สภาองค์กรของผู้บริโภค ชวน ศธ.– คมนาคม เร่งจัดการปัญหารถรับส่งนักเรียนไม่ปลอดภัย แก้ปัญหานักเรียนเจ็บตายบนท้องถนน

จากกรณีอุบัติเหตุรถตู้รับส่งนักเรียนโรงเรียนหอวัง ปทุมธานี เสียหลักตกคลองบริเวณหน้าหมู่บ้านวิลล่าบารานี ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2565 ทำให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่โดยสารบนรถตู้ได้รับบาดเจ็บ กว่า 12 คนนั้น

คงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า เมื่อโรงเรียนเริ่มเปิดการเรียนการสอนตามปกติแล้ว สถานการณ์อุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียน หรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับรถรับส่งนักเรียนก็มีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

“จากข้อมูลการเฝ้าระวังสถานการณ์รถรับส่งนักเรียนไม่ปลอดภัย โดยเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค และ สอบ.พบว่า ช่วงเวลา 2 เดือน คือ พฤษภาคม – มิถุนายน 2565 ที่โรงเรียนเปิดการเรียนการสอนตามปกติ เกิดอุบัติเหตุรถรับส่งนักเรียนมากถึง 6 ครั้ง มีนักเรียนบาดเจ็บทั้งทางร่างกายและจิตใจมากถึง 65 คน โดยอุบัติเหตุเกือบทั้งหมดมีสาเหตุจากความประมาทของผู้ขับรถรับส่งนักเรียน ร่างกายที่ไม่พร้อม และสภาพรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ปลอดภัย ไม่มั่นคงแข็งแรง โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่จังหวัดปทุมธานี พบว่ามีสาเหตุจากการขับรถโดยประมาท วูบหลับใน เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตราย หากไม่มีการช่วยเหลือที่ทันท่วงทีก็อาจเป็นเหตุให้เกิดโศกนาฏกรรมที่ยากต่อการชดเชยเยียวยาได้” คงศักดิ์ กล่าว

ผู้ช่วยเลขานุการคณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ กล่าวอีกว่า ปัญหาการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่ผ่านมารัฐมุ่งแต่ออกกฎระเบียบให้ทำตาม แต่ขาดขั้นตอนการติดตามประเมินผล อีกทั้งรัฐยังไม่มีข้อมูลตัวเลขจำนวนรถรับส่งนักเรียนที่แท้จริง นอกจากนี้บุคลากรที่เกี่ยวข้อง เช่น ครู ผู้ปกครอง นักเรียน หรือคนขับรถรับส่งนักเรียนยังขาดความเข้าใจองค์ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียน สะท้อนถึงปัญหาที่เกิดจากระบบการจัดการและการกำกับที่ขาดประสิทธิภาพ รวมถึงนโยบายการศึกษาที่ยุบโรงเรียนขนาดเล็ก ทำให้นักเรียนต้องเดินทางไกลขึ้น ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งเสริมความเสี่ยงของนักเรียนจากการเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ปลอดภัย

“จากปัญหาความไม่ปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนที่เกิดขึ้น สอบ.เห็นถึงความสำคัญและมีเป้าหมายที่จะชักชวนภาคีเครือข่าย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน แผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และหน่วยงานกำกับดูแล เช่น กระทรวงคมนาคม และกระทรวงศึกษาธิการ มาร่วมกันพัฒนาข้อเสนอนโยบายด้านการจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย เพื่อให้เกิดระบบการจัดการรถรับส่งนักเรียนที่เป็นมาตรฐาน และส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางของนักเรียน เพราะระบบการศึกษาไม่ใช่แค่เพียงหมายถึง การสอน หรือการเรียนเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการเดินทางไปโรงเรียนที่ปลอดภัยด้วย” คงศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ สอบ.มีข้อเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงคมนาคม ในฐานะหน่วยงานที่กำกับมาตรฐานความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนให้ต้องทบทวนมาตรการกำกับความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียน ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ดังนี้

  1. สนับสนุนการจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยให้กับโรงเรียนหรือสถานศึกษาด้วยการนำระบบการจัดการรถรับส่งนักเรียน 9 ด้านจากการทำงานของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ร่วมเป็นองค์ประกอบและแนวทางปฏิบัติให้กับโรงเรียนหรือสถานศึกษา
  2. กำหนดบทบาทหน้าที่ให้โรงเรียนเป็นจุดจัดการระบบรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ให้งานความปลอดภัยในการเดินทางของนักเรียนเป็นแผนหลักของโรงเรียน พร้อมทั้งแนวทางติดตามประเมินผลการปฏิบัติการในทุกภาคการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของนักเรียนที่ต้องเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียน
  3. ปรับปรุงระเบียบหรือข้อกฎหมาย หรือแนวทางปฏิบัติของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงคมนาคมให้มีความสอดคล้องสามารถปฏิบัติร่วมกันได้ รวมถึงบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นเพิ่มเติม เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
  4. สนับสนุนกลไกการจัดการและมาตรการเพิ่มแรงจูงใจในการจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยให้กับผู้บริหารโรงเรียน และควรกำหนดเป็นเกณฑ์ประเมินของผู้บริหารโรงเรียนในการจัดการความปลอดภัยของนักเรียน ตลอดจนการจัดการรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย
  5. สนับสนุนให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัดมีแผนยุทธศาสตร์หรือคณะทำงานด้านความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนในทุกจังหวัด โดยให้กำหนดโครงสร้างที่เน้นการมีส่วนร่วมของคนทำงาน ที่ประกอบด้วย ผู้แทนจาก สอบ. หน่วยงานท้องถิ่น และนักวิชาการ เป็นต้น
ปรึกษาปัญหาผู้บริโภค