คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ มีมติฉีดวัคซีนโควิด19 แบบ Walk In ให้แต่ละจังหวัดพิจารณาดำเนินการได้ทันที เพื่ออำนวยความสะดวก นอกเหนือจากคนที่จองผ่านแอปฯ “หมอพร้อม “ พร้อมเดินหน้าจัดหาวัคซีนเพิ่มจาก 100 ล้านโดสเป็น 150 ล้านโดสในปี 2565
เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ว่า ที่ประชุมได้รับทราบนโยบายของนายกรัฐมนตรีในการจัดหาวัคซีนโควิด19 ให้เพียงพอกับประชาชนทุกคน โดยให้มีการจัดหา 3 แนวทาง 1. ให้มีการจัดหาวัคซีนโควิดเพิ่มเติมจาก 100 ล้านโดส เป็น 150 ล้านโดสในปี 2565 2.การเร่งทำงานเชิงรุกในการเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนให้เร็วและมากรายที่สุด เพื่อเพิ่มโอกาสในการรับวัคซีน และให้ครอบคลุมถึงสายพันธุ์อื่นๆ สายพันธุ์กลายพันธุ์หากมีการทดลองวิจัยแล้ว และ 3.ปรับแนวทางการฉีดวัคซีนให้มีการปูพรมเข็มแรกกับพี่น้องประชาชนมากที่สุด เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อ ลดโอกาสความรุนแรง และเสียชีวิต
โดยการฉีดวัคซีนจะเริ่มในต้นเดือน มิ.ย. 2564 เป็นต้นไปและมี 3 รูปแบบ คือ 1.รูปแบบการนัดผ่านไลน์ หรือแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” หรือแอปพลิเคชันอื่นๆที่รัฐบาลจะจัดให้ 2.นัดเป็นกลุ่มก้อน เช่น พี่น้องอสม. หรือองค์กรภาครัฐและเอกชน และ 3.การปูพรมเรื่องของ Walk In ซึ่งรายละเอียดกรมควบคุมโรคจะเป็นผู้ดำเนินการ โดยจะให้ทางพื้นที่หรือแต่ละจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด และมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด(นพ.สสจ.) เป็นผู้ดำเนินการเรื่องนี้ นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณามาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการบริจาคเงินและทรัพย์สินให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อสนับสนุนการวิจัย การพัฒนาการผลิต และการกระจายวัคซีนให้มีคุณภาพและปริมาณเพียงพอ
ผู้สื่อข่าวถามกรณีการฉีดวัคซีนโควิด Walk In สามารถเริ่มดำเนินการได้ในเดือน พ.ค. หรือต้องเริ่มมิ.ย.เป็นต้นไป นายอนุทิน กล่าวว่า นโยบายที่ตนลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมศูนย์วัคซีนต่างๆ คำถามแรกคือ รับนัดก่อน หรือใครมาก็ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ได้ทุกรูปแบบ จึงได้ย้ำกับทุกท่านว่า โอเค แต่ขอให้พิจารณา Walk In และต้องจัดวัคซีนให้เพียงพอ และอำนวยการความสะดวกให้มากที่สุด ซึ่งพื้นที่ไหนพร้อมก็เริ่มได้ อย่าง กทม. ได้ขอวัคซีนมา 1 ล้านโดส แต่ในเรื่องการบริหารจัดการอยู่ที่พื้นที่ ซึ่งก็จะมีการประกาศว่าจะให้บริการอย่างไร ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญคือ การ Walk In อาจไม่ได้ทุกคน หากบางศูนย์มีคนมารับบริการมาก แต่ก็พยายามทำให้เกิดความสะดวกสบายมากที่สุด
เมื่อถามว่า การWalk In รับวัคซีนโควิดคือ ทั่วประเทศใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ถูกต้อง อยู่ที่แต่ละจังหวัดพิจารณา ว่าจะเริ่มอย่างไร เพราะการบริหารภายใต้ศบค. จะมีการจัดลำดับขั้นตอนการบริหาร โดยสธ. มีหน้าที่หลักในการจัดหาวัคซีน เพื่อให้แต่ละพื้นที่ไปบริหารจัดการกันในแต่ละพื้นที่เอง
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า มีประชาชนจำนวนไม่น้อยอยากฉีดวัคซีน ก็อยากอำนวยความสะดวกตรงนี้ จึงได้จัดบริการรูปแบบ Walk In โดยกรมควบคุมโรคเป็นผู้ประสานกับหน่วยงานเกี่ยวข้อง ซึ่ง คร.จะระบุยอดเป้าหมายการฉีดแต่ละจังหวัด โดยภาพรวมจะให้แต่ละจังหวัดอย่างน้อยครอบคลุมประชากร 70% ของประชากร แต่การกระจายจะไม่มากเท่ากรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งคำว่า ปูพรมคือ ฉีดทุกคนในพื้นที่ที่สมัครใจให้มากที่สุด ซึ่งการ Walk In นั้นจะสอดคล้องกับปูพรม คนที่โหลดจองผ่านแอปพลิเคชันได้ก็ดี จะได้ทราบวันเวลาชัดเจน แต่กรณีคนที่ทำไม่ได้ และคนที่มีความจำเป็น เช่น คนขับแท็กซี่ คนขันรถโดยสารสาธารณะ เขาอยากฉีด ทางแต่ละจังหวัดก็จะกำหนดพื้นที เช่น กทม. ประกาศจุดฉีดวัคซีน ซึ่งรายละเอียดจะเป็นที่แต่ละจังหวัดไปดำเนินการ และออกประกาศออกมา
“สำหรับการแบ่งสัดส่วนการฉีด เบื้องต้นจะใช้สูตร 30 : 50: 20 แต่สูตรพวกนี้สามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสม โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก็ปรับเปลี่ยนได้ ยกตัวอย่าง สมมติมี 1,000 โดส อาจเป็นตามนัดจากแอปพลิเคชัน 30% จากรพ. 50% และจาก Walk In อีก 20% เป็นต้น ในแต่ละจังหวัดอาจปรับไม่เหมือนกัน ซึ่งในมุมมองประชาชน อย่างหากอยู่กทม. ท่านรู้ว่ามีจุดไหนก็ไปจุดนั้น แต่หากใชแอปฯ ได้ก็สะดวกระบุถึงวันเวลา สถานที่ได้” นพ.โอภาส กล่าว
เมื่อถามว่ากรณี Walk In ต้องเป็นเฉพาะสถานพยาบาลหรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า ภาพรวมอยากให้มีทุกหน่วย แต่ ข้อจำกัดรพ. คือ กังวลเรื่องความแออัด อาจเกิดการแพร่ระบาดได้ ดังนั้น Walk In เหมาะสมกับพื้นที่โล่ง เช่น สถานีกลางบางซื่อ หรือจุฬาฯ ก็ไปเปิดจามจุรีสแควร์ เป็นต้น ซึ่งก็ต้องรอประกาศตามแต่ละจังหวัด เพราะคนรับผิดชอบการฉีด คือ คณะกรรมการโรคติดต่อตามจังหวัดนั้นๆ
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีกำหนดหรือไม่ว่า ต้องดำเนินการ Walk In แล้วเสร็จเมื่อไหร่ นพ.โอภาส กล่าวว่า เริ่มได้เลย หากจังหวัดไหนพร้อมก็เริ่มได้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนมากที่สุด ส่วนการติดตามอาการหลังการฉีดจะมีการบันทึกข้อมูลไว้ อย่างหากฉีดเสร็จแล้วให้โหลด “หมอพร้อม”ไว้ หรือหากใครไม่สะดวก ทางหน่วยบริการจะมีการคีย์ข้อมูลทุกอย่างให้เป็นเอกสารเช่นกัน เพราะเมื่อได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มจะมีใบรับรองการรับวัคซีนครบโดสให้
เมื่อถามกรณีพนักงานหรือโรงงานต้องรับบริการอย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า กรณีเป็นโรงงาน เช่น 1 พันคน จะเป็นกลุ่มคนจำนวนมาก หากต้องการฉีดพร้อมกันให้ติดต่อหน่วยบริการในพื้นที่เพื่อดำเนินการเรื่องนี้
เมื่อถามกรณีการฉีดเด็กออทิสติก กลุ่มคนพิเศษ นพ.โอภาส กล่าวว่า จะมีการดำเนินการโดยกรมสุขภาพจิต กับสถาบันราชานุกูล จะเชิญเด็กกลุ่มนี้กับครอบครัวมาฉีดพร้อมกัน รวมถึงกลุ่มคนด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้ติดเตียงก็จะมีเดลิเวอรี่ไปฉีดให้ถึงที่ ซึ่งจะเป็นลำดับถัดไป
ที่มา : https://www.hfocus.org/content/2021/05/21630?fbclid=IwAR3wMNS1QxqRi0G_SuaWJ-MaIDjb8pJTD609KSQGtMRQhPNZVhnLcHgFsyc