โซล่าเซลล์ โยง Net Metering ขุมทรัพย์ที่ถูกรัฐขวาง !
ค่าไฟฟ้า แสนแพง และ แพง แบบไม่มีทีท่าจะหยุด แต่แปลกใจกันไหม ! ทำไม ? พลังงานโซล่า จาก หลังคาบ้าน ที่สามารถนำมา “หักลบกลบหน่วยอัตโนมัติ” โดยไม่ต้องจ่ายบิลเต็มจำนวน กลับถูกขวางให้อยู่ในวงจำกัด นั่นก็เพราะ มันมีเงื่อนงำ น่ะสิ !
พลังงานแสงอาทิตย์ เป็นของประชาชนทุกคน ที่ต้องได้รับโอกาสการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม แต่การติดตั้ง โซล่ารูฟท็อป (Solar Rooftop) หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ ระบบหลังคาโซล่าเซลล์ (Solar Cell) สำหรับบ้านพัก ซึ่งเป็นอุปกรณ์ แปลงพลังงานแสงอาทิตย์ ให้เป็น พลังงานไฟฟ้า โดยเชื่อมโยง “ระบบการรับซื้อไฟฟ้าบนหลังคา แบบ “หักลบกลบหน่วยอัตโนมัติ” หรือ “Net Metering” ซึ่งเป็นไฟฟ้าที่ผลิตใช้เองจากโซล่าเซลล์บนหลังคา กับ ไฟฟ้า ที่ใช้จากการไฟฟ้านครหลวง หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งผู้ใช้ไฟฟ้า จ่ายบิล ค่าไฟฟ้า ตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่หักลบแล้ว” และนี่เอง … กลับเป็นตัวที่ถูกขวางกั้นจากภาครัฐ ด้วยกลวิธี ตั้งกฏเกณฑ์ที่แสนซับซ้อน !
นักการเมืองไม่ได้ฝัน แต่มีคนขายฝันให้ แถม หน่วยราชการก็ตามติดไปด้วย หน่วยราชการ มีงบประมาณในมือแค่ 3 ร้อยล้านบาท แต่ได้ทำงานกำกับดูแลกิจการพลังงานที่มีมูลค่า 2 แสนล้านบาท ถึง 3 แสนล้านบาท ต่อปี พระอิฐ พระปูน ที่ไหน จะไม่เซาะกร่อน” แถม บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ ล้วนมี อดีตรัฐมนตรี – อดีตปลัดกระทรวง ด้านเศรษฐกิจ , อุตสาหกรรม , อนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนเป็นขาใหญ่ ที่เข้าไปเป็นกรรมการบริษัทพลังงาน หนุนหลัง คอยปกป้องผลประโยชน์ให้ภาคเอกชน
ทั้งหมดนี้ เป็นเป้าที่ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการ สภาองค์กรของผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์กับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ชี้ให้เห็นถึงตัวการสำคัญ ที่อยู่เบื้องหลังขัดขวางการติดโซล่าเซลล์ภาคประชาชน จึงทำให้ขยับไปได้เชื่องช้าอย่างผิดปกติ สำหรับประเทศไทย ทั้งที่ พลังงานแสงอาทิตย์ “ฟรี” แต่กลับมี “โควตา” แทบไม่น่าเชื่อว่า ปี 2565 มีโควตา แค่ 10 เมกกะวัตต์ แถม ปี 2566 หมดโควตา ทั้งที่เพิ่งผ่านมาถึงแค่เดือนเมษายน 2566 แต่ทำไม รัฐบาล ไม่เพิ่มโควตา ในเมื่อประชาชนจำนวนมาก ยังมีความต้องการ เรื่องไฟฟ้าต้องอาศัยความยึดหยุ่นในการบริหารจัดการด้วย เมื่อเทียบกับการผลิตไฟฟ้าล้นระบบ ซึ่งเป็นตัวการโยนภาระค่าไฟฟ้าที่แสนแพงมาให้ประชาชน ภายใต้เงื่อนไข “ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย หรือ take or pay ” เป็นภาระค่าไฟฟ้าที่มาจากนโยบายที่ไม่ปกติของรัฐบาล เพราะเอื้อประโยชน์ให้ โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ได้กำไรมหาศาล ทำไมยังเดินหน้าต่อได้
“โควตา มีได้นะ แต่ต้องมีในลักษณะที่ควรดูถึงความต้องการของประชาชนด้วยสิ หรือมีความยึดหยุ่น ใช้คำว่า ยึดหยุ่น นึกออกไหม ตอนนี้มันเต็มแล้ว เปิดได้ไหม ไอ้คำว่า ยึดหยุ่น คือขอเกลี่ยตรงโน้นหน่อยได้ไหม คุณยังไม่ได้เริ่มสร้าง นี่คือความยึดหยุ่นไง นี่คือสิ่งที่การบริหาร-จัดการเรื่องไฟฟ้า มันต้องอาศัยเรื่องความยึดหยุ่นในการบริหารจัดการด้วย
นายอิฐบูรณ์ บอกว่า “ Net Metering “ ยังถูกขวางจากรัฐบาล เพราะกลัวการรับซื้อไฟฟ้าคืน ทำให้ตอนนี้ ประชาชนถูกมัดมือชกให้อยู่ภายใต้ระบบที่ต้องจ่ายค่าไฟหน่วยละ 5 บาท 6 บาท เพื่อไปจ่ายค่าก๊าซ และ น้ำมัน ซึ่งเป็น “พลังงานฟอสซิล” ทางเทคนิค เรียกว่า การหน่วงเวลา หรือ ถ่วงเวลาโดยเทคนิค เราพยายามวิเคราะห์ว่ามันเกิดจากใคร ?
หากเทียบให้เห็นภาพ จากตัวอย่าง หากบ้านไหน ไม่ได้ติดตั้งโซล่าเซลล์ เช่น เดือนเมษายน ใช้ไฟฟ้าจำนวน 548 หน่วย คำนวณจากค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4 บาท ต้องจ่ายบิลประมาณ 2,192 บาท เมื่อบ้านดังกล่าวติดตั้งแผงโซล่าเซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในบ้านได้ 355 หน่วย (หากค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4 บาท คิดเป็นเงิน 1,420บาท)
แต่หากบ้านไหน ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ ระบบ Net Metering จะคำนวณ “หักลบกลบหน่วยอัตโนมัติ” โดยคำนวณจากจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่บ้านเราใช้ นำมาหักลบกับจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่บ้านเราผลิตได้ เช่น เมื่อติดตั้งแผงโซลาเซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในบ้านได้ 355 หน่วย หากค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4 บาท คิดเป็นเงิน 1,420 บาท ดังนั้น หากนำไฟฟ้าที่ใช้จำนวน 548 หน่วย ลบออกจากไฟฟ้าที่บ้านเราผลิตได้เอง 355 หน่วย ดังนั้น บ้านหลังนี้จึงจ่ายค่าไฟฟ้าเดือนดังกล่าวเพียง 193 หน่วย หรือ 772 บาท ( ทั้งนี้ จะต้องจ่ายกี่บาทขึ้นอยู่กับราคาค่าไฟฟ้าต่อหน่วย ณ ช่วงเวลาดังกล่าว )
นี่จึงเป็นเหตุสำคัญที่การติดตั้ง โซล่าเซลล์ ทำให้ประชาชนสามารถลดค่าใช้จ่ายภาระค่าไฟฟ้าลงได้ และยังสามารถสร้างรายได้จากขายไฟฟ้าที่เหลืออีกด้วย ที่สำคัญยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่เคยอยู่ในฐานะ “ผู้ซื้อไฟฟ้า” เปลี่ยนสู่ “ผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองและขายให้การไฟฟ้าในส่วนที่เหลือ” กลายเป็น “ระบบกระจายศูนย์พลังงาน Decentralisation”
จากเดิมที่เป็น “ระบบรวมศูนย์พลังงาน Centralisation” ที่เราทุกคนยังคงต้องพึ่งพาโรงไฟฟ้าฟอสซิลขนาดใหญ่
แต่เชื่อไหมว่า มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้นน่ะสิ เพราะโซล่าเซลล์ ที่ติดตั้งบนหลังคาบ้านประชาชน เป็นระบบที่เชื่อมกับ การไฟฟ้านครหลวง ( เขตกรุงเทพ ฯ และ ปริมณฑล ) หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ( ต่างจังหวัด ) เมื่อโซล่าเซลล์ ผลิตไฟฟ้าจะถูกนำมาใช้กับบ้านเรือนก่อน หากไม่เพียงพอ ระบบจะดึงไฟฟ้า ของ 2 การไฟฟ้า เพิ่มเข้ามา ฉะนั้น มันจึงเกิดสิ่งที่หลายคนไม่รู้มาก่อน อย่างที่ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการ สภาองค์กรของผู้บริโภค ให้สัมภาษณ์กับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
