วิธีจัดการปัญหา.. เมื่อพบสิ่งปนเปื้อนในอาหารที่ซื้อมา

หากคุณพบสิ่งแปลกปลอมในอาหาร โดยสิ่งปนเปื้อนดังกล่าวอาจเป็น เศษแก้ว ก้อนกรวด ลวดเย็บกระดาษ ตะกอนขาวขุ่น เส้นขนต่าง ๆ เศษซากจิ้งจก หรือ ชิ้นส่วนของแมลง เป็นต้น ไม่ว่าจะเปิดบรรจุภัณฑ์รับประทานแล้วหรือไม่ ผู้บริโภคสามารถดำเนินการแก้ปัญหาด้วยวิธี ดังต่อไปนี้

5 ขั้นตอนการแก้ไขปัญหา

1) ถ่ายภาพและเก็บผลิตภัณฑ์อาหารที่พบสิ่งปนเปื้อนไว้เป็นหลักฐาน (กรณีมีใบเสร็จให้เก็บเอาไว้ด้วย)

2) หากได้รับประทานอาหารที่มีสิ่งปนเปื้อนเข้าไปแล้ว และกังวลว่าอาจเกิดอันตรายจากสิ่งที่รับประทานเข้าไป ให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกาย พร้อมขอใบรับรองแพทย์และเก็บใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลไว้เป็นหลักฐาน

3) นำหลักฐานทั้งหมดข้างต้น เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ ณ สถานีตำรวจในท้องที่

4) โทรแจ้งบริษัทผู้ประกอบการถึงความบกพร่องของสินค้า แจ้งความต้องการที่จะให้บริษัทดำเนินการแก้ปัญหา และชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น

5) ทำหนังสือถึงประธานกรรมการบริษัท โดยส่งเป็นไปรษณีย์ตอบรับ บรรยายสรุปถึงปัญหาที่พบ ระบุความเสียหาย และความต้องการที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน ชดเชยค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียเวลา ค่าขาดประโยชน์ หรือ ค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับผู้ประกอบการ

จากกรณีที่มีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อนอยู่ในผลิตภัณฑ์อาหาร ผู้ประกอบการเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธิ์ โดยมีบทลงโทษอยู่ใน มาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำบทลงโทษนี้มาเป็นฐานประกอบการคำนวนความเสียหายในการเรียกร้องให้ผู้ประกอบการชดเชยเยียวยาได้ ที่สำคัญหากไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ ผู้บริโภคสามารถดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ได้

ทั้งนี้ควรเก็บหลักฐาน เช่น สินค้าที่มีสิ่งปนเปื้อนเอาไว้ ไม่ควรส่งมอบให้กับผู้ประกอบการ แม้ว่าผู้ประกอบการจะอ้างว่าเพื่อนำไปตรวจสอบก็ตาม

แหล่งข้อมูล: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค