สอบ. ย้ำ ชดเชยผู้เอาประกันอาคเนย์ ต้องคำนึงถึงค่าเสียโอกาส เสนอ คปภ. รายงานสถานะประกอบการ บ.ประกันภัย

 

จากกรณี เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) รับคำขอเลิกกิจการ บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ออกประกาศให้ผู้ที่ซื้อประกันภัยโควิด – 19 ที่ยังไม่เคยแจ้งขอรับเบี้ยประกัน สามารถแจ้งความประสงค์เพื่อขอรับเบี้ยประกันภัยคืนเต็มจำนวน ผ่านช่องทางออนไลน์ของบริษัทได้ ตั้งแต่วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 จนถึงวันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565 ทั้งนี้ ในกรณีที่ลูกค้าไม่ประสงค์จะรับคืนเบี้ยประกันภัยโควิด-19 กรมธรรม์ของผู้ซื้อประกัน จะยังคงมีผลบังคับ ตราบเท่าที่บริษัทยังคงประกอบธุรกิจประกันภัยอยู่ นั้น

นายจิณณะ แย้มอ่วม อนุกรรมการด้านการเงินและการธนาคาร สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า การที่บริษัทประกันภัยแก้ปัญหาโดยขอเลิกกิจการ ถือว่าเป็นผลเสียกับผู้บริโภคมากกว่าการที่ คปภ. มีคำสั่งให้เลิกกิจการ เนื่องจากเมื่อบริษัทฯ ขอเลิกกิจการเอง กองทุนประกันวินาศภัยจะไม่เข้ามาดูแล นั่นหมายความว่าผู้บริโภคมีโอกาสที่จะถูกลอยแพ ทั้งนี้ขึ้นอยู่ว่าผู้ประกอบการจะมีความรับผิดชอบต่อผู้บริโภคมากน้อยเพียงใด ดังนั้นจึงเป็นเส้นทางที่ไม่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค

ด้าน นายโชติวิทย์ เกิดสนองพงศ์ ผู้ช่วยเลขานุการ อนุกรรมการด้านการเงินการธนาคาร สอบ. ระบุว่า หากบริษัทประกาศให้ผู้บริโภคไปยกเลิกกรมธรรม์โดยจะคืนเบี้ยประกันภัยนั้น ควรมีการคืนเบี้ยประกันพร้อมเงินค่าเสียโอกาสของผู้บริโภคที่จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ รวมถึงให้สิทธิผู้บริโภคเลือกโอนสิทธิย้ายกรมธรรม์ของตัวเองไปบริษัทประกันภัยอื่นโดยสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ต้องไม่ลดลง ทั้งนี้ ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกว่าจะยกเลิกสัญญาหรือไม่ยกเลิกก็ได้ และหากต้องการยกเลิกสัญญา ผู้บริโภคสามารถยกเลิกได้โดยไม่ต้องถูกจำกัดระยะเวลาอยู่ภายในวันที่ 1 – 7 กุมภาพันธ์ 2565 เท่านั้น

ทั้งนี้ สอบ. มีข้อเสนอไปยัง คปภ. 3 ข้อ ดังนี้
1) ขอให้ คปภ. พิจารณาคำขอเลิกกิจการของอาคเนย์โดยคำนึงถึงสิทธิผู้บริโภคเป็นหลัก
2) ในการคืนเบี้ยประกันภัย ในกรณีที่บริษัทประกาศเชิญชวนให้ผู้เอาประกันยกเลิกสัญญาประกันภัยกับบริษัทนั้น เห็นว่าการคืนเบี้ยประกันภัย ควรมีการคืนเบี้ยประกันพร้อมเงินค่าเสียโอกาส 5 เท่าจากเบี้ยประกัน เนื่องจากเป็นการเสียโอกาสของผู้เอาประกันที่จะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม
3) ขอให้ คปภ. เรียกบริษัทประกันภัยต่างๆ ส่งรายงานสถานะการประกอบการประกันภัย และรายงานผู้บริโภคทราบ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่าบริษัทประกันอื่นๆ จะไม่มีปัญหาแบบอาคเนย์ ทำให้คู่สัญญา เช่น โรงพยาบาล อู่ซ่อมรถ ไม่ปฏิเสธการเคลมกับผู้เอาประกันภัย

ที่มา: แฟนเพจสภาองค์กรของผู้บริโภค

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค