กสม. ชี้ “ประกันสังคม” จำกัดค่าทันตกรรม 900 บาท/ปี เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

วันนี้ (2 ก.พ. 67) นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เปิดเผยว่า กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อเดือน ม.ค. 66 จากผู้ร้องรายหนึ่ง ระบุว่า ผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคมใช้สิทธิเบิกค่ารักษาทันตกรรมที่จำเป็น ได้น้อยกว่าประชาชนทั่วไปในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง) และระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ ไม่ครอบคลุมชนิดของบริการและค่าใช้จ่ายที่จำเป็น ซึ่งแตกต่างจากผู้มีสิทธิในอีก 2 ระบบที่สามารถเบิกได้ตามความจำเป็น ทั้งที่ผู้ประกันตนเป็นกลุ่มเดียวที่กฎหมายกำหนดให้ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนทุกเดือน
.
กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติรับรองว่า บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพ และได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
.
การที่คณะกรรมการการแพทย์โดยความเห็นชอบของผู้ถูกร้อง ได้ประกาศกำหนดให้ผู้ประกันตนเบิกค่าบริการทันตกรรมรวมกันทุกรายการได้ไม่เกิน 900 บาทต่อคนต่อปี ในขณะที่สถานพยาบาลเอกชนและคลินิกทันตกรรมส่วนใหญ่กำหนดอัตราค่าบริการทันตกรรมขั้นพื้นฐานเกินกว่า 900 บาท ไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ประกันตนไม่สามารถเบิกได้ ส่งผลให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับบริการ ทันตกรรมได้เพียง 1 – 2 รายการ
.
และจำนวนหัตถการส่วนใหญ่มีค่าใช้จ่ายเต็มวงเงิน 900 บาท อาทิ
• ขูดหินปูน 900 – 1,800 บาท
• อุดฟัน 800 – 1,500 บาท
• ถอนฟัน 900 – 2,000 บาท
• ผ่าฟันคุด 2,500 – 4,500 บาท
.
ซึ่งถือว่าเป็นการกำหนดวงเงินที่ไม่เพียงพอต่อการรักษาทันตกรรมที่จำเป็นอย่างครบถ้วน ไม่สอดคล้องกับความมุ่งหมายเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์เรื่องการดูแลทันตสุขภาพของประชาชน
.
นอกจากนี้ สิทธิในการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนยังไม่ครอบคลุมการรักษาทันตกรรมอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อสุขภาพอีกหลายประเภท เช่น ค่าใช้จ่ายในการเอกซเรย์ ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าใช้จ่ายอันเกี่ยวเนื่องกับการป้องกันและรักษาสุขภาพช่องปากและฟันทั้งก่อนและหลังทำหัตถการ ซึ่งแตกต่างจากประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง และผู้มีสิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและบุคลากรภาครัฐที่สามารถเบิกค่าบริการทางการแพทย์ในกรณีดังกล่าวได้
.
กสม. เห็นว่า เป็นการละเมิดสิทธิในสุขภาพของผู้ประกันตน ในการได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพและประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง จึงถือได้ว่าผู้ถูกร้องกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อผู้ประกันตน
.
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. จึงมีข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไปยังคณะกรรมการประกันสังคม (ผู้ถูกร้อง) และคณะกรรมการการแพทย์ ให้ปรับปรุงแก้ไขประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 โดยยกเลิกการกำหนดเพดานค่าบริการทันตกรรมขั้นพื้นฐานในวงเงินไม่เกิน 900 บาท ต่อคนต่อปี และกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านบริการทันตกรรมให้ไม่ต่ำกว่าสิทธิบัตรทอง
.
📌 ติดตามข่าวรอบวัน ได้ที่ https://www.thaipbs.or.th/news #ThaiPBS #กสม #ประกันสังคม
ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค