ผลักดันแก้กฎหมาย สร้างความร่วมมือคุ้มครองผู้บริโภค

สภาผู้บริโภค หารือ สภาทนายความ สร้างความร่วมมือพัฒนากลไกเครือข่ายทนายความระดับจังหวัด พร้อมเสนอผลักดันแก้กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค เพื่อให้แก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 สภาผู้บริโภคได้เข้าหารือร่วมกับสภาทนายความ เพื่อสร้างความร่วมมือ พัฒนา และขับเคลื่อนเครือข่ายทนายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในระดับจังหวัด ผลักดันการปรับปรุงพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 เพื่อให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายได้รับการแก้ไขเยียวยาอย่างรวดเร็ว รวมทั้งพัฒนาแนวทางการสื่อสารสาธารณะและเผยแพร่ข้อมูลให้กับผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภครู้เท่าทันเรื่องกฎหมายและคดีที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค

โสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาผู้บริโภค สะท้อนถึงปัญหาที่พบในการทำคดีผู้บริโภคว่า กรณีที่ผู้บริโภคฟ้องคดีด้วยตัวเองพบว่าผู้บริโภคบางส่วนขาดความเข้าใจเรื่องการฟ้องคดี และไม่ทราบขั้นตอนว่าเมื่อฟ้องคดีแล้วต้องดำเนินการอย่างไรต่อ สุดท้ายจึงต้องหาทนายไปช่วยการจัดการคดี ปัญหาอีกประการหนึ่งคือเจ้าพนักงานคดีมีจำนวนไม่เพียงพอ ทำให้การจัดทำคำฟ้องให้ผู้บริโภคมีความล่าช้า

โสภณ กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาเรื่องการนำกฎหมายไปใช้งาน พบว่าบางบทบัญญัติในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ไม่ถูกนำไปใช้เท่าที่ควร จึงทำให้ผู้บริโภคอาจเสียสิทธิพึงมีตามที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ นอกจากนี้ยังพบว่า พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวศาลไม่มีอำนาจกำหนดค่าเสียหายทางจิตใจให้แก่ผู้บริโภค ทำให้ผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิไม่ได้รับการเยียวยาอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงกระบวรการยุติธรรมได้อย่างรวดเร็ว จึงขอความร่วมมือในการสร้างกลไกเครือข่ายทนายความในระดับภูมิภาคหรือจังหวัด เพื่อกระจายอำนาจการฟ้องคดีผู้บริโภคได้ทันที เพราะที่ผ่านมาเวลาจะฟ้องทุกจังหวัดจะต้องส่งเรื่องมาที่ส่วนกลางจึงเกิดความล่าช้า

“สภาผู้บริโภคเสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคให้มีประสิทธิภาพ ได้แก่ เพิ่มเติมให้ศาลมีอำนาจกำหนดค่าเสียหายทางจิตใจให้แก่ผู้บริโภค เพิ่มบทบาทเจ้าพนักงานคดีในการช่วยเหลือผู้บริโภคในการทำเอกสารยื่นคำฟ้อง คำให้การ ตลอดจนให้คำแนะนำต่าง ๆ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้สิทธิได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะกรณีผู้บริโภคถูกฟ้องเป็นจำเลย ปรับปรุงบทบัญญัติให้สิทธิผู้บริโภคที่เป็นจำเลยขอโอนคดีไปศาลที่ทำให้พิจารณาคดีสะดวกมากขึ้นและกำหนดหน้าที่ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อใช้กลไกการระงับข้อพิพาททางเลือก เช่น ศูนย์ไกล่เกลี่ย และให้ศาลไม่รับคดีจนกว่าจะมีการไกล่เกลี่ยก่อน เพื่อลดคดีขึ้นสู่ศาลและช่วยให้ผู้บริโภคเข้ากระบวน การยุติธรรมได้มากขึ้น” โสภณระบุ

หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสิ่งที่สภาผู้บริโภคทำควบคู่กับการฟ้องคดีคือการเตือนภัยและประชาสัมพันธ์คําพิพากษาให้ผู้บริโภคทราบ เพราะอาจมีผู้เสียหายอีกหลายรายที่อาจไม่ทราบเรื่องคดี นอกจากนี้ยังเป็นการเตือนภัยและให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดีต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคได้รู้เท่าทันและรู้แนวทางการจัดการเบื้องต้น หรือช่องทางที่ต้องติดต่อในกรณีทีถูกเอารัดเอาเปรียบ ทั้งนี้ หากทางสภาทนายความมีการฟ้องคดีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือมีคําพิพากษาที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ทางสภาผู้บริโภคก็ยินดีเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับคําพิพากษาให้กับผู้บริโภค นักกฎหมาย และทนายความได้ทราบ

สุภาพร ถิ่นวัฒนากูล รองเลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า ปัจจุบันสภาผู้บริโภคมีองค์กรสมาชิก 319 องค์กรครอบคลุม 43 จังหวัด โดยองค์กรสมาชิกในหลายจังหวัดได้เริ่มทำงานร่วมกับสภาทนายความ เรื่องการให้ความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมาย แต่อาจไม่ครบทุกจังหวัด จึงอยากขอความร่วมมือจากสภาทนายความในเรื่องการทำงานร่วมกันในพื้นที่ระดับจังหวัด รวมถึงการจัดเวทีอบรมต่าง ๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพทนายความในแต่ละพื้นที่ เจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภค รวมถึงเจ้าหน้าที่ส่วนงานพื้นที่ระดับจังหวัด

ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า ถือเป็นความร่วมมือที่ดี โดยมีเป้าหมายเดียวกัน คือการช่วยเหลือประชาชน ปัจจุบันสภาทนายความได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ ที่ลิดรอนสิทธิของประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม การจะแก้กฎหมายแต่ละฉบับได้นั้น จำเป็นต้องมองถึงภาพรวมทั้งหมดเพื่อไม่ให้กระทบกฎหมายฉบับอื่น ๆ

ด้าน สัญญาภัชระ สามารถ อุปนายกฝ่ายปฏิบัติการ แสดงความเห็นว่า การสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลความรู้เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เพราะประชาชนส่วนใหญ่รู้ถึงปัญหาแต่ไม่รู้ทางแก้ หากมีการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ที่ดี ทำให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายได้อย่างเข้าใจ ก็อาจช่วยลดหรือบรรเทาปัญหาต่าง ๆ ลงได้

 

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค