มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้อง กรมการท่องเที่ยว เร่งแก้กฎหมาย การกำกับดูแลธุรกิจท่องเที่ยว

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เรียกร้อง กรมการท่องเที่ยว เร่งแก้กฎหมาย การกำกับดูแลธุรกิจท่องเที่ยว ที่อาจสร้างผลกระทบต่อผู้บริโภค เพื่อป้องกันเหตุซ้ำรอยเหมือนคดี บริษัท อี แอล ซี

จากคดี บริษัททัวร์ อีแอลซี กรุ๊ป จํากัด มี นายภัทริคณ์ เรตะกุล เป็นผู้บริหาร ได้ชักจูงขายแพ็กเกจทัวร์ราคาถูก เพื่อเดินทางไปท่องเที่ยวยุโรป โดยใช้วิธีการแสนแยบยล เพราะทำเป็นลักษณะ “ทัวร์กลุ่มปิด” ต้องซื้อตั๋วผ่าน 6 ช่องทาง ได้แก่ เพจเว็บไซต์ elctour. com , เพจเฟซบุ๊ก “ ELC TOUR” , Patrick Rathakut” , “ อีแอลซีทัวร์” , “ Pat Rathakut” , และ “ Pat Rathakul” โดยผู้สนใจซื้อแพ็กเกจทัวร์ ต้องขอ เป็นเพื่อนกับผู้ใช้งานบัญชี Facebook ข้างต้น เมื่อรับเป็นเพื่อน จะเห็น แบนเนอร์โฆษณาขายแพ็กเกจทัวร์ต่าง ๆ จากนั้น ผู้เสียหายได้ทําการจองและสั่งซื้อแพ็กเกจทัวร์ โดยโอนเงินเพื่อชําระเงินค่าแพ็กเกจทัวร์เข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร

นอกจากนี้ บริษัท อีแอลซีฯ ยังใช้วิธีสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการจัดโปรแกรมนำเที่ยวในราคาถูกให้กับกลุ่มสมาชิกที่มีความน่าเชื่อถือในสังคม เช่น กลุ่มแพทย์ หรือ กลุ่มข้าราชการ เพื่อจัดรายการนำเที่ยวตามโปรแกรม เช่น เก็บค่าทัวร์ไปรัสเซีย แค่ 35,000 บาท ซึ่งเป็นราคารวมค่าใช้จ่ายเบ็ดเสร็จทุกอย่างรวมถึง วีซา ทั้งสิ้น 7 วัน เมื่อผู้เสียหายชุดแรกได้เดินทางตามที่ตกลง ทำให้เชื่อว่า แพคเกจทัวร์ราคาถูกแบบนี้ ทำได้จริง จึงเกิดการชักชวน เพื่อนกลุ่มต่อไป ทำให้มีผู้หลงเชื่อจำนวนมาก แต่หลังจากนั้น บริษัททัวร์ อี แอล ซี ได้เรียกเก็บเงินเพิ่ม หากไม่ยอมชำระ กลับถูกขู่ตัดสิทธิ์ หรือ เลื่อนโปรแกรมทัวร์แบบไม่มีกำหนด ที่สำคัญ ยังไม่สามารถจัดโปรแกรมทัวร์ตามที่กล่าวอ้าง แถม ประกาศยกเลิกทัวร์ผ่านเฟซบุ๊กในกลุ่มปิดและไม่ยอมคืนเงินให้ผู้บริโภคที่ซื้อแพคเกจทัวร์ล่วงหน้า โดยใช้ข้ออ้างว่า “ขาดสภาพคล่อง” และไม่กำหนดเงื่อนเวลาที่ชัดเจนเพื่อคืนเงินให้ผู้ที่ซื้อแพคเกจทัวร์ รวมเบ็ดเสร็จจากการหลอกชักชวนสมัครซื้อโปรแกรมท่องเที่ยวต่างประเทศล่วงหน้า ตั้งแต่ 2559 -2561 มีผู้ตกเป็นเหยื่อกว่า 1 พันคน มูลค่าความเสียหายกว่า 60 ล้านบาท ซึ่งผู้เสียหายบางส่วนได้ไปฟ้อง คดีทางแพ่ง และ คดีอาญา ตอนนั้น นายภัทริคณ์ ถูกจับกุม และ อัยการ ยื่นฟ้องต่อศาล

กระบวนการใช้เวลายาวนาน จนกระทั่ง วันที่ 30 มกราคม 2566 ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษา ยกฟ้อง คดีอาญา แต่ออกคำสั่งให้ นายภัทริคณ์ ในฐานะผู้บริหาร บริษัท อีแอลซี ต้องชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายทุกคนในทางแพ่ง พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 5 นับจาก วันที่ “ผิดนัดชำระ “ อย่างไรก็ตาม มีบางกลุ่มฟ้องคดีแพ่ง ไปก่อนหน้า และชนะคดี แต่ยังไม่ได้เงิน และ มีผู้เสียหายอีกหลายกลุ่ม ที่ฟ้องคดีอาญา แต่ยังไม่ได้ตัดสินจากศาลเช่นกัน

วันนี้ ( 1 กุมภาพันธ์ 2566 ) นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ว่า กรณี บริษัททัวร์ อี แอล ซี ได้สร้างความเสียหายให้ผู้บริโภค จำนวนมาก และ อาจมีบริษัททัวร์แบบนี้ที่กระทำการเลียนแบบ ดังนั้น สิ่งที่เป็นประเด็นน่าเป็นห่วง นั่นคือ การที่ไม่สามารถรู้ได้ถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ประกอบการให้กับผู้บริโภคที่ตกเป็นผู้เสียหาย ซึ่งเรื่องของ อี แอล ซี ยังไปไม่ถึงชั้นศาลฏีกา เพราะนับจากปี 2562 – 2566 ผู้เสียหาย ยังไม่ได้รับเงินคืน และ ยัง ไม่ได้รับการเยียวยา หรือ แก้ไขปัญหาใดๆ จาก ผู้ประกอบธุรกิจ นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า การดำเนินธุรกิจแบบนี้ เป็นตัวการสร้างความเสียหายต่อผู้บริโภค และอีกประเด็น เมื่อเรื่องไปถึงระดับนโยบาย ของหน่วยงานที่กำกับดูแล กลับทำได้เพียงแค่ออกกฏหมายป้องกัน แต่กระบวนการตรวจสอบ กลับยังไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง จึงเกิดการสร้างผลกระทบต่อไปไม่สิ้นสุด

ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์จากบริษัททัวร์ อี แอล ซี หลอกลวง ได้มีผู้เสียหายจำนวนมาก มาขอความช่วยเหลือ ทาง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงทำหนังสือหนังสือร้องเรียน ไปยัง กรมการท่องเที่ยว เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2562 เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนกฎหมาย และ หลักเกณฑ์การอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว ใน 5 ประเด็น ได้แก่

1.ขอให้กรมการท่องเที่ยวมีนโยบายและมาตรการคุ้มครองนักท่องเที่ยวที่ซื้อโปรแกรมหรือใช้บริการธุรกิจนำเที่ยวให้ได้รับการคุ้มครอง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับการเยียวยากรณีได้รับความเสียหายจากผู้ประกอบธุรกิจทันที มิต้องรอให้มีการสั่งพักหรือเพิกถอนใบอนุญาต หรือต้องไปดำเนินการร้องเรียนต่อหน่วยงานอื่น หรือต้องฟ้องคดีเอง

2.ขอให้เพิ่มหลักเกณฑ์ในการขอใบอนุญาตที่ต้องมีรายละเอียดการประกอบธุรกิจนำเที่ยวและดำเนินการจัดนำเที่ยวประกอบในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว เช่น การจัดโปรแกรมทัวร์การท่องเที่ยว การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ช่องทางการติดต่อของบริษัท เป็นต้น และขอเสนอให้มีการตรวจสอบวิธีการดำเนินว่าเป็นไปตามที่ขออนุญาตหรือไม่ มีข้อร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวและแก้ไขปัญหาหรือไม่ และเสนอให้เป็นมาตรการในการต่อใบอนุญาตการประกอบธุรกิจด้วย

3.ขอให้มีการเพิ่มหลักเกณฑ์การวางเงินหลักประกันโดยพิจารณาจาก ข้อ 2 เพราะการจัดนำเที่ยวเป็นธุรกิจที่มีการเรียกเก็บเงินล่วงหน้า ซึ่งจากปัญหาที่พบจากบริษัท อี แอล ซี กรุ๊ป จำกัด คือ การนำเงินหลักประกันมาชดเชยเยียวยาผู้เสียหายไม่เพียงพอ ทำให้ผู้เสียหายบางรายไม่ได้รับการเยียวยา หากกำหนดให้ใช้หลักประกันเพื่อเยียวยาความเสียหาย ขอเสนอให้ มีการเรียกเก็บเงินสบทบผู้ประกอบธุรกิจเพิ่ม

4.ขอให้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของกรมการท่องเที่ยวออกสู่สาธารณะ กรณี เรื่องร้องเรียนธุรกิจท่องเที่ยว ผู้นำเที่ยว มัคคุเทศก์ และการถูกพักใบอนุญาตและถูกเพิกถอนใบอนุญาตทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจ เป็นข้อมูลก่อนมีการตัดสินใจซื้อ และขอให้มีระบบการตรวจสอบข้อมูลที่เข้าถึงและอ่านง่าย

5.ขอให้มีภาคประชาชนผู้เสียหายหรือองค์กรผู้บริโภคเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกกฎ ระเบียบ และหลักเกณฑ์มาตรฐานการประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ของมัคคุเทศก์และผู้นำเที่ยว เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำแบบเดิม

อย่างไรก็ตาม จากประเด็นเรียกร้องทั้ง 5 ข้อ ยังไม่เห็นมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น เพื่อป้องกันธุรกิจทัวร์ที่อาจเปิดบริษัทเพียงเพื่อหวังผลหลอกลวง ทาง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงขอเรียกร้องให้ กรมการท่องเที่ยว ตรวจสอบให้ทั่วถึงไปยังธุรกิจที่อาจดำเนินการคล้ายกับ บริษัททัวร์ อีแอลซี เพื่อป้องกันการสร้างผลกระทบในอนาคต ที่สำคัญ ควรออกออกข้อกำหนด บังคับให้ บริษัททัวร์ ที่ทำการยกเลิกทัวร์ โดยมิได้เกิดจากเหตุสุดวิสัย จะต้องคืนเงินเต็มจำนวน 100 เปอร์เซ็นต์ ให้กับ ผู้บริโภค , รวมถึง กำหนดหลักเกณฑ์การให้ใบอนุญาตหรือการต่อใบอนุญาตที่ชัดเจน และ ห้ามขายแพคเกจทัวร์ล่วงหน้าเกิน 1 ปี , ที่สำคัญอย่างยิ่ง ขอเสนอให้ จัดตั้ง “ กองทุนชดเชย-เยียวยาผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบจากผู้ประกอบการที่ไม่สุจริต เพราะถึงแม้ กรมการท่องเที่ยว เก็บค่าธรรมเนียมการขออนุญาตเปิดบริษัททัวร์ แต่กลับเก็บเงินเข้า “กองทุนคุ้มครองผู้บริโภค “ เพียงแค่ 2 แสนบาท เพียงครั้งเดียว ตลอดชีพ ทั้งที่ บางบริษัท มีผลประกอบการต่อปี นับพันล้านบาท ดังนั้น จึงเสนอแก้ไขกฎหมาย “เก็บค่าธรรมเนียมการขออนุญาตเปิดบริษัททัวร์ เงินเข้า “กองทุนคุ้มครองผู้บริโภค “ โดยคิดจากผลกำไรของทุกปี เพื่อให้เพียงพอเยียวยาผู้เสียหายจากการซื้อแพคเกจทัวร์ที่ไม่เป็นไปตามข้อตกลง หรือ แม้แต่บริษัทเกิดล้มละลายไปก่อน

แม้เวลานี้ กรมการท่องเที่ยว ได้เปิดเว็บไซต์ให้ผู้บริโภค สามารถตรวจสอบข้อมูลสถานะการมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว ก่อนเลือกซื้อทัวร์ เว็บไซต์กรมการท่องเที่ยว http://103.80.100.92:8087/mobiletourguide/info/main?fbclid=IwAR30eALLrcjAkJVih7Co1vYQvm04BQYZwWMV3kXxXOjY6HqNLRRVkq2-7xM แต่การเข้าถึงของผู้บริโภค เป็นไปอย่างลำบาก ดังนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงขอเสนอให้ กรมการท่องเที่ยว ข้อกฏบังคับให้ ธุรกิจท่องเที่ยวทุกบริษัท ต้องจัดทำเว็บไซต์ เพื่อให้ผู้ซื้อแพคเกจทัวร์สามารถตรวจสอบได้โดยสะดวก

ส่วนผู้บริโภค หากประสบเหตุใดๆก็ตามเกี่ยวกับเหตุขัดข้องที่กระทบต่อการเดินทางหลังซื้อแพคเกจทัวร์ มีสิทธิยกเลิกทัวร์ที่จองไว้ได้ ตามประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการกำหนดอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. 2563 อ่านเรื่องนี้ได้จาก เว็บไซต์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค https://www.consumerthai.org/consumers-news/product-and-other/4705-ffc-tour-140465.html

สอบถามรายละเอียดหรือต้องการร้องเรียน ติดต่อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร 10400 โทรศัพท์ 02 248 3737, https://ffcthailand.org/complaint, Line ID: @Consumerthai หรือ complaint@consumerthai.org

ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค