เตือนใช้เจลอุดฟันเอง เสี่ยงได้วัสดุไม่ได้มาตรฐาน-หลุดลงหลอดลม หายใจไม่ออกดับ

เตือนอันตรายอุดฟันด้วยเจล เสี่ยงหลุดลงคอ หายใจไม่ออกถึงตาย ได้วัสดุไม่ได้มาตรฐาน หมอแจงต้องกรอเนื้อฟันผุออกก่อน ถึงบูรณะใส่วัสดุที่ได้มาตรฐาน

เมื่อวันที่ 6 ม.ค.66 นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกระแสในโซเชียลมีเดีย ที่นำเจลสารพัดประโยชน์มาอุดฟันและซ่อมฟันที่มีรอยแตกบิ่น รวมถึงอุดเพื่อแทนฟันที่สูญเสียไป อ้างติดทนนาน ว่า ถือเป็นการกระทำที่อันตรายมาก หากเจลหรืออุปกรณ์ดังกล่าวหลุดลงคอ และปิดกั้นหลอดลมหรือระบบทางเดินหายใจ

รวมถึงยังเสี่ยงอันตรายจากสารเคมี เพราะวัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานทางการแพทย์อาจเข้าสู่ร่างกายได้ ดังนั้น การอุดฟันหรือการรักษาทางทันตกรรม ควรได้รับการดูแลโดยทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างถูกวิธี วัสดุที่ใช้ภายในช่องปากต้องเหมาะสมและได้มาตรฐานสำหรับการรักษา เพื่อให้ฟันซี่นั้นๆ กลับมามีลักษณะใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด นอกจากนี้ ควรหมั่นดูแลสุขภาพช่องปาก ลดอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย

ด้าน ทพญ.สุมนา โพธิ์ศรีทอง ผอ.สถาบันทันตกรรม กล่าวว่า การอุดฟันเป็นการรักษาหรือบูรณะฟันที่เกิดความเสียหาย เช่น ฟันผุ ฟันเป็นรู ฟันที่แตก ฟันบิ่น ฟันที่มีรอยสึก ให้กลับมาอยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ มีรูปร่างลักษณะเหมือนเดิมหรือใกล้เคียงฟันเดิม และใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยทันตแพทย์จะตรวจ วางแผนและดูความเหมาะสมของวัสดุที่ใช้บูรณะ

ซึ่งวัสดุที่ใช้ในการบูรณะฟัน แบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ วัสดุอมัลกัมที่นิยมใช้บูรณะฟันหลัง และวัสดุบูรณะสีเหมือนฟัน เช่น วัสดุเรซินคอมโพสิต ซึ่งก่อนการบูรณะฟันไม่ว่าจะใช้วัสดุชนิดใด ต้องเตรียมโพรงฟัน โดยกรอตัดเนื้อฟันที่ผุออก และแต่งฟันให้มีขนาดรูปร่างที่เหมาะสมต่อวัสดุ แล้วจึงบูรณะฟันได้

“วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ต้องได้มาตรฐานทางการแพทย์ และอยู่ในความดูแลของทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยภายหลังจากการบูรณะฟันแล้ว ควรหมั่นดูแลรักษาสุขภาพช่องปาก แปรงฟันทุกวัน วันละ 2 ครั้ง ด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟัน ตลอดจนควรพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง” ทพญ.สุมนา กล่าว
ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค