีความเสี่ยงจากการสัมผัสสารปรอทผ่านเครื่องสำอางที่ปนเปื้อน เราขอวิงวอนต่อ อย. ประเทศไทย ให้ดำเนินการตรวจสอบการผลิตเครื่องสำอางที่ปนเปื้อนสารปรอทอย่างต่อเนื่อง รวมถึงห้ามการจัดจำหน่ายและการส่งออกเครื่องสำอางเหล่านั้นไปยังต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปปินส์หรือประเทศอื่นใดก็ตาม” นี่คือสาระสำคัญที่เป็นจุดยืนและข้อเรียกร้องขององค์กรทั้ง 4 แห่ง จุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการยื่นเรื่องต่อหน่วยงานกำกับดูแลด้านเครื่องสำอางของไทยในครั้งนี้ มาจากการที่ EcoWaste Coalition ตรวจสอบพบสารปรอทปริมาณสูงในครีมบำรุงผิวหน้า 12 ยี่ห้อ และครีมบำรุงผิวขาวใต้วงแขน 2 ยี่ห้อที่มีข้อความระบุว่า “ผลิตในประเทศไทย” ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ขายโดยผู้ค้าปลีกออฟไลน์และผู้ค้าออนไลน์บางรายในประเทศฟิลิปปินส์ โดยไม่ได้รับการอนุญาตให้จำหน่าย (Market Authorization) จากสำนักงานอาหารและยาของประเทศฟิลิปปินส์ (FDA Philippines) แต่อย่างใด ผลิตภัณฑ์ที่พบได้แก่ ครีมเลดี้โกลด์ สาหร่ายทองคำ ผสมกลูต้า, ครีม Super Gluta Brightening, ครีมหมอยันฮี จำนวน 5 สูตร (Dr. Yanhee), ครีม Dr. วุฒิ-ศักดิ์ จำนวน 2 สูตร (Dr. Wuttisak), ครีมสมุนไพรสาหร่ายเหมยหยง ซุปเปอร์ไวท์เทนนิ่ง (Meyyong Seaweeds Super Whitening), ครีมพอลล่าโกลด์ (Polla Gold Super White Perfects), ครีมไข่มุกนาโน (White Nano), ครีมบำรุงหน้า 88 สูตรกลางคืน (88 Whitening Night Cream), ครีมรักแร้ขาว 88 (88 Total White Underarm Cream) และครีมรักแร้ขาว สโนว์ไวท์ (Snow White Armpit Whitening Underarm Cream) จากการสำรวจปีที่ผลิตของผลิตภัณฑ์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ผลิตในปี พ.ศ. 2565 ซึ่งล่วงเลยกำหนดเป้าหมายการเพิกถอนผลิตภัณฑ์ที่มีสารปรอทจากท้องตลาดตามที่อนุสัญญามินามาตะฯ กำหนดมาแล้วถึงสองปี ทั้งๆ ที่ทั้งประเทศไทยและฟิลิปปินส์ต่างให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาดังกล่าว ทั้งนี้ กลุ่ม NGO ทั้งไทยและนานาชาติ เรียกร้องให้ อย. เปิดเผยรายชื่อรายการเครื่องสำอางที่ปนเปื้อนสารปรอทที่มีการเพิกถอนแล้วให้เป็นปัจจุบัน รวมถึงขอให้นำระบบการแจ้งเตือนภายหลังออกสู่ท้องตลาดของอาเซียน (ASEAN Post-Marketing Alert System: PMAS) มาใช้แจ้งเตือนหน่วยงานรัฐและผู้บริโภคในภูมิภาคอาเซียนให้ทราบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ผลิตขึ้นโดยไม่คำนึงถึงข้อกำหนดต่างๆ โดยเฉพาะที่ปนเปื้อนสารปรอทและสารต้องห้าม หรือสารควบคุมอื่นๆ ตลอดจนกำกับดูแลอย่างจริงจังให้กลุ่มผู้ประกอบการปฏิบัติตามคำสั่งห้ามใช้สารปรอทในเครื่องสำอาง สิ่งที่ 4 องค์กรเน้นย้ำก็คือ เรื่องของอันตรายที่เกิดจากเครื่องสำอางปนเปื้อน โดยระบุว่า “นอกจากการเป็นภัยต่อผู้ใช้แล้ว สารปรอทยังอาจเป็นอันตรายต่อใครก็ตามที่อยู่ที่บ้าน รวมถึงทารกและเด็กซึ่งสูดดมไอระเหยของสารปรอทเข้าไป จึงทำให้ได้รับสารปรอทเป็นสองเท่า ทั้งจากการซึมเข้าสู่ผิวหนังและการสูดดมไอปรอท โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านที่มีระบบการถ่ายเทอากาศไม่ดีพอ จะยิ่งมีความเสี่ยงในการสูดไอระเหยสูงขึ้น” ในการนี้ องค์กรทั้ง 4 ยังได้อ้างอิงข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ระบุว่า สารปรอทเป็นหนึ่งใน “สารเคมี 10 ชนิดที่เป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุข” และ “สารปรอทอนินทรีย์ที่พบอยู่ในครีมและสบู่ที่ทำให้ผิวขาว ส่งผลกระทบทางสุขภาพ ได้แก่ ความเสียหายต่อไต เกิดผื่นแดง การเปลี่ยนสีของผิว (skin discoloration) เกิดรอยแผลเป็น (scarring) ผิวหนังจะมีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราน้อยลง เกิดอาการวิตกกังวล อาการซึมเศร้า อาการวิกลจริต (Psychosis) และอาการปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy)” และท้ายที่สุด ตัวแทน 4 องค์กรกล่าวย้ำกับหน่วยงานรัฐซึ่งมีหน้าที่ของไทย ว่า “ได้โปรดดำเนินการจัดการผู้กระทำความผิด เพื่อยุติการขายเครื่องสำอางที่มีการปนเปื้อนของสารปรอทอย่างผิดจริยธรรมและกฎหมาย และเพื่อปกป้องสิทธิทางสุขภาพที่ดีและสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ไร้มลพิษ”
Related Posts
‘เครือข่ายเอดส์-โรคไต’ เห็นด้วย เพิ่ม ‘กก.ฝั่งลูกจ้าง-นายจ้าง’ ใน บอร์ดแพทย์ สปส.
“มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ – สมาคมเพื่อนโรคไต” เห็นด้วย เพิ่ม […]
muttmai
5 พฤศจิกายน 2024ภาคีเครือข่าย ประสานเสียงเรียกร้องความปลอดภัยของเด็กไทยบนท้องถนน
เวที “อนาคตเด็กไทยกับความปลอดภัยบนท้องถนน” ทุกหน่ […]
muttmai
21 ตุลาคม 2024สภาผู้บริโภคเสนอตั้งคนนอกร่วมสอบ ปม ‘ดิไอคอน กรุ๊ป – สคบ.’ เพื่อความมั่นใจผู้เสียหาย
สภาผู้บริโภค เสนอเพิ่มบุคคลภายนอกจาก 4 องค์กร ร่วมเป็นค […]