นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า จากกรณีที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 ก.ย. 2566 มีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าที่ประกาศเรียกเก็บกับผู้ใช้ไฟฟ้ารอบเดือนก.ย. – ธ.ค. 2566 ในอัตรา 4.45 บาทต่อหน่วย ลงเหลือในอัตรา 3.99 บาทต่อหน่วย โดยให้กระทรวงพลังงาน และ กกพ. พร้อมรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาดำเนินการในส่วน ที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้อง รอบคอบ เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องแล้วนั้น

ล่าสุด ในการประชุม กกพ. วันที่ 5 ต.ค. 2566 มีมติเห็นชอบค่าไฟฟ้าผันแปร (เอฟที) เรียกเก็บในงวดเดือนก.ย. – ธ.ค. 2566 ตามที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเสนอมาในอัตรา 20.48 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ตามมติ ครม.

ทั้งนี้ สำนักงาน กกพ. จะส่งหนังสือแจ้งการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย คือ กฟผ., การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อประกาศค่าเอฟทีค่าใหม่ในรอบเดือนก.ย. -ธ.ค. 2566 ดังนั้น ผู้ใช้ไฟฟ้าที่จ่ายค่าไฟฟ้าที่ได้เรียกเก็บค่าไฟของเดือนก.ย. 2566 ไปแล้ว จะได้รับการหักส่วนลดค่าไฟฟ้าดังกล่าวในรอบบิลเดือนต.ค. 2566

รายงานข่าวระบุว่า ในการประชุม กกพ. เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2566 สำนักงาน กกพ. ได้กฟผ. และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มาชี้แจงและกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย และต้องเป็นการดำเนินการอย่างเร่งด่วนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ดังนั้น การกำหนดอัตราเรียกเก็บค่าไฟฟ้าตามมติกกพ. เดิมที่หน่วยละ 4.45 บาทนั้น เป็นการคำนวณที่สะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 มาตรา 65 และประกาศ กกพ. เรื่องกระบวนการ ขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ พ.ศ.2565

แต่เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายปรับลดเรียกเก็บค่าไฟฟ้าหน่วยละ 3.99 บาท เป็นผลให้เกิดส่วนต่างหน่วยละ 46 สตางค์ ซึ่ง กฟผ. เสนอมาในอัตรา 20.48 สตางค์ต่อหน่วย ดังนั้น ปตท. ในฐานะรัฐวิสาหกิจ จึงต้องร่วมรับภารประมาณ 25.52 สตางค์ต่อหน่วย ไปก่อนจนกว่าสถานการณ์พลังงานผ่อนคลายจึงเรียกเก็บคืนค่าไฟฟ้าคงค้างจากผู้ใช้ไฟฟ้าภายหลัง

ดังนั้น การปฏิบัติตามมติ ครม. ซึ่งเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงพลังงาน ที่กำหนดให้ ปตท. ปรับลดค่าก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บจากกิจการผลิตไฟฟ้าซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ 323.37 บาทต่อล้านบีทียู เป็น ไม่เกิน 304.79 บาทต่อล้านบีทียู ในส่วนของ กฟผ. ซึ่งแบกภาระค่าไฟฟ้าคงค้าง (Accumulated Factor: AF) ก่อนหน้านี้รวมประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท และอยู่ระหว่างการเรียกเก็บคืนเงินคงค้าง ซึ่งอยู่ในค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2566 หน่วยละ 38.31 สตางค์ ทั้งนี้ เมื่อ ครม. มีมติให้ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าเหลือเพียงหน่วยละ 3.99 บาท กฟผ. จึงสามารถเรียกเก็บคืนเงินคงค้างดังกล่าวที่ประมาณ 7.69 สตางค์ต่อหน่วย หรือประมาณ 4,500 ล้านบาท จากเดิมที่ควรจะได้งวดละกว่า 2 หมื่นล้านบาท