“การไฟฟ้า ไม่ยอมใช้มิเตอร์เดียวน่ะสิ ! เขาบอกว่า ต้องทำให้มีอะไรที่มันอลังการเพิ่มขึ้นนั่นก็คือ “แยกมิเตอร์” ใช้ของการไฟฟ้า ตัวหนึ่ง กับ มิเตอร์ที่ชาวบ้านติดตั้งโซล่าเซลล์อีกตัวหนึ่งประชาชนต้องรับภาระจ่ายค่ามิเตอร์เพิ่มอีก 2,000 บาท เป็นมิเตอร์ใหม่แบบดิจิตอล จากนั้น จะใช้ระบบรับซื้อไฟฟ้าที่เรียกว่า เน็ตบิลลิ่ง (Net-billing ) ซึ่งเวลานี้ชาวบ้านถูกคำนวณด้วยวิธีแบบนี้ โดยถูก รับซื้อไฟฟ้า ที่หน่วยละแค่ 2.20 บาท ถ้าจะพูดให้เห็นภาพชัดๆ นั่นคือ “การไฟฟ้าฯ รับซื้อไฟฟ้า จากประชาชน ต่ำกว่า ราคาที่ประชาชน ขายให้กับ การไฟฟ้า ฯ ซึ่งระบบนี้ถูกกำหนดมาจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ. )
ดังนั้น มาตรการที่จะส่งเสริมระบบโซล่ารูฟท็อปให้เกิดขึ้นได้จริง ต้อง ยกเลิกนโยบายรับซื้อ (Net billing) แต่ มีคำถามว่า ทำไม แผนผลักดัน “ล้านหลังคา ล้านโซล่าเซลล์ “พลังผู้บริโภค สู่พลังงานหมุนเวียน” ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง ถึงแม้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สมาชิกสหพันธ์ผู้บริโภคสากล) สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และ กองทุนแสงอาทิตย์ รวมพลังผลักดัน การติดตั้ง โซล่าเซลล์ บนหลังคาบ้าน แต่ภาคครัวเรือน ยังถูกปิดกั้น นั่นเพราะภาครัฐยังยึดผลกำไรของอุตสาหกรรมพลังงานทั้งระบบเอาไว้
นั่นก็เพราะ ความยุ่งยากของกฏหมาย ที่กำหนดให้ การติดตั้งระบบโซลาซลล์ ต้องขออนุญาตจากหน่วยงาน ของภาครัฐ ถึง 3 หน่วยงาน ได้แก่
-คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ( กกพ.) กระทรวงพลังงาน
-การไฟฟ้านครหลวง ( กฟน . ) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)
-รวมถึง หน่วยงาน สำนักงานเขต/อำเภอ/ หน่วยงานท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต.
เมื่อประชาชนต้องแจ้งถึง 3 หน่วยงานภาครัฐ เพื่อขอติดตั้งโซลาร์เซลล์ ทำให้ไม่มีใครอยากดำเนินการ เรื่องนี้ ที่สำคัญ ยังมีกฎกระทรวงมหาดไทย ที่ทำให้วุ่นวายเข้าไปอีก เพราะกำหนดให้การติดตั้งโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านเรือน จะต้องมีผลการตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรง ที่จัดทำและรับรองโดยวิศวกรโยธา จากนั้นให้แจ้งต่อเทศบาลท้องถิ่น ให้ทราบก่อนดำเนินการ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ ออกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ลงนามโดย พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ออกกฎกระทรวงฉบับที่ 65 ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 โดยปัญหาที่ตามมา นั่นคือ ประชาชน ต้องจ่ายเงินเป็นค่าวิศวกร รับรองแบบ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการจดแจ้ง ซึ่งจนถึงปัจจุบัน ( พ.ศ. 2566 ) เงื่อนไขที่สร้างภาระให้กับประชาชนยังคงอยู่ โดยไม่มีมาตรการใดๆ จากรัฐบาลมาอุดหนุน หรือเอื้อประโยชน์ให้กับประชาชนที่ต้องการ ติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อประหยัดค่าไฟฟ้า
นายอิฐบูรณ์ ยังชี้ให้เห็นปมเงื่อน การที่ภาครัฐ ขวางการติดตั้งโซล่าเซลล์ เพราะมีเหตุที่ไม่ธรรมดา
1.การยื่นแบบเพื่อติดต้องโซล่าเซลล์แสนยุ่งยาก แถม ค่าใช้จ่ายยุ่บยั่บ เช่น ชาวบ้าน ต้องไปขอให้“ วิศวโยธาระดับภาคี ” และ “ วิศวกรไฟฟ้า” เป็นผู้เขียนแบบและรับรองแบบ ที่เรียกว่า “ อ.1 “ ต้องจ่ายให้โยธา หัวละ 5,000 บาทขึ้นไป ที่เราคำนวณมา ฝั่งโยธาก็ 5, ฝั่งไฟฟ้าก็ 5, นึกออกไหม คนรวยถึงจะสามารถติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาได้ นั่นก็เพราะมันถูกยกระดับให้เป็นสินค้ากลุ่มแคบ รัฐบาล จึงบีบไว้เพื่อป้องกันไม่ให้กระจายเป็นวงกว้างขวาง
2.อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากชาวบ้านต่ำกว่า ราคาที่การไฟฟ้าขายให้ชาวบ้าน “ ครึ่งต่อครึ่ง ”
3.แผงโซล่าเซลล์ มีอายุการใช้งานไฟฟ้า 20 ปี แต่กลับรับซื้อไฟฟ้าแค่ 10 ปี
4.ไม่มีแรงจูงใจในการให้ชาวบ้านเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงิน เพื่อติดตั้งโซล่าเซลล์ ไม่ว่าจะเป็น เงินผ่อน, หรือ สินเชื่อไฟแนนซ์โซล่าเซลล์ อย่างดีที่สุด ก็แค่ใช้บัตครดิตผ่อนเอา
”แต่อย่าลืมนะว่า….. ติดตั้งโซล่าเซลล์ ตีหยาบๆ กิโลวัตต์ละ 35,000 บาท , 2 กิโลวัตต์ คือ 70,000 บาท, 3 กิโลวัตต์ ก็คือ 105,000 บาท ต้องใช้เงินเป็นแสนบาท, แต่บ้านทั่วไปที่เป็นแบบ 15 แอมป์ มันจะได้ไม่เกิน 5 กิโลวัตต์ ถ้าติดตั้งก็เสียเงินประมาณ 160,000 บาท เงินเป็นแสนน่ะ เพราะฉะนั้น ถ้าใช้บัตรเครดิตผ่อน บางคนมีวงเงินแค่ 20,000 บาท ก็หมดสิทธิ์ติดตั้งไปเลย ส่วนธนาคารก็ไม่มีระบบให้สินเชื่อเพื่อติดตั้งโซล่าเซลล์ เพราะฉะนั้น ภาครัฐ จะต้องนำร่อง เช่น ปล่อยสินเชื่อ 0 เปอร์เซ็นต์ 5 ปี ซึ่งเป็นจุดคุ้มทุนของโซล่าเซลล์
จากมูลเหตุทั้งหมด คงต้องตั้งคำถามกลับไปยังรัฐบาล ว่าเมื่อไหร่ จะมองถึงความทุกข์และความต้องการของประชาชนคนระดับกลาง จนถึงตัวเล็ก ไม่ใช่ว่าการติดตั้งโซล่าเซลล์เปิดทางให้เฉพาะคนรวย ถามว่า ทำไม ประเทศยากจน อย่าง เคนยา ถึงสามารถสนับสนุนประชาชนได้ แถม มีการให้เงินทุน หรือ แม้แต่ ชาติมหาอำนาจตะวันตก ทั้ง สหรัฐฯ , อังกฤษ ยอมทุ่มงบประมาณเพื่อเป็นฐานให้ประชาชนติดตั้งโซล่าเซลล์ แต่เมืองไทย ทำไมยังมีแต่อุปสรรคขวางกั้น โดยเฉพาะนโยบายการส่งเสริมจากภาครัฐ จะเป็นไปได้แค่ไหน เพราะเงื่อนไขและค่าใช้จ่ายติดตั้งสูงยังไม่เอื้อต่อประชาชน คนไทยก็คงต้องจ่ายค่าไฟแพงต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด ก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลชุดใหม่ จะหันมาเอื้อประโยชน์ให้ประชาชน แทน การหนุนหลังเฉพาะแค่ภาคเอกชน เพียงเท่านั้